วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

ความผิดฐาน ลักทรัพย์ และความผิดฐาน ยักยอกทรัพย์ มีความแตกต่างกันอย่างไร

ความผิดฐาน ลักทรัพย์ และความผิดฐาน ยักยอกทรัพย์ มีความแตกต่างกันอย่างไร :: พ.ต.ท.ศักกพล สุขปาน

เนื่องจากความผิดฐาน ลักทรัพย์ และความผิดฐาน ยักยอกทรัพย์ นั้น มีหลักเกณฑ์ใกล้เคียงกันมาก แต่มีข้อสังเกตในสาระสำคัญ ซึ่งพอแยกข้อแตกต่างได้ดังนี้

ลักทรัพย์
1. ทรัพย์ที่ถูกลักต้องอยู่ในความครอบครอง ของผู้อื่นในขณะเอาไป
2. ผู้กระทำมีเจตนาทุจริตก่อนเอาทรัพย์ไป จากความครอบครองของผู้อื่น
3. เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน
4. กรณีของตกหายโดยเจ้าของยังไม่สละการ ครอบครอง ถ้าเอาไปโดยรู้หรือมีเหตุอัน ควรรู้ว่าเจ้าของยังติดตามอยู่ เป็นลักทรัพย์

ยักยอกทรัพย์
1. ทรัพย์ต้องอยู่ในความครอบครอง ของผู้ยักยอกแล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเสีย
2. ทรัพย์อยู่ในความครอบครองของผู้กระทำ ก่อนแล้วมีเจตนาทุจริต เบียดบังเอาทรัพย์ ภายหลัง 
3. เป็นความผิดอันยอมความได้
4.กรณีของตกหาย ถ้าเก็บไปโดยไม่ทราบว่าเจ้าของกำลังติดตามหรือมีเหตุอันควรจะรู้ เป็น ยักยอกทรัพย์


ปัญหาอยู่ที่ การครอบครองทรัพย์ ซึ่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 บัญญัติว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้สิทธิครอบครอง และ มาตรา 1368 บัญญัติว่า การโอนการครอบครองย่อมทำได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง

คำว่า ครอบครอง หมายถึงการที่บุคคลมีอำนาจอันแท้จริงเหนือทรัพย์ เป็นอำนาจที่จะกระทำแก่ทรัพย์อย่างแท้จริงได้ตามอำเภอใจ แต่บุคคลดังกล่าวจะต้องมีเจตนาที่จะครอบครองทรัพย์นั้นด้วย ถ้าไม่มีเจตนาจะครอบครองทรัพย์ก็ถือไม่ได้ว่าเขามีอำนาจเหนือทรัพย์

อย่างไรเรียกว่าครอบครอง และเมื่อไรจึงจะพ้นจากการครอบครอง การครอบครองในทางอาญา อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ประการ คือ

1. เจ้าของเป็นผู้ครอบครองเอง

2. ครอบครองโดยได้รับมอบหมายจากเจ้าของหรือจากตัวแทน

3. ครอบครองโดยปริยาย

ข้อ 1. เจ้าของเป็นผู้ครอบครองเอง แม้ทรัพย์ได้พ้นไปจากการครอบครองชั่วคราว เช่นวางทรัพย์ลืมทิ้งไว้ ถือว่าเจ้าของยังไม่สละการครอบครอง อำนาจการครอบครองอันแท้จริงยังอยู่กับเจ้าของ ผู้ใดเอาทรัพย์นั้นไปเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

การมีกรรมสิทธิ์กับการมีการครอบครองนั้นไม่เหมือนกัน บางกรณีมีกรรมสิทธิ์แต่ไม่ได้ครอบครองก็มี เช่นของนั้นฝากไว้กับผู้อื่น แต่ถ้าได้สละกรรมสิทธิ์แล้วการครอบครองก็ขาดไปในตัว เช่น ซื้อสุรามาดื่มหมดขวด แล้วโยนขวดทิ้งไป เป็นการสละกรรมสิทธิ์และในขณะนั้นก็เป็นการสละการครอบครองไปด้วย แม้เจ้าของจะยังยืนอยู่ตรงนั้น ถ้าคนอื่นมาเก็บเอาไป ก็ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

ข้อ 2. การครอบครองโดยได้รับมอบหมายจากเจ้าของหรือจากตัวแทน เพียงแต่เจ้าของทรัพย์ให้ถือทรัพย์ชั่วคราวโดยมิได้มอบหมายความครอบครองให้ ต้องถือว่าเป็นการครอบครองอยู่แก่เจ้าของทรัพย์ เช่นการที่เจ้าของบ้านวานให้ผู้อื่นเฝ้าบ้าน แต่ไม่ได้มอบกุญแจห้องไว้ให้ ถ้าผู้เฝ้าบ้านเอาทรัพย์ในห้องไป เป็นลักทรัพย์ เพราะมิได้มอบการครอบครองอย่างแท้จริง หรือ กรณีเจ้าของทรัพย์ให้ลูกจ้างนำสินค้าไปส่งลูกค้าเพียงอย่างเดียว โดยมีการโอนเงินค่าสินค้ากันเอง ลูกจ้างได้เอาสินค้าดังกล่าวไป เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะเจ้าของทรัพย์ยังมิได้สละการครอบครองเพียงแต่ให้ลูกจ้างยึดถือไว้ชั่วคราวเท่านั้น

ข้อ 3. การครอบครองโดยปริยาย หมายถึงเจ้าของมิได้มอบการครอบครองในตัวทรัพย์นั้นให้โดยตรง แต่ทรัพย์นั้นตกมาอยู่ในความครอบครองโดยเหตุใดเหตุหนึ่ง เช่น

เพื่อนมาที่บ้านแล้วลืมไฟแช๊คไว้ หากคนใช้เอาไปโดยทุจริต ย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เพราะเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่อยู่ในความครอบครองของเรา ซึ่งได้ครอบครองแทนเพื่อนไว้ แต่ถ้าเราเอาไฟแช๊คนั้นไปเสียเองโดยทุจริต ไม่คืนให้เพื่อนเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เพราะเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปจากความครอบครองของเราเอง


http://www.police.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม