รวมบทความ ลักษณะความผิด

การเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยการถือวิสาสะหรือเอาไปเพียงชั่วคราวจะเป็นความผิดหรือไม่



การเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์นั้น ต้องเป็นการเอาไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์โดยเด็ดขาด หากเอาไปเพียงชั่วคราวหรือเป็นการถือวิสาสะ ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เช่น
การเอารถของผู้อื่นเพื่อใช้ขับขี่หลบหนีไปเท่านั้น เป็นการเอาไปเพียงชั่วคราว ไม่ผิดฐานลักทรัพย์ ดูฎีกาที่ 1915/2543

ฎีกาที่ 1915/2543 จำเลยทั้งสองว่าจ้างให้ผู้เสียหายขับขี่รถจักรยานยนต์ไปส่ง ระหว่างทางมีการบังคับให้ผู้เสียหายเข้าไปในกระท่อม แต่ผู้เสียหายไม่ยอม จำเลยที่ ๒ เอามือรัดคอผู้เสียหายและดึงเอากุญแจรถให้กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งนั่งคร่อมรถอยู่ เมื่อมีคนผ่านมาจำเลยทั้งสองก็เอารถจักยานยนต์ไปโดยบอกผู้เสียหายว่าให้ไปเอาคืนที่โรงเรียน แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองเพียงต้องการนำรถจักยานยนต์ไปใช้เพียงชั่วคราวโดยตั้งใจจะคืนให้ภายหลัง ไม่ได้กระทำเพื่อตัดกรรมสิทธิ์ตลอดไป จึงไม่ใช่เป็นการกระทำที่ถือว่าเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยทั้งสองก็ไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ด้วย
เอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยวิสาสะในความเป็นญาติ ไม่มีเจตนาทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

ฎีกาที่ 3894/2531 จำเลย และ ป. ผู้เสียหาย เป็นพี่น้องกัน จำเลยมาขอยืมรถจักรยานยนต์จาก ป. แต่ ป. ไม่ให้ จำเลยแสดงกิริยาเอะอะโวยวาย แล้วต่อมาก็ได้มาเอารถจักรยานยนต์ดังกล่าวไป แล้วขับขี่พาเพื่อนไปรับประทานอาหาร การกระทำของจำเลยในการเอารถจักรยานยนต์ไป เป็นเพียงการถือวิสาสะฉันพี่น้อง และเมื่อเอาไปแล้วก็มิได้พาหลบหนีแต่อย่างใด จำเลยจึงขาดเจตนาทุจริต ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์


การเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไว้เพื่อป้องกันมิให้ผู้เสียหายหลบหนี เป็นการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ หรือไม่

การเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไว้เพื่อป้องกันมิให้ผู้เสียหายหลบหนี ไม่มีเจตนาเอาทรัพย์เป็นของตน ไม่เป็นการลักทรัพย์ เมื่อไม่เป็นการลักทรัพย์ จึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์

ฎีกาที่ 430/2532 จำเลยถอดเอาแหวนและตุ้มหูของผู้เสียหาย โดยจำเลยบอกกับผู้เสียหายว่าถ้าผู้เสียหายมีแหวนและตุ้มหูติดตัวอาจมีเงินหลบหนีได้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาเพียงที่จะป้องกันมิให้ผู้เสียหายหลบหนี หามีเจตนาทุจริตที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายเป็นประโยชน์ส่วนตัวไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ 


เอาป้ายราคาสินค้าที่มีราคาสูงกว่าออก แล้วเอาป้ายราคาสินค้าที่คล้ายกันที่มีราคาถูกกว่ามาติดแทน



เอาป้ายราคาสินค้าที่มีราคาสูงกว่าออก แล้วเอาป้ายราคาสินค้าที่คล้ายกันที่มีราคาถูกกว่ามาติดแทน เพื่อจะซื้อสินค้านั้นในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เป็นความผิดฐานใด
การที่จำเลยเอาป้ายราคาสินค้าที่มีราคาสูงกว่าออก แล้วเอาป้ายราคาสินค้าที่ราคาถูกกว่าไปติดแทน เพื่อจะซื้อสินค้านั้นในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ถือว่าผู้ขายยินยอมมอบสินค้าให้จำเลยเพราะถูกหลอกลวง เป็นความผิดฐานฉ้อโกง


ฎีกาที่ 6892/2542 ( ประชุมใหญ่ ) การกระทำที่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการ โดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้ไปเนื่องจากถูกหลอกลวง การที่จำเลยเปลี่ยนเอาป้ายราคาโคมไฟฟ้าตั้งโต๊ะของกลางซึ่งติดราคาไว้ ๑,๗๘๕ บาท ออก แล้วนำป้ายราคาโคมไฟฟ้าอื่นซึ่งติดราคา ๑๓๔ บาทมาติดแทน แล้วมอบให้พวกของจำเลยนำไปชำระราคาแก่พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหาย จึงมิใช่เอาโคมไฟตั้งโต๊ะไปโดยพลการ โดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หากเป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายโดยทุจริต โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ราคาโคมไฟตั้งโต๊ะมีราคา ๑๓๔ บาท พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายหลงเชื่อยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลย โดยรับเงินจากจำเลยเพียง ๑๓๔ บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์
แต่ถ้าเป็นกรณีที่จำเลยเอาทรัพย์ที่ต้องการลักใส่ลงในกล่องพัดลมหลายรายการ ทำให้ผู้เสียหายเข้าใจว่าทรัพย์ที่ขายและส่งมอบให้จำเลยเป็นพัดลม และนำผ่านเครื่องเก็บเงินของผู้เสียหาย และชำระราคาสินค้าเท่าราคาค่าพัดลม ซึ่งมีราคาน้อยกว่าราคาสินค้าในกล่องกระดาษ การกระทำดังกล่าวเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย เพราะผู้เสียหายไม่มีเจตนาส่งมอบทรัพย์ที่ลักให้จำเลย จำเลยได้ลักเอาไปโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม เป็นการเอาไปโดยพลการ จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์


ฎีกาที่ 85/2542 จำเลยทั้งสองร่วมกันเอาทรัพย์หลายรายการใส่ในกล่องกระดาษใส่พัดลม และนำผ่านเครื่องเก็บเงินของผู้เสียหาย และชำระค่าสินค้าเท่ากับราคาค่าพัดลม ซึ่งมีราคาน้อยกว่าสินค้าภายในกล่องกระดาษ เป็นการลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย


การที่จ่ายเงินให้ผู้ขาย แต่ผู้ขาย ไม่ยอมทอนเงินให้ เป็นความผิดหรือไม่



การจ่ายเงินให้ผู้ขายหรือผู้ให้บริการ แต่ผู้ขายหรือผู้ให้บริการไม่ยอมทอนเงินให้ โดยทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะผู้เสียหายได้ส่งมอบเงินให้ไปแล้ว


ฎีกาที่ 3629/2538 ผู้เสียหายส่งธนบัตรฉบับละ ๑๐๐ บาท ให้แก่จำเลยเพื่อชำระค่าโดยสารเป็นเงิน ๕ บาท ถือว่าผู้เสียหายมอบการครอบครองธนบัตรดังกล่าวให้แก่จำเลย การที่จำเลยไม่ได้ทอนเงินให้ทันทีหรือแม้ไม่มีเจตนาจะทอนเงินให้ โดยจะเอาเงิน ที่เหลือจำนวน ๙๕ บาท เป็นประโยชน์ของตนโดยทุจริตก็ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะเจตนาทุจริตเกิดขึ้นมาภายหลังที่ธนบัตรอยู่ในความครอบครองของจำเลยแล้ว


ลักษณะการกระทำอย่างไร เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์



ลักษณะการกระทำอย่างไร เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ สรุปได้ดังนี้
1. ทรัพย์ที่ถูกทำให้เสียหาย จะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้
2. การทำให้เสียทรัพย์โดยวิธีทำให้เกิดเพลิงไหม้นั้น ย่อมเป็นความผิดฐานวางเพลิงด้วย
3. ผู้กระทำต้องมีเจตนา โดยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำด้วย
4. ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ไม่ต้องคำนึงว่าทรัพย์นั้นจะอยู่ในความครอบครองของผู้ใด
5. จะเป็นที่สาธารณะหรือที่พิพาทอยู่ก็ตาม ถ้าฝ่ายหนึ่งได้เพาะปลูกพืชพันธุ์ไว้ อีกฝ่ายหนึ่งเข้าไปทำให้เสียหาย เพื่อแย่งการครอบครอง ผู้ที่ทำให้เกิดการเสียหายมีผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่ไม่ผิดฐานบุกรุก
6. ทรัพย์นั้นต้องเป็นของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และผู้กระทำต้องรู้ว่าเป็นทรัพย์ของผู้อื่น ถ้าผู้กระทำไม่รู้ หรือโดยสำคัญผิดว่าเป็นทรัพย์ของตนหรือเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
7. การอนุญาตให้ตัดกิ่งไม้รุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินของตนได้ แต่ต้องบอกกล่าวเจ้าของก่อนนั้น ( ตาม ป.พ.พ. ) เพียงที่ไม่ได้บอกกล่าวและได้ตัดไปเสียก่อนนั้น จะเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ ต้องดูเจตนาของผู้กระทำด้วย เพียงที่ไม่ได้ปฏิบัติการให้ครบถ้วนตามเงื่อนไงในกฎหมาย ยังไม่เป็นเจตนาทำผิดทางอาญา
8. การได้ทรัพย์มาโดยการกระทำผิดอย่างอื่น เช่น ลักทรัพย์มาแล้วทำลายทรัพย์นั้น ไม่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อีก
9. ผู้เสียหายนั้นไม่จำต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกทำให้เสียหาย บุคคลที่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ ก็เป็นผู้เสียหายได้ หากได้รับความเสียหายเกี่ยวกับสิทธิครอบครอง
10. การปลูกต้นไม้ยืนต้นลงในที่ดินซึ่งเช่าผู้อื่นอยู่ ย่อมตกเป็นส่วนควบกับที่ดินนั้น เจ้าของที่ดินตัดฟันต้นไม้ทำให้เสียหาย ไม่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ถ้าผู้ปลูกตัดฟันเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่ปลูกไม้ล้มลุก ไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้เช่าซึ่งปลูกไว้มีสิทธิเอาไปหรือทำลายเสียได้ ไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่เจ้าของที่ดินทำลายเป็นความผิดทำให้เสียทรัพย์


ลักษณะการกระทำอย่างไร เป็นความผิดฐานรับของโจร



ลักษณะการกระทำอย่างไร เป็นความผิดฐานรับของโจร พอสรุปได้ดังนี้
1. ความผิดฐานรับของโจร การรับทรัพย์ไว้จะต้องกระทำภายหลังที่ได้กระทำอันเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์นั้นมาสำเร็จแล้ว มิฉะนั้นอาจเป็นการร่วมกันหรือสนับสนุนในความผิดนั้น
2. ทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดนั้น ต้องเป็นทรัพย์ที่ได้กระทำผิดโดยตรง โดยตัวทรัพย์นั้นยังไม่ถูกแปรสภาพ ถ้าตัวทรัพย์นั้นถูกแปรสภาพเสียแล้วหรือรับเงินที่ได้จากการจำหน่ายของอันได้มาโดยการกระทำผิด ผู้ที่รับไว้ย่อมไม่มีความผิดฐานรับของโจร แม้จะรู้ก็ตาม
3. ทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดนั้น ต้องเป็นการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยตรง ไม่ใช่เพราะไม่ได้รับอนุญาตและเฉพาะความผิด 8 อย่างนั้นเท่านั้น
4. ความผิดฐานรับของโจร ผู้ที่กระทำความผิดอันเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์นั้นมา เช่นผู้ทำการลักทรัพย์ แม้ภายหลังจะรับทรัพย์ที่ถูกลักมานั้นไว้อีก ก็ไม่ผิดฐานรับของโจร
5. ความผิดรับของโจร อาจมีการส่งมอบทรัพย์ นั้นต่อไปหลายๆคนก็ได้ ถ้าผู้รับไว้รู้ว่าเป็นของที่ได้มาโดยการกระทำผิดดังกล่าวก็ผิดฐานรับของโจร
6. ความผิดรับของโจร ผู้กระทำต้องรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิดกฎหมายในขณะที่รับทรัพย์นั้นไว้ ถ้ารู้ภายหลังจากที่ได้รับของไว้แล้วไม่ผิด แต่ไม่จำเป็นต้องถึงกับต้องรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิดกฏหมายใด มาตราใด
7. เจตนาเป็นเรื่องภายในของผู้กระทำ จึงต้องถือหลักกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา คือต้องดูการกระทำของผู้รับของโจรและข้อเท็จจริงอื่นประกอบ เช่น ให้การไม่อยู่กับร่องกับรอยกลับไปกลับมา ซุกซ่อนปกปิดทรัพย์ แสดงกิริยาพิรุธวิ่งหนี รับซื้อไว้ในเวลากลางคืน ซื้อโดยราคาถูกกว่าปกติมาก ซื้อจากเด็กหรือคนขอทานหรือบุคคลที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะขายของชนิดนั้นๆให้ได้ เป็นต้น ส่วนการซื้อขายโดยเปิดเผยหรือมีหนังสือสัญญาเป็นหลักฐานหรือนำออกมาใช้โดยเปิดเผย แสดงว่าผู้รับไว้ไม่ทราบว่าทรัพย์นั้นเป็นของคนร้าย ไม่ผิดฐานรับของโจร
8. ความผิดฐานรับของโจร ต้องนำสืบให้ได้ความว่า
- ทรัพย์นั้นได้ถูกเอาไปโดยการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดใน 8 อย่างนั้น
- ของกลางที่จับได้จากจำเลยนั้น เป็นของเจ้าของทรัพย์ที่ได้ไปตามข้อ แรก
- โดยจำเลยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิด



ลักษณะการกระทำอย่างไร เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์



ลักษณะการกระทำอย่างไร เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ พอสรุปได้ดังนี้
1. การครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยนั้น หมายถึงการครอบครองทรัพย์ตามความเป็นจริง ส่วนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ยังเป็นของผู้อื่นอยู่ เป็นการครอบครองไว้แทนเจ้าของทรัพย์เท่านั้น ไม่ใช่ครอบครองเพื่อเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง
2. จะต้องได้การครอบครองทรัพย์มาอย่างแท้จริง ไม่ใช่ได้มาแต่เพียงการยึดถือ เช่น ให้ดูแลไว้เพียงชั่วคราว ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองทรัพย์นั้นอย่างแท้จริง ถ้าเบียดบังเอาไปเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ยักยอก
3. การครอบครองทรัพย์อาจได้มาโดยตรง คือเจ้าทรัพย์ส่งมอบให้หรือโดยปริยายก็ได้
4. การได้มาซึ่งการครอบครองนั้น ต้องเป็นการมอบให้โดยความสมัครใจของเจ้าของทรัพย์หรือผู้แทนเจ้าของ และต้องไม่ได้เกิดจากการหลอกลวงให้ส่งมอบให้ด้วยมิฉะนั้นเป็นความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์
5. การครอบครองทรัพย์นั้นต้องไม่เป็นความผิดฐานอื่นเสียก่อน ถ้าได้ทรัพย์นั้นมาโดยการกระผิดฐานอื่นมาแล้วไม่เป็นความผิดฐานยักยอกอีก เช่น ลักทรัพย์ หรือฉ้อโกง ทรัพย์นั้นมา แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปขายเสีย ดังนี้ ไม่เป็นความผิดฐานยักยอกอีก
6. การมอบทรัพย์ให้ไปขายโดยไม่จำกัดว่าจะต้องขายเท่าใด เจ้าของคิดราคาทรัพย์นั้นตามที่กำหนดไว้เท่านั้น จำเลยจะไปขายเท่าใดก็ได้ เพียงแต่ว่าจะต้องใช้ราคาทรัพย์ให้ ดังนี้เป็นการมอบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นให้ไปทั้งหมด เพียงแต่มีความผูกพันธุ์ในทางสัญญาว่าจะต้องใช้ราคาเท่านั้น เมื่อผู้รับทรัพย์ไปขายแล้วเบียดบังเอาไว้เสียไม่ชำระราคา ไม่ผิดฐานยักยอก ถ้ามอบทรัพย์ไปขายในฐานะตัวแทนในการขายเท่านั้น ดังนี้เบียดบังเอาไว้เสียเป็นความผิดฐานยักยอก
7. การฝากเงิน ผู้รับฝากมีสิทธิเอาเงินนั้นไปใช้ได้ แต่จะต้องส่งคืนเต็มจำนวน ถ้าผู้รับฝากเอาเงินนั้นไปใช้เสียหมดแล้วไม่มีคืนให้ ไม่ผิดฐานยักยอก เว้นแต่จะปฏิเสธว่าไม่ได้รับฝากเงินนั้นไว้ ดังนี้ถือว่ามีเจตนาทุจริต ผิดฐานยักยอก
8. การมอบเงินให้ไปกรณีอื่น เช่นการให้ไปชำระหนี้แทน ให้ไปซื้อของมาให้ ให้ไปไถ่ทรัพย์ เป็นต้น ถ้าเบียดบังเอาไปโดยทุจริต มีความผิดฐานยักยอก
9. การรับฝากทรัพย์อื่นๆไว้ แล้วไม่ยอมคืนให้เจ้าของ โดยที่ทรัพย์นั้นยังอยู่ในความครอบครองของตน ยังไม่ผิด จะต้องมีการกระทำอื่นๆที่แสดงว่าได้มีเจตนาทุจริตคิดเบียดบังทรัพย์นั้นด้วย เช่นเอาไปจำหน่าย หรือปฏิเสธว่าไม่ได้รับทรัพย์นั้นไว้ เป็นต้น
10. ทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ถ้าเขามอบกรรมสิทธิ์ให้โดยเด็ดขาดแล้ว การเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปก็ไม่ผิดฐานยักยอก
11. การซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง ถ้ายังจะต้องนับ ชั่ง ตวง วัดหรือทำการอย่างอื่นหรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด อันเกี่ยวแก่ทรัพย์สิน เพื่อให้รู้กำหนดราคาทรัพย์สินนั้นแน่นอน เมื่อได้กระทำการดังกล่าวแล้ว กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อทันทีแม้จะยังไม่ได้ชำระราคา แต่ระหว่างที่ยังไม่ได้ส่งมอบทรัพย์นั้น ความครอบครองยังอยู่กับผู้ขาย ถ้าผู้ขายเบียดบังเอาไว้โดยทุจริต มีผิดฐานยักยอก
12. เกี่ยวกับการเช่าซื้อทรัพย์ ผู้เช่าซื้อทรัพย์นั้นไปไว้ในครอบครอง เมื่อผิดสัญญาไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อ และไม่ยอมคืนทรัพย์ที่เช่าซื้อนั้น จะเป็นความผิดฐานยักยอกหรือไม่ต้องดูเจตนาทุจริตและข้อเท็จจริงอื่นประกอบด้วย ถ้าเพียงแต่ไม่ยอมคืนเฉยๆและทรัพย์นั้นยังอยู่ในความครอบครองของผู้เช่าซื้อ เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น แต่ถ้าเอาไปขายหรือจำนำขาด เป็นผิดฐานยักยอก
13. การเอาทรัพย์ที่รับฝากไปจำนำ จะเป็นความผิดยักยอกหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าการเอาไปจำนำนั้นเป็นการจำนำขาดหรือเพียงชั่วคราว ถ้าจำนำเพียงชั่วคราวโดยเจตนาจะไถ่คืนมาดังนี้ ยังไม่ผิดยักยอก
14. การมอบทรัพย์ให้นั้น วัตถุประสงค์ต้องไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่นหนี้ในการพนัน เงินที่ให้เป็นค่าจ้างไปฆ่าคน ผู้รับมอบไปแล้วเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตนเสีย ไม่ผิดฐานยักยอก
15. การครอบครองทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยแล้วเบียดบังเอาไปเป็นความผิดฐานยักยอก และถ้าทรัพย์อยู่ในความครอบครองของผู้อื่น เอาไปเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
16. เจตนาทุจริตเกิดขึ้นขณะใดย่อมเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ไว้แต่ขณะนั้นไม่จำต้องมีการแสดงเจตนา เปลี่ยนลักษณะการครอบครองแทนมาเป็นการครอบครองเพื่อตน โดยเพียงแต่ไปบอกขายทรัพย์นั้นแม้ยังขายไม่ได้ ก็ถือเป็นการเบียดบัง ถือเป็นการยักยอกสำเร็จแล้ว การเบียดบังเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์ การเบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนหรือบุคคลที่สามก็ได้
17. เจตนาทุจริตเบียดบังทรัพย์นั้นเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ทรัพย์นั้นมาไว้ในครอบครอง แต่อาจมีเจตนาทุจริตมาก่อนได้ เช่น คนใช้คอยโอกาสอยู่ เมื่อนายจ้างมอบให้ก็ยักยอกเอาทรัพย์นั้นไปเสีย
18. ความผิดฐานยักยอกนั้น ผู้ที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น ถ้าสมคบกับผู้ที่ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ ก็มีความผิดฐานสมคบกันยักยอกได้ ไม่ใช่สนับสนุน
19. การส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้รับมอบทรัพย์นั้น ผู้รับทราบแล้วว่าผู้อื่นนั้นส่งให้โดยสำคัญผิด แต่ผู้รับมีเจตนาทุจริตในทันที ไม่ยอมบอกให้เขาทราบความจริง เป็นความผิดยักยอก แต่ถ้าขณะที่มีการส่งมอบทรัพย์ ผู้ส่งทรัพย์ถามว่า ผู้รับมอบทรัพย์เป็นบุคคลที่เขาต้องการมอบทรัพย์ให้ใช่หรือไม่ ถ้าผู้รับแสดงกิริยา ทำนองตอบรับ เช่น พยักหน้าเป็นการแสดงว่าใช่ เช่นนี้ ผู้รับมีความผิดฐานฉ้อโกง เพราะมีการกระทำที่แสดงออกมาเป็นการหลอกลวงให้ผู้ส่งมอบทรัพย์นั้นหลงเชื่อส่งทรัพย์ให้ไป ไม่ใช่เป็นการยักยอกทรัพย์
20. การที่เจ้าของทรัพย์วางของไว้เป็นที่ แต่เวลาทำกิจการเสร็จสิ้นแล้วลืมทิ้งไว้โดยไม่ได้เอาไปด้วย ไม่ใช่เป็นทรัพย์หาย ผู้เอาทรัพย์นั้นไปเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะยังไม่ได้สละการครอบครอง
21. ทรัพย์สินหาย เป็นเรื่องที่ทรัพย์นั้นหลุดพ้นไปจากความครอบครองยึดถือของเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยมิได้ตั้งใจ ไม่ใช่เรื่องสละการครอบครอง ผู้ใดเก็บเอาทรัพย์นั้นไปเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์สินหาย ต้องพิจารณาตามพฤติการณ์เป็นรายๆไป คือถ้าเก็บเอาไปโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าทรัพย์นั้นเจ้าของกำลังติดตามหรือจะติดตามเพื่อเอาคืนก็เป็นลักทรัพย์ ถ้าไม่รู้หรือไม่มีเหตุอันควรรู้ก็เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย
22. ถ้าทรัพย์สินที่ตกหายนั้น เจ้าของสละไปเลย คือไม่ต้องการทรัพย์นั้นอีกต่อไปแล้ว เป็นการสละกรรมสิทธิ์โดยเด็ดขาด ย่อมไม่ใช่ทรัพย์สินหาย ผู้เก็บได้ย่อมไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอก


ลักษณะการกระทำอย่างไร เป็นความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์



ลักษณะการกระทำอย่างไร เป็นความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์ พอสรุป ได้ดังนี้
1. ต้องมีการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
2. ข้อความนั้นต้องเป็นเท็จและต้องเป็นเหตุการณ์ในอดีตหรือปัจจุบัน ไม่ใช่เหตุการณ์ในอนาคต เว้นแต่เหตุการณ์ในอนาคตนั้นพออนุมานได้ว่าเป็นการแสดงถึงเหตุการณ์ในปัจจุบันรวมอยู่ด้วย
3. ผู้กระทำต้องรู้ข้อความนั้นเป็นเท็จ และต้องเป็นการกล่าวยืนยันข้อความนั้น ไม่ใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือคาดคะเนหรือเพียงให้คำมั่นสัญญาแม้จะไม่ตรงกับความจริงก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
4. การแสดงข้อความเท็จนั้น อาจเป็นเท็จต่อเพียงบางส่วนก็ได้ ไม่จำต้องเท็จทั้งหมด
5. การหลอกลวงนั้นต้องกระทำก่อนที่จะได้ทรัพย์สิน จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ถ้าได้ทรัพย์มาในความครอบครองก่อนแล้ว จึงหลอกลวงไม่เป็นฉ้อโกง
6. การหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ถ้าเขาหลงเชื่อและส่งมอบทรัพย์หรือยอมให้ทรัพย์สินนั้นไปด้วยความเต็มใจ เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ถ้าผู้ถูกหลอกลวงไม่หลงเชื่อหรือหลงเชื่อแต่ยังไม่ยินยอมให้เอาทรัพย์นั้นไป ถ้าผู้ที่หลอกลวงหยิบเอาทรัพย์นั้นไปเองหรือหลอกลวงเพื่อให้ทำการลักทรัพย์ได้สะดวกขึ้นเท่านั้นเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ฉ้อโกง
7. การแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้น อาจกระทำด้วยทางวาจา กิริยาท่าทาง ลายลักษณ์อักษร เครื่องขยายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ หรืออื่นๆก็ได้ กฎหมายไม่จำกัดเฉพาะทางวาจาเท่านั้น
8. การปกปิดความจริงที่ควรบอกให้แจ้ง คือจะต้องรู้ความจริงแล้วนิ่งเสียไม่ยอมบอกให้เขาทราบเพื่อจะให้ได้ทรัพย์สิน ฯ อาจกระทำโดยกิริยา ท่าทาง หรืออย่างอื่นๆก็ได้
9. การแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งในกรณีที่เกี่ยวกับการโฆษณาสินค้า หรือการขายของ แม้จะเกินความจริงไปบ้างก็ยังไม่ถือว่าเป็นการฉ้อโกงเพราะบุคคลทั่วไปก็เข้าใจในเรื่องนี้ดี แต่ถ้ามีเจตนาที่จะหลอกลวงเพื่อทำการฉ้อโกงโดยตรงก็เป็นความผิดเกี่ยวกับการค้า ตาม มาตรา 271 ได้
10. การหลอกลวงนั้นต้องทำให้เขาหลงเชื่อและได้ไปซึ่งทรัพย์สิน หรือ ทำให้เขาทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว หากให้เพราะความสงสารหรือเพื่อจะเอาเป็นพยานหลักฐานในการฟ้องคดีหรือไม่เชื่อจึงไม่ให้ทรัพย์ หรือเชื่อแต่ไม่ให้ทรัพย์หรือไม่มีทรัพย์จะให้ ดังนี้ เป็นเพียงความผิดฐานพยายามฉ้อโกง
11. การได้ทรัพย์สินหรือให้ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธินั้น ไม่จำกัดว่าจะต้องได้ไปจากผู้ถูกหลอกลวง แต่รวมถึงบุคคลที่สามด้วย แต่บุคคลนั้นต้องมีการครอบครองเหนือทรัพย์นั้นด้วย ถ้าผู้ที่มอบให้ไม่มีการครอบครองเหนือทรัพย์นั้น ผู้เอาไปผิดฐานลักทรัพย์ ดูฎีกาที่ 207/2512
12. ความผิดฐานฉ้อโกง การได้ทรัพย์นั้น ไม่จำกัดเฉพาะทรัพย์แต่อย่างเดียว แต่รวมถึงทรัพย์สิน สิทธิบางอย่างและให้ทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิด้วย
13. ในกรณีที่ให้ทำ ถอนหรือทำลายเอกสารนั้น ต้องเป็นเอกสารสิทธิ ถ้าไม่ใช่เอกสารสิทธิ เป็นเอกสารธรรมดา ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
14. ความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำต้องมีเจตนาทุจริตมาก่อนหรือในขณะ
หลอกลวงอันเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์นั้น ถ้าผู้กระทำมีเจตนาทุจริตขึ้นในภายหลังไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่ผิดฐานยักยอก

15. ความผิดฐานฉ้อโกงนั้น ต้องหลอกลวงเอาทรัพย์ของผู้อื่น การหลอกลวงเอาทรัพย์ของตนเองไปจากผู้อื่นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ดูฎีกาที่ 16/2510
16. ความผิดฐานฉ้อโกง ต้องเป็นการหลอกลวงให้เขาส่งทรัพย์ให้ แต่การ
หลอกลวงเพื่อเอาทรัพย์ไปส่งคืน แม้เป็นเท็จก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง



ลักษณะการกระทำอย่างไร เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์



1. การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันทีทันใดจะใช้กำลังประทุษร้ายนั้นต้องกระทำในทันทีทันใดหรือในเวลาใกล้ชิดติดต่อกันกับการลักทรัพย์ ซึ่งถ้าใช้กำลังประทุษร้ายแล้วอีกนาน จึงจะได้ทรัพย์ไป ไม่ใช่เป็นการชิงทรัพย์แต่อาจเป็นความผิดฐานอื่น เช่นกรรโชกทรัพย์เพราะไม่ได้ทรัพย์ไปในทันใด หรือถ้าลักทรัพย์ก่อนใช้กำลังประทุษร้าย ต้องกระทำในเมื่อการลักทรัพย์ยังไม่ขาดตอน หากขาดตอนไปแล้ว เป็นความผิดฐานลักทรัพย์และทำร้ายร่างกาย
2. การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายนั้น อาจกระทำด้วยวาจาหรือกิริยาท่าทาง ก็ได้
3. การใช้กำลังประทุษร้ายไม่จำเป็นต้องกระทำต่อเจ้าทรัพย์โดยตรง อาจกระทำต่อบุคคลอื่นก็ได้ แต่ต้องกระทำต่อมนุษย์มิใช่กระทำต่อสัตว์หรือทรัพย์สิ่งของ
4. การใช้กำลังประทุษร้าย ฯ นั้น ต้องกระทำให้เจ้าของทรัพย์หรือบุคคลอื่นเกิดความกลัวและยอมให้ทรัพย์นั้นไปและต้องได้รับทรัพย์ไปในระยะเวลาใกล้กันนั้นส่วนอันตรายจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ไม่สำคัญ แต่ถ้าเจ้าทรัพย์ไม่กลัวแต่ส่งมอบทรัพย์ไปเพราะเหตุอื่น เป็นความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์
5. ในกรณีลักทรัพย์สำเร็จแล้ว เจ้าทรัพย์และพวกติดตามไปยังไม่ขาดตอน ถ้าคนร้ายใช้กำลังประทุษร้าย ในขณะนี้เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามฎีกาที่ 1408/2512
6. ในกรณีที่คนร้ายหลายคนสมคบกันมาลักทรัพย์ แต่คนร้ายบางคนประทุษร้ายเจ้าทรัพย์หรือพวกเจ้าทรัพย์ โดยคนร้ายคนอื่นไม่ได้ร่วมกระทำด้วย ได้วิ่งหลบหนีไปก่อน ผิดฐานชิงทรัพย์เฉพาะคนที่ใช้กำลังประทุษร้ายเท่านั้น ตามฎีกาที่ 1683/2513 แต่ถ้าได้สมคบกันมาเพื่อทำการชิงทรัพย์แต่แรก แม้คนที่ไม่ได้ใช้กำลังประทุษร้ายด้วยก็ถือว่ามีความผิดฐานชิงทรัพย์ด้วยกันทุกคน
7. ความผิดฐานชิงทรัพย์นั้น ต้องเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันทีทันใดจะใช้กำลังประทุษร้าย ถ้าขู่เข็ญอย่างอื่นไม่เป็นชิงทรัพย์
8. ความผิดฐานชิงทรัพย์นั้น ถ้าเจ้าของกลัวและส่งทรัพย์ให้ถือเป็นความสำเร็จแล้ว แม้ทรัพย์ที่ได้ไปจะไม่ครบตามต้องการหรือเมื่อได้ทรัพย์ไปแล้วจะเปลี่ยนเจตนาภายหลัง โดยคืนทรัพย์ให้ก็ตาม ไม่กลับเป็นความผิดฐานพยายาม ดูฎีกาที่ 282/2499
9. ชิงทรัพย์ ผู้กระทำจะต้องมีเจตนา (พิเศษ) เพื่อมูลเหตุชักจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ - ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป
- ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
- ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
- ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
- ให้พ้นจากการจับกุม เท่านั้น

10. เจตนาทุจริตในการลักทรัพย์ จะต้องมีมาก่อนการใช้กำลังประทุษร้าย ถ้าหากเกิดขึ้นภายหลัง เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายและลักทรัพย์ แล้วแต่กรณี
11. ชิงทรัพย์แต่ไม่ได้ทรัพย์ไป หรือเพราะเจ้าทรัพย์ไม่มีทรัพย์จะให้ เป็นความผิดเพียงพยายามชิงทรัพย์
12. จะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ได้ต้องมีการลักทรัพย์ ( รวมทั้งวิ่งราวทรัพย์ ) มาก่อน ถ้าไม่มีการลักทรัพย์แล้วจะมีความผิดฐานชิงทรัพย์ไม่ได้
13. ใช้ให้เขาไปลักทรัพย์ผู้อื่น ถ้าผู้รับใช้ไปกระทำการชิงทรัพย์ผู้นั้นเข้า ผู้ใช้ต้องมีความผิดฐานชิงทรัพย์ด้วย


ความผิดฐานกรรโชกทรัพย์และฐานรีดเอาทรัพย์ แตกต่างกันอย่างไร



กรรโชกทรัพย์ 
1. ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญจะทำอันตราย
2. ขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินก็ได้

รีดเอาทรัพย์
1. ต้องไม่ใช้กำลังประทุษร้าย 2. เฉพาะขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยคว
ามลับอย่างเดียว

จะเห็นว่า ความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ กับ ความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ ทั้งสองความผิดนี้มีหลักเกณฑ์แทบจะเหมือนกันทีเดียว ผิดกันอยู่อย่างเดียวคือ ในเรื่องการข่มขืนใจในความผิดกรรโชกทรัพย์นั้น เป็นการกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจหรือบุคคลที่สาม ส่วนความผิดฐานรีดเอาทรัพย์นั้น เป็นการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับอย่างเดียวเท่านั้นและการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สาม เสียหาย

คำว่า ความลับ นั้น หมายความถึงสิ่งที่บุคคลที่มีประโยชน์ได้เสีย ประสงค์จะปกปิดโดยยอมให้รู้เฉพาะภายในวงบุคคลอันจำกัด ความลับไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือศีลธรรมเสมอไป เช่น หญิงมีสามีมาก่อนโดยชอบด้วยกฎหมาย สามีเสียชีวิตหรือหย่าร้างกันแล้ว ต่อมาได้สามีใหม่และปกปิดความที่เคยมีสามีมาก่อน เพราะเกรงว่าสามีใหม่จะรังเกียจถึงกับทิ้งร้างกันไป การเคยมีสามีมาก่อนจึงเป็นความลับสำหรับตัวหญิงนั้น
การขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับเท่านั้นยังไม่พอ จะต้องได้ความว่าการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหายด้วย
ความเสียหาย นี้มิได้จำกัดว่าจะต้องเสียหายเฉพาะชื่อเสียงหรือเกียรติยศเท่านั้น แต่อาจจะเสียหายถึงทรัพย์สินด้วยก็ได้
ให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินนั้น ต้องเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินไม่รวมถึงบุคคล เช่น ขู่เข็ญให้ส่งตัวบุตรสาวมาให้เป็นภรรยา มิฉะนั้นจะเปิดเผยความลับ ดังนี้ไม่ผิดฐานรีดเอาทรัพย์
ความผิดฐานรีดเอาทรัพย์นี้ถ้าขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับ เป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชื่อเสียงของผู้ถูกขู่เข็ญด้วย ก็ย่อมเป็นความผิดฐานกรรโชก และความผิดต่อเสรีภาพด้วย เป็นความผิดหลายบทหรือหลายกระทง ตามฎีกาที่ 1945/2514 และความผิดฐานรีดเอาทรัพย์นี้ แม้ผู้ถูกขู่เข็ญจะส่งทรัพย์ให้ในทันทีที่ถูกขู่เข็ญนั้นก็ตาม ก็ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ เพราะการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับนั้นไม่ใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันทีทันใดจะใช้กำลังประทุษร้าย

ส่วนความผิดฐานกรรโชกทรัพย์นั้นมีการข่มขืนใจโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ฯ รวมอยู่ด้วย ฉะนั้น ในเรื่องความผิดฐานกรรโชก นั้นถ้าผู้ขู่เข็ญได้ขู่เข็ญแล้ว ถ้าเกิดผู้ถูกขู่เข็ญส่งทรัพย์ให้ทันทีก็เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ได้


ความผิดฐาน ลักทรัพย์ และความผิดฐาน ยักยอกทรัพย์ มีความแตกต่างกันอย่างไร



เนื่องจากความผิดฐาน ลักทรัพย์ และความผิดฐาน ยักยอกทรัพย์ นั้น มีหลักเกณฑ์ใกล้เคียงกันมาก แต่มีข้อสังเกตในสาระสำคัญ ซึ่งพอแยกข้อแตกต่างได้ดังนี้
ลักทรัพย์
1. ทรัพย์ที่ถูกลักต้องอยู่ในความครอบครอง ของผู้อื่นในขณะเอาไป
2. ผู้กระทำมีเจตนาทุจริตก่อนเอาทรัพย์ไป จากความครอบครองของผู้อื่น
3. เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน
4. กรณีของตกหายโดยเจ้าของยังไม่สละการ ครอบครอง ถ้าเอาไปโดยรู้หรือมีเหตุอัน ควรรู้ว่าเจ้าของยังติดตามอยู่ เป็นลักทรัพย์

ยักยอกทรัพย์
1. ทรัพย์ต้องอยู่ในความครอบครอง ของผู้ยักยอกแล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเสีย
2. ทรัพย์อยู่ในความครอบครองของผู้กระทำ ก่อนแล้วมีเจตนาทุจริต เบียดบังเอาทรัพย์ ภายหลัง
3. เป็นความผิดอันยอมความได้
4.กรณีของตกหาย ถ้าเก็บไปโดยไม่ทราบว่าเจ้าของกำลังติดตามหรือมีเหตุอันควรจะรู้ เป็น ยักยอกทรัพย์

ปัญหาอยู่ที่ การครอบครองทรัพย์ ซึ่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 บัญญัติว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้สิทธิครอบครอง และ มาตรา 1368 บัญญัติว่า การโอนการครอบครองย่อมทำได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง
คำว่า ครอบครอง หมายถึงการที่บุคคลมีอำนาจอันแท้จริงเหนือทรัพย์ เป็นอำนาจที่จะกระทำแก่ทรัพย์อย่างแท้จริงได้ตามอำเภอใจ แต่บุคคลดังกล่าวจะต้องมีเจตนาที่จะครอบครองทรัพย์นั้นด้วย ถ้าไม่มีเจตนาจะครอบครองทรัพย์ก็ถือไม่ได้ว่าเขามีอำนาจเหนือทรัพย์
อย่างไรเรียกว่าครอบครอง และเมื่อไรจึงจะพ้นจากการครอบครอง การครอบครองในทางอาญา อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ประการ คือ
1. เจ้าของเป็นผู้ครอบครองเอง
2. ครอบครองโดยได้รับมอบหมายจากเจ้าของหรือจากตัวแทน
3. ครอบครองโดยปริยาย
ข้อ 1. เจ้าของเป็นผู้ครอบครองเอง แม้ทรัพย์ได้พ้นไปจากการครอบครองชั่วคราว เช่นวางทรัพย์ลืมทิ้งไว้ ถือว่าเจ้าของยังไม่สละการครอบครอง อำนาจการครอบครองอันแท้จริงยังอยู่กับเจ้าของ ผู้ใดเอาทรัพย์นั้นไปเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
การมีกรรมสิทธิ์กับการมีการครอบครองนั้นไม่เหมือนกัน บางกรณีมีกรรมสิทธิ์แต่ไม่ได้ครอบครองก็มี เช่นของนั้นฝากไว้กับผู้อื่น แต่ถ้าได้สละกรรมสิทธิ์แล้วการครอบครองก็ขาดไปในตัว เช่น ซื้อสุรามาดื่มหมดขวด แล้วโยนขวดทิ้งไป เป็นการสละกรรมสิทธิ์และในขณะนั้นก็เป็นการสละการครอบครองไปด้วย แม้เจ้าของจะยังยืนอยู่ตรงนั้น ถ้าคนอื่นมาเก็บเอาไป ก็ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ข้อ 2. การครอบครองโดยได้รับมอบหมายจากเจ้าของหรือจากตัวแทน เพียงแต่เจ้าของทรัพย์ให้ถือทรัพย์ชั่วคราวโดยมิได้มอบหมายความครอบครองให้ ต้องถือว่าเป็นการครอบครองอยู่แก่เจ้าของทรัพย์ เช่นการที่เจ้าของบ้านวานให้ผู้อื่นเฝ้าบ้าน แต่ไม่ได้มอบกุญแจห้องไว้ให้ ถ้าผู้เฝ้าบ้านเอาทรัพย์ในห้องไป เป็นลักทรัพย์ เพราะมิได้มอบการครอบครองอย่างแท้จริง หรือ กรณีเจ้าของทรัพย์ให้ลูกจ้างนำสินค้าไปส่งลูกค้าเพียงอย่างเดียว โดยมีการโอนเงินค่าสินค้ากันเอง ลูกจ้างได้เอาสินค้าดังกล่าวไป เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะเจ้าของทรัพย์ยังมิได้สละการครอบครองเพียงแต่ให้ลูกจ้างยึดถือไว้ชั่วคราวเท่านั้น
ข้อ 3. การครอบครองโดยปริยาย หมายถึงเจ้าของมิได้มอบการครอบครองในตัวทรัพย์นั้นให้โดยตรง แต่ทรัพย์นั้นตกมาอยู่ในความครอบครองโดยเหตุใดเหตุหนึ่ง เช่น
เพื่อนมาที่บ้านแล้วลืมไฟแช๊คไว้ หากคนใช้เอาไปโดยทุจริต ย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เพราะเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่อยู่ในความครอบครองของเรา ซึ่งได้ครอบครองแทนเพื่อนไว้ แต่ถ้าเราเอาไฟแช๊คนั้นไปเสียเองโดยทุจริต ไม่คืนให้เพื่อนเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เพราะเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปจากความครอบครองของเราเอง


ความผิดฐาน ฉ้อโกงทรัพย์ กับความผิดฐาน ลักทรัพย์โดยใช้อุบายหลอกลวงเพื่อสะดวกในการลักทรัพย์ มีความแตกต่างกันอย่างไร



มีแนวทางในการแบ่งแยกความผิดทั้งสองได้ดังนี้

ความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์นั้น เป็นการใช้อุบายหลอกลวงทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหลงเชื่อและส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้หลอกลวงไป และเป็นการให้ทรัพย์โดยมอบให้ไปโดยความเต็มใจเพราะเชื่อการหลอกลวงนั้น
ส่วนการลักทรัพย์โดยใช้อุบายหลอกลวงนั้น ไม่ใช่เป็นการหลอกลวงโดยประสงค์จะให้ผู้ถูกหลอกลวงนั้นส่งมอบทรัพย์นั้นให้โดยตรง แต่เป็นการหลอกลวงเพื่อให้สะดวกในการที่จะลักทรัพย์เท่านั้น เช่น
นาย ก. เจตนาทุจริตคิดจะเอาทรัพย์ของผู้อื่น จึงใช้อุบายทำทีเข้าไปซื้อของ โดยให้เจ้าของร้านหยิบของมาให้ดูหลายๆชิ้น พอเจ้าของเผลอหรือมัวยุ่งกับการขายของให้กับลูกค้าคนอื่น นาย ก. ได้เอาของนั้นใส่กระเป๋าไปเสีย 1 ชิ้น โดยยังไม่ได้ตกลงซื้อ การกระทำดังกล่าวเป็นการลักทรัพย์โดยใช้อุบาย เพราะเจ้าของร้านยังมิได้มอบการครอบครองสิ่งของนั้นให้แก่นาย ก. เพียงแต่ให้เลือกดูเท่านั้น
หรือ ทำทีว่าขอยืมทองคำมาทำพิธี โดยนำมาทับห่อตัวยาเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ เจ้าของทองคำหลงเชื่อ จึงมอบทองคำให้ไป โดยมีการกระทำพิธีต่อหน้าเจ้าทรัพย์ โดยห่อตัวยาและทองคำไว้คนละห่อ จากนั้นก็ขอยืมพาน เพื่อมาใส่ตัวยาและห่อทองคำ ขณะเจ้าของทรัพย์เข้าไปหยิบพาน ได้มีการนำห่อโลหะอื่นที่เตรียมมาเปลี่ยนห่อทองคำไป เมื่อนำพานมาให้ แล้วก็ได้ทำพิธีปลุกเสกต่อหน้าเจ้าทรัพย์และให้เจ้าทรัพย์เก็บรักษาห้ามแตะต้องจนกว่าจะเย็นจึงจะเปิดห่อยาที่มีห่อทองคำทับไว้ได้ แต่เมื่อเปิดออกมากลับเป็นก้อนโลหะอื่นมิใช่ทองคำ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการลักทรัพย์โดยใช้อุบาย มิใช่ฉ้อโกงทรัพย์ เพราะเจ้าทรัพย์เพียงมอบทองคำให้ไปทำพิธี มิได้มอบให้ไปใช้ จึงเป็นการอนุญาตให้จับต้องได้เพียงชั่วคราว จึงมิใช่หลอกลวงให้เจ้าทรัพย์ส่งมอบทรัพย์ให้ไปด้วยความเต็มใจ ยังถือว่าทรัพย์นั้นยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าทรัพย์ เพียงใช้อุบายให้เอาทองคำออกมาวางเท่านั้น จึงถือว่าเป็นการลักทรัพย์โดยใช้อุบาย


ลักษณะการกระทำอย่างไร เป็นความผิดฐานลักทรัพย์



1. คำว่า เอาไป คือการเอาทรัพย์เคลื่อนที่ไปจากที่เดิมในลักษณะที่จะพาทรัพย์นั้นไปได้ และทรัพย์นั้นเข้ามาอยู่ในความยึดถือครอบครองเพื่อตนแล้ว แม้ทรัพย์นั้นเคลื่อนที่เพียงเล็กน้อยก็ถือว่าเป็นการเอาไปแล้ว ถึงแม้ผู้กระทำจะยังไม่เอาทรัพย์นั้นไปหรือถูกขัดขวางในภายหลังและเอาทรัพย์นั้นไปไม่ได้ก็ตาม ต้องถือว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จ
2. การเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปนั้นอาจกระทำโดยทางอ้อม โดยใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือก็ได้
3. เพียงแต่เอาทรัพย์เคลื่อนที่อย่างเดียว แต่ไม่อยู่ในลักษณะที่จะเอาทรัพย์นั้นไปได้ คือยังไม่ได้มีการยึดถือเลย เป็นเพียงความผิดฐานพยายามลักทรัพย์
4. การลักทรัพย์โดยใช้อุบายนั้นใกล้เคียงกับความผิดฐานฉ้อโกงมาก การลักทรัพย์โดยใช้อุบาย การหลอกลวง เป็นวิธีการเพื่อทำให้การลักทรัพย์สะดวกขึ้นเท่านั้น ส่วนความผิดฐานฉ้อโกง การหลอกลวงนั้นทำให้ผู้ถูกหลอกหลงเชื่อและมอบทรัพย์ให้หรือยอมให้เอาทรัพย์นั้นไปด้วยความเต็มใจ
5. ทรัพย์นั้นต้องเป็นของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยและทรัพย์นั้นต้องอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นในขณะที่เอาทรัพย์นั้นไป ถ้าทรัพย์นั้นอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำเองในขณะที่เอาไปแล้วไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ การเอาทรัพย์ของตนเองแต่ผู้เดียวไป ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะอยู่ในความครอบครองของผู้อื่น
6. ในกรณีที่ทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ที่มีเจ้าของร่วมกัน การเอาทรัพย์ชนิดนี้ไปจะต้องอยู่ในความครอบครองของเจ้าของร่วมโดยแท้จริง ไม่ใช่เพียงมีสิทธิครอบครองร่วมกันเท่านั้น
7. ในเรื่องทรัพย์สินหาย หรือของตกหายนั้น ถือหลักว่าถ้าเก็บไปโดยรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าทรัพย์นั้นอยู่ในระหว่างที่เจ้าของกำลังติดตาม หรือกำลังจะติดตามทรัพย์นั้นคืน ถ้าเอาทรัพย์ไปตอนนี้เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ถ้าเอาไปโดยไม่รู้หรือไม่มีเหตุอันควรรู้เช่นนั้นแล้ว ก็เป็นการได้ทรัพย์หาย เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์

8. การได้รับมอบหมายทรัพย์จากเจ้าของให้ดูแลแทนเพียงชั่วคราวหรือเจ้าของไปด้วย ถือว่าการครอบครองทรัพย์นั้นยังอยู่กับเจ้าของ ถ้าเอาไปขณะนี้เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
9. การลักทรัพย์นั้น การเอาทรัพย์ของผู้อื่นไป ผู้กระทำต้องมีเจตนาทุจริตมาก่อนหรือในขณะที่เอาทรัพย์นั้นไป ถ้ามีเกิดขึ้นภายหลังไม่ผิดฐานลักทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานอื่น เช่น ยักยอกทรัพย์
10. การเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยมีเจตนาเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่โดยทุจริตคือไม่ใช่เพื่อถือทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือผู้อื่นแล้วไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
11. การลักทรัพย์นั้นถ้ากระทำโดยมีเจตนาทุจริตเพื่อกระทำการลักทรัพย์และได้ลงมือกระทำการลักทรัพย์ เช่นการเข้าไปในบ้าน แต่ไม่มีสิ่งของหรือลงมืองัดแงะประตูแล้ว แม้จะมีเหตุมาขัดขวางทำให้การลักทรัพย์ต่อไปไม่ได้ ก็ถือว่ามีความผิดฐานพยายามลักทรัพย์แล้ว
12. ลักทรัพย์เสร็จแล้ว เอาทรัพย์นั้นมาทำลายภายหลังไม่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อีก
13. ลักทรัพย์สำเร็จแล้ว มีผู้อื่นมาช่วยพาทรัพย์นั้นไป ไม่เป็นการสมคบลักทรัพย์ แต่ถ้าผู้กระทำรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิด เป็นความผิดฐานรับของโจร
14. สมคบกันลักทรัพย์ได้มาและได้แบ่งกันไปแล้ว ภายหลังผู้ลักคนหนึ่งได้รับทรัพย์นั้นไว้อีก ไม่มีความผิดฐานรับของโจร
15. การซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งที่ได้กำหนดลงไว้แน่นอนแล้ว กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อทันทีแม้ยังไม่ได้ชำระราคา ถ้ายังไม่ได้มอบการครอบครองให้ ถ้าผู้ขายเอาไปเสียก่อนที่จะส่งให้เป็นความผิดฐานยักยอก ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะการครอบครองยังอยู่กับผู้เอาไป
16. กระแสไฟฟ้า เป็นทรัพย์
17. ศพ โดยปกติไม่ใช่ทรัพย์ แต่ถ้าศพนั้นได้ดองไว้เพื่อใช้ในการศึกษาหรือทำเป็นมัมมี่ไว้ ก็อาจเป็นทรัพย์ได้เพราะเป็นสิ่งที่มีราคาและถือเอาได้
18. ฆ่าคนแล้วจึงลักทรัพย์ โดยมีเจตนาทุจริตเกิดขึ้นภายหลัง เป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ไม่ผิดฐานชิงทรัพย์ฯ
19. ทรัพย์ของผู้อื่นที่เอาไปนั้น เจ้าของต้องยังไม่ได้สละกรรมสิทธิ์ ถ้าเจ้าของสละกรรมสิทธิ์เสียแล้ว ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
20. ทรัพย์บางอย่างที่มีชีวิต ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงและไปไหนมาไหนได้นั้นแม้จะออกห่างไปจากบ้านของผู้เป็นเจ้าของ ก็ถือว่าการครอบครองยังไม่ขาด เว้นแต่สัตว์นั้นทิ้งที่ไปเลย
21. ทรัพย์บางอย่างที่มีอยู่ตามธรรมชาติและได้รับการประมูลผูกขาด ผู้นั้นจะต้องได้เข้ายึดถือครอบครอง หรือทำให้เกิดผลนั้นขึ้นโดยแท้จริงแล้ว ผู้เอาไปจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์
22. ปลาในบ่อ สระ หลุมที่ขุดล่อไว้หรือในโป๊ะชั้นนอก ถ้ายังว่ายเข้าออกไปสู่สาธารณะได้โดยอิสระ ถือว่ายังไม่มีกรรมสิทธิ์



http://www.police.go.th     :: พ.ต.ท.ศักกพล สุขปาน










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม