วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

ทำอย่างไรถ้าอยากเป็นเนติบัณฑิต (เทคนิคการสอบเนติฯให้ผ่าน ภายใน 1 ปี)…ตอนที่ 1 อารัมภบท

ทำอย่างไรถ้าอยากเป็นเนติบัณฑิต (เทคนิคการสอบเนติฯให้ผ่าน ภายใน 1 ปี)…ตอนที่ 1 อารัมภบท 

คำชี้แจงบทความ
ผู้เขียน เรียนเนติฯจบภายใน 1ปี ครึ่ง ( 1/61 – 1/62 )
ปี 2551 สมัย 61 สอบอาญาได้ 45 คะแนน แพ่งได้ 50 คะแนน วิแพ่งได้ 66 คะแนน วิอาญาได้ 55 คะแนน
ปี 2552 สมัย 62 สอบอาญาได้ 66 คะแนน
ก่อนเริ่มเรียน เนติฯ ผม ยังไม่รู้เลยว่า การสอบผ่านเนติฯ ต้องสอบ กี่วิชา และแต่ละวิชา มีเนื้อหาที่ต้องสอบอะไรบ้าง และ คิดคะแนนอย่างไรบ้าง แต่เมื่อ ผม ศึกษาค้นคว้า จากการนั่งเรียนที่ศูนย์ถ่ายทอดเนติฯ ,ศึกษาจาก เวปกฎหมายทางอินเตอร์เน็ท และ สอบถามผู้ที่ เรียนอยู่และ ที่เรียนจบเป็นเนติบัณฑิตแล้ว ทำให้รู้ว่า การเรียนให้สำเร็จ ในระดับเนติบัณฑิต นั้นไม่ยาก (แต่ ไม่ง่ายแน่นอน) จำเป็นต้องมีเทคนิคการเรียนรู้ ซึ่งกว่าผมจะรู้เทคนิคเหล่านี้ ก็ใกล้สอบเทอม 1สมัย 61 แล้ว ทำให้สอบ ไม่ผ่าน วิชาอาญา และผ่านวิชาแพ่งได้แบบหวุดหวิด ซึ่งเมื่อ นำเทคนิค ดังกล่าว มาใช้ ในเทอม 2 สมัย 61 และ เทอม 1 สมัย 62 ก็สามารถสอบผ่านมาได้แบบไม่ต้องลุ้นคะแนน ให้ เหนื่อย จึงเป็นที่มาของบทความนี้ ที่อยากจะถ่ายทอดเทคนิคในการเรียน ในระดับเนติ ให้นักศึกษาเนติ ปี 1 มีแนวทางในการเรียน ซึ่งข้อมูลบางส่วน มาจากประสบการณ์โดยตรงของตนเองและ บางส่วนนำมาจากเวปกฎหมาย ดังนั้น ผู้อ่านท่านใด รู้สึกคุ้นๆ กับเนื้อหาของบทความ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า ผมคัดลอก ข้อความมาจากในเวปครับ

คุณความดีของบทความนี้ถ้าพอมีอยู่บ้าง ขอมอบให้แก่ เจ้าของบทความทุกท่าน ที่ผม นำมาใช้อ้างอิงในบทความนี้ครับ โดยเฉพาะ คุณผ่านมาแล้วอยากตอบ ที่ผมนำความรู้และข้อคิดของท่าน มาเป็นแบบอย่างในการเรียนเนติฯ

สิ่งใดที่มีประโยชน์ เพื่อนนักศึกษาเนติฯ ก็เก็บไว้ใช้ สิ่งใดที่ไม่มีประโยชน์ก็อย่าไปใส่ใจนะครับ

ตอนที่ 1 อารัมภบท
เนติฯ คืออะไร ??
สำหรับบทความนี้ คงไม่อธิบายให้มากความ เพราะ บทความนี้ เน้นเทคนิคการเรียนเนติฯให้ จบ 1 ปี ตาม หัวข้อ ส่วนเนติฯ คืออะไร ตั้งอยู่ที่ไหน สมัครเรียนอย่างไร สมัครสอบอย่างไร ค่าธรรมเนียมการศึกษาเท่าไร ตารางเรียนภาคปกติ ภาคค่ำ ภาคทบทวน มีวิชาอะไรบ้าง มีศูนย์ถ่ายทอดการเรียนเนติฯ ที่ไหนบ้าง สนามสอบ มีกี่แห่ง ที่ไหนบ้าง ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ ผู้อ่านหาได้จาก เวปเนติบัณฑิตยสภา
http://www.thaibar.thaigov.net/
ถ้าชื่อเวปจำไม่ได้ ให้ ถามพี่กู(เกิ้ล) พิมพ์คำว่า “เนติบัณฑิตยสภา” แล้วเลือกอันแรก
ถ้าผู้อ่านไม่รู้จัก พี่กู(เกิ้ล) ก็ขอลาสวัสดีครับ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
การจะเรียนจบเป็นเนติฯ ต้องสอบผ่าน 4 วิชาดังนี้

วิชาที่สอบในเทอม 1 ของปีการศึกษา
1.กลุ่มกฎหมายอาญา
2.กลุ่มกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

วิชาที่สอบในเทอม 2 ของปีการศึกษา
3.กลุ่มกฎหมายวิ.แพ่ง
4.กลุ่มกฎหมายวิ.อาญา

แต่ละวิชาจะมี 10 ข้อ ข้อละ 10 คะแนน รวมเป็น 100 คะแนน เกณฑ์การผ่านคือ 50 คะแนน ใครสอบได้เกิน 50 คะแนนครบ ทั้ง 4 วิชา ( เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการ ในกลุ่มนักศึกษาระดับเนติฯ ว่า ครบ 4 ขา ) ก็จะเป็นเนติบัณฑิตไทย
เพื่อนนักศึกษาเนติฯ ที่ยังไม่เคยเรียน ไม่เคยสอบเนติฯ คงอาจจะคิดว่า ทำคะแนนให้ได้เกิน 50 คะแนน ไม่น่าจะยาก หยุดดดดดดดดดดดดดด คิดแบบนั้น ลองมาดูสถิติที่ผ่านมากันดีกว่าว่าเป็นอย่างไร

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาค 2 สมัยที่ 60
กลุ่มกฎหมาย วิ.แพ่ง มีผู้เข้าสอบจำนวน 12,262 คน มีผู้สอบได้ 3,450 คน(คิดเป็นร้อยละ 28.10)
กลุ่มกฎหมาย วิ.อาญา มีผู้เข้าสอบจำนวน 12,485 คน มีผู้สอบได้ 2,483 คน(คิดเป็นร้อยละ 19.90)
มีผู้สอบได้ ทั้ง วิ.แพ่ง และ วิ.อาญา จำนวน 950 คน
มีผู้สอบได้เป็นเนติบัณฑิต 1,744 คน
(ที่มาจากบทบรรณาธิการ หน้า 1 จากหนังสือรวมคำบรรยายเนติ เทอม 1 สมัย 61 เล่มที่ 1 )

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาค 1 สมัยที่ 61
กลุ่มกฎหมายอาญา มีผู้เข้าสอบจำนวน 15,933 คน มีผู้สอบได้ 2,053 คน(คิดเป็นร้อยละ 12.89)
กลุ่มกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีผู้เข้าสอบจำนวน 15,854 คน มีผู้สอบได้ 1,193 คน(คิดเป็นร้อยละ 7.53)
มีผู้สอบได้ ทั้ง อาญาและแพ่ง จำนวน 299 คน
(ที่มาจากบทบรรณาธิการ หน้า 1 จากหนังสือรวมคำบรรยายเนติ เทอม 2 สมัย 61 เล่มที่ 1)

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาค 2 สมัยที่ 61
กลุ่มกฎหมาย วิ.แพ่ง มีผู้เข้าสอบจำนวน 10,885 คน มีผู้สอบได้ 1,150 คน(คิดเป็นร้อยละ 10.57)
กลุ่มกฎหมาย วิ.อาญา มีผู้เข้าสอบจำนวน 12,382 คน มีผู้สอบได้ 1,696 คน(คิดเป็นร้อยละ 13.70)
มีผู้สอบได้ ทั้ง วิ.แพ่ง และ วิ.อาญา จำนวน 430 คน
(ที่มาจากบทบรรณาธิการ หน้า 1 จากหนังสือรวมคำบรรยายเนติ เทอม 1 สมัย 62 เล่มที่ 1)

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาค 1 สมัยที่ 62
กลุ่มกฎหมายอาญา มีผู้เข้าสอบจำนวน 15,772 คน มีผู้สอบได้ 2,412 คน(คิดเป็นร้อยละ 15.29)
กลุ่มกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีผู้เข้าสอบจำนวน 15,411 คน มีผู้สอบได้ 4,774 คน(คิดเป็นร้อยละ 30.98)
มีผู้สอบได้ ทั้ง อาญาและแพ่ง จำนวน 899 คน
(ที่มาจากบทบรรณาธิการ หน้า 1 จากหนังสือรวมคำบรรยายเนติ เทอม 2 สมัย 62 เล่มที่ 1)

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาค 1 สมัยที่ 63
กลุ่มกฎหมายอาญา มีผู้เข้าสอบจำนวน 16,154 คน มีผู้สอบได้ 1,467 คน(คิดเป็นร้อยละ 9.08)
กลุ่มกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีผู้เข้าสอบจำนวน 13,391 คน มีผู้สอบได้ 798 คน(คิดเป็นร้อยละ 5.95)
มีผู้สอบได้ ทั้ง อาญาและแพ่ง จำนวน 288 คน
(ที่มาจากบทบรรณาธิการ หน้า 1 จากหนังสือรวมคำบรรยายเนติ เทอม 2 สมัย 63 เล่มที่ 1)

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาค 2 สมัยที่ 63
กลุ่มกฎหมาย วิ.แพ่ง มีผู้เข้าสอบจำนวน 10,637 คน มีผู้สอบได้ 1,386 คน(คิดเป็นร้อยละ 13.03)
กลุ่มกฎหมาย วิ.อาญา มีผู้เข้าสอบจำนวน 11,505 คน มีผู้สอบได้ 1,613 คน(คิดเป็นร้อยละ 14.02)
มีผู้สอบได้ ทั้ง วิ.แพ่ง และ วิ.อาญา จำนวน 509 คน
(ที่มาจากบทบรรณาธิการ หน้า 1 จากหนังสือรวมคำบรรยายเนติ เทอม 1 สมัย 64 เล่มที่ 1)

จะเห็นได้ว่า จำนวนเปอร์เซ็นต์คนสอบผ่าน มีไม่ถึง 20-30 % หมายความว่า คนที่สอบไม่ผ่าน (คะแนนไม่ถึง 50 คะแนน ) มีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการที่เพื่อนนักศึกษาท่านใดคิดว่าการสอบเนติฯเป็นเรื่องง่าย ต้องคิดใหม่ล่ะนะครับ

การสอบเนติฯ ไม่ง่ายครับ แต่ไม่ยากจนเกินความสามารถของเราๆท่านๆ ครับ
สิ่งสำคัญคือ “รู้เขา รู้เรา”
รู้เขา = รู้ว่า ข้อสอบเนติฯ เป็นแบบใด แนวข้อสอบ จำนวนข้อสอบ เวลาที่ให้ทำข้อสอบ กฎ กติกามารยาทในการสอบ แนวการคัดเลือกข้อสอบ หลักเกณฑ์การให้คะแนน
รู้เรา = รู้ว่าเรา มีจุดอ่อน จุดแข็งในเรื่องใด หลักการง่ายๆ คือ “ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง “
ตอนนี้เรามาดูกันว่า ข้อสอบเนติ แต่ละวิชา ทั้ง 4 วิชา มีขอบเขตเนื้อหาอย่างไร ในตอนต่อไป



ทำอย่างไรถ้าอยากเป็นเนติบัณฑิต (เทคนิคการสอบเนติฯให้ผ่าน ภายใน 1 ปี)
ตอนที่ 2 ขอบเขตของวิชาที่ออกสอบแต่ละข้อ ทั้ง 4 วิชา และแนวการเตรียมตัวเรียนในแต่ละข้อ 

ตอนที่ 2
ขอบเขตของวิชาที่ออกสอบแต่ละข้อ ทั้ง 4 วิชา และแนวการเตรียมตัวเรียนในแต่ละข้อ
(ที่มา บทความของคุณผ่านมาแล้วอยากตอบ และ คุณMK จาก เวปกฎหมาย http://www.thaijustice.com/)

กลุ่มวิชากฎหมายอาญา
ข้อที่ 1 จะเป็นวิชากฎหมายอาญา ม. 1 – ม.58 และ ม. 107 – ม.208
ข้อที่ 2 กับข้อที่ 3 จะเป็นวิชากฎหมายอาญา ม.59 – ม. 106
ข้อที่ 4 จะเป็นวิชากฎหมายอาญา ม. 209 – ม.287
ข้อที่ 5 กับ ข้อที่ 6 จะเป็นวิชากฎหมายอาญา ม. 288 – ม.333 และ ม.334 – ม. 366
ข้อที่ 7 จะเป็นวิชากฎหมายภาษีอากร
ข้อที่ 8 จะเป็นวิชากฎหมายแรงงาน
ข้อที่ 9 จะเป็นวิชากฎหมาย รัฐธรรมนูญ
ข้อที่ 10 จะเป็นวิชากฎหมายปกครอง

เทคนิคการเตรียมตัวสอบ อาญา

ข้อ 1 มาตรา1-58,107-208
อ่านคำบรรยาย ของอ.วีระชาติ (ภาคปกติ) และเข้าเรียน ภาคค่ำ ของ อ.ชาตรี
แล้วก็อย่าลืมเข้าเรียนคาบสุดท้ายเพราะว่าอะไรที่อ.พูดคาบสุดท้ายก็มักจะนำมาออกข้อสอบครับ

ข้อ2-3 มาตรา 59-106
อ่านคำบรรยาย อ.เกียรติขจร (ภาคปกติ) เพราะคำบรรยายวิชานี้อ่านเข้าใจง่ายและถอดเทปมาจากที่อ.พูดทุกคำพูดเลยครับและเข้าเรียน ภาคค่ำ ของ อ.อุทัย

ข้อ4 มาตรา 209-287มาตรา 307-398
อ่านคำบรรยายเฉพาะในส่วนของเรื่องปลอมเอกสาร ม.264 – 268 (ครึ่งหลังของอ.วีระวัฒน์)
เพราะข้อสอบออกแต่เรื่องปลอมเอกสารติดต่อกันมาหลายปีแล้ว ไม่ได้ออกกลุ่มมาตราอื่นเลย

ข้อ5-6 มาตรา 288-366
อ่านคำบรรยายของอ.หม่อมไกรฤกษ์ แต่ถ้าใครอยากอ่านล่วงหน้าก็หาอ่านในหนังสือคำอธิบาย ของอ.ก็ได้ครับ
แล้วก็แนะนำให้เข้าเรียนด้วยเพราะ อ.จัดระบบความคิดกลุ่มฐานความผิดดีมากๆ แล้วบางทีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่อ.สอนก็ไม่มีในคำบรรยายเพราะฉะนั้นก็ควรจะดู lecture ตัวเองประกอบด้วยครับ

ข้อ7 กฎหมายภาษีอากร
แนะนำให้เข้าเรียนอ.ชัยสิทธิ์ ท่าน จะสอนตอนแรกและกลับมาสอนปิดท้ายอีกทีครับ ถ้าอ. บอกว่าจะออกเกี่ยวกับภาษีอะไรก็มักจะออกเรื่องนั้นแหละครับ ถ้าอ่านไม่ทันจริงๆก็แนะนำให้อ่านเรื่องนั้นก่อนนะครับ แล้วค่อยมาเก็บตกเรื่องอื่นๆถ้ามีเวลาให้อ่านคำบรรยายในส่วนของอ.ชัยสิทธิ์ ประกอบกับประมวลรัษฎากรของอ.ดุลยลักษณ์ ตราชูธรรม เพราะในประมวลจะมีฎีกาที่อ.สอนรวบรวมไว้เกือบทั้งหมดแล้วครับ (ภาษีไม่ได้ยากอย่างที่คิด และมักจะออกแต่หลักๆ ให้คะแนนดีด้วย เพราะฉะนั้นอย่าทิ้งเลย เพราะจะเป็นคะแนนช่วยของเราเลยทีเดียว)

ข้อ 8 กฎหมายแรงงาน
ให้เข้าคาบสุดท้ายของอ.เกษมสันต์ อ.จะบอกขอบเขตว่าจะออกในส่วนของ พ.ร.บ. อะไรคู่กับ พ.ร.บ. อะไร
แต่ถ้ามีเวลาเพียงพอเราก็แนะนำให้อ่านคำบรรยายให้หมด อย่างน้อยก็จะได้เป็นความรู้ติดตัวตลอดไป แต่ถ้าไม่ทันจริงๆก็อ่านเฉพาะขอบเขตที่อ.เน้นในคาบสุดท้ายนั่นแหละนะครับ

ข้อ 9 รัฐธรรมนูญ
คำบรรยายปกติเป็นหลัก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดตามเหตุการณ์บ้านเมือง หนังสือประกอบ คู่มือการศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญ อ.สุริยา ทองแป้น และถ้าอยากเห็นภาพรวมของรัฐธรรมนูญปี 2550 ทั้งหมด แนะนำกฎหมายรัฐธรรมนูญ อ.มานิตย์ จุมปา



ข้อ 10 กฎหมายปกครอง
แนะนำให้เข้าเรียนภาคค่ำ สอนเข้าใจดีมาก เนื้อหาครบถ้วน หนังสืออ่านประกอบ คู่มือการศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง อ.สุริยา ทองแป้น เน้นคำบรรยายของ อ. ดร.ฤทัย หงส์สิริ (ภาคค่ำ)

กลุ่มวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อที่ 1 จะเป็นกฎหมายทรัพย์ และที่ดิน
ม. 137 – ม.148 และ ม.1298 – ม.1434

ข้อที่ 2 จะเป็นกฎหมายหนี้ นิติกรรมสัญญา
หนี้ ม.194 – ม.353 , นิติกรรม ม.149 – ม.181 , สัญญา ม.354 – ม.394

ข้อที่ 3 จะเป็นกฎหมายละเมิด
ม.420 – ม.442 และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

ข้อที่ 4 จะเป็นกฎหมายซื้อขาย เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ
ซื้อขาย ม.453 – ม.490 , ขายฝาก ม. 491 – ม.502 , เช่าทรัพย์ ม.538 – ม.571 , เช่าซื้อ ม.572 – ม.575

ข้อที่ 5 จะเป็นกฎหมาย ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ
ยืม ม.640 – ม.656 , ค้ำประกัน ม.680 – ม.701 , จำนอง ม.702 – ม.746 , จำนำ ม.747 – ม.769

ข้อที่ 6 จะเป็นกฎหมาย ตัวแทน ประกันภัย ตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
ตัวแทน ม.797 – ม.832 , ประกันภัย ม.861 – ม.897 , ตั๋วเงิน ม.898 – ม.1011 , บัญชีเดินสะพัด ม.856 – ม.860

ข้อที่ 7 จะเป็นกฎหมาย หุ้นส่วน บริษัท
หุ้นส่วน ม.10121095 , บริษัท ม.1096 – ม.1273


ข้อที่ 8 จะเป็นกฎหมาย ครอบครัว มรดก
ครอบครัว ม.1435 – ม.1598 / 41 , มรดก ม.1599 – ม.1755

ข้อที่ 9 จะเป็นกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ
ก.ม.ขัดกัน……สัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ……การชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย ระหว่างประเทศ……การระงับข้อพิพาททางการค้า โดยอนุญาโตตุลาการ……การรับขนของทางทะเล และการประกันภัยทางทะเล ม. 1 – ม.61

ข้อที่ 10 จะเป็นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
ลิขสิทธิ์ ม. 1 – ม.78 , สิทธิบัตร ม.1 – ม.88 , เครื่องหมายการค้า ม.1 – ม.123

เทคนิคการเตรียมตัวสอบ กฎหมายแพ่ง

ข้อ 1 ทรัพย์
อ่านหนังสือคำอธิบายกฎหมายลักษณะทรัพย์ของอ.บัญญัติ สุชีวะ ข้อสอบมักจะยากเหมือนกันอ่านรอบแรกอ่านจะยังไม่เข้าใจว่าถามอะไร แต่ก็อย่าเพิ่งท้อใจ ลองพยายามอ่านดูอีกทีก็น่าจะทำได้ครับ

ข้อ 2 นิติกรรมสัญญา-หนี้
ส่วนนิติกรรม แนะนำคำบรรยายภาคปกติ
ส่วนของสัญญา แนะนำคำบรรยายภาคปกติ เสริมด้วยคำบรรยายภาคค่ำ ของ อ.ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา เสริมด้วยหนังสืออ่านประกอบ นิติกรรม สัญญา ของ อ.อัครวิทย์ สุมานนท์
ส่วนของหนี้ แนะนำคำบรรยายภาคค่ำ ของ รศ.ดร.ดาราพร ถิระวัฒน์ เสริมด้วยหนังสืออ่านประกอบ หนี้ อ.ไพโรจน์ วายุภาพ

ข้อ 3 ละเมิด
ส่วนของละเมิด แนะนำคำบรรยายภาคปกติ หนังสืออ่านประกอบ ละเมิด อ.เพ็ง เพ็งนิติ (มีเล่มใหญ่และเล่ม pocket book)

ข้อ 4 ซื้อขาย-เช่าซื้อ-เช่าทรัพย์
แนะนำให้เข้าเรียนภาคค่ำอ.ฉันทวัทธ์ เพราะอ. สอนเข้าใจง่าย และก็จัดระบบความคิดดี ให้อ่านlecture ที่เข้าเรียน

ข้อ 5 ค้ำ-จำนอง-จำนำ
แนะนำคำบรรยายภาคปกติ ของ อ.ปัญญา ถนอมรอด

ข้อ 6 ประกันภัย-ตัวแทน-บัญชีเดินสะพัด-ตั๋วเงิน
ช่วงระยะหลังๆนี่จะออกข้อสอบแต่เฉพาะในส่วนของตั่วเงินครับ ดังนั้นดูเฉพาะในส่วนของตั๋วเงินก็น่าจะเพียงพอครับ
ต้องเข้าเรียนภาคค่ำ อ. ประเสริฐนะครับ เพราะอ.สอนดีมากๆ และข้อสอบของ อ. ได้รับเลือกทุกปี อย่าไปพยายามเก็งเพราะว่าอะไรที่เก็งมากๆ อ. ก็จะหลบครับ แต่ข้อสอบไม่ออกนอกเหนือจากที่ อ. สอนแน่นอน

ข้อ 7 หุ้นส่วน-บริษัท
อ่านหนังสือเล่มเล็ก ของอ.สุรศักดิ์ วาจาสิทธิ์ และ รศ.สหธน รัตนไพจิตร และก็คอยติดตามฎีกาใหม่ๆด้วยครับ
เพราะกฎหมายในส่วนนี้มีฎีกาไม่มากนัก เข้าเรียน ภาคค่ำ ช่วงสัปดาห์ท้ายๆก่อนสอบ อ.รศ.สหธน รัตนไพจิตร จะมาสรุปประเด็นสำคัญๆที่น่าสนใจ ให้จดไว้ให้ดี เพราะ ถ้าข้อสอบของ อ.ได้รับเลือก จะเป็นแนวข้อสอบตามที่ท่าน อ. มาสรุป มาสรุปไว้ครับ

ข้อ 8 ครอบครัว-มรดก
ให้เข้าเรียน อ.มล.เฉลิมชัย ภาคปกติ อ. สอนดีมากๆ จะทำให้เราเข้าใจคำหมายครอบครัวและมรดกทั้งหมด ในส่วนของกฎหมายครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องมรดก อ. ก็จะนำมาอธิบายให้ฟังหมด ดังนั้นข้อนี้อ่าน lecture ของเรา ประกอบกับ คำบรรยายเนติ หรือ หนังสือคำอธิบายของอ.เองก็ได้ แล้วคาบสุดท้ายที่อ.บอกจดหลายๆข้อ จดให้ดีๆ เพราะข้อใดข้อหนึ่งก็นำมาออกเป็นข้อสอบนั่นแหละ มาตราไหนที่โยงกันก็ให้จดไว้ในประมวล แล้วเวลาตอบข้อสอบก็ไล่สายดีๆเริ่มตั้งแต่ 1599... แล้วก็ไล่ผู้มีสิทธิ ทายาทไปทีละคนๆ ว่าคนใดมีสิทธิหรือไม่เพราะอะไร


ข้อ 9 การค้าระหว่างประเทศ
หลายปีมานี้ข้อสอบจะเป็นของอ.อรรถนิติเกือบทุกปี โดยจะอยู่ในคำบรรยายคาบสุดท้าย ถ้าไม่มีเวลาจริงๆอ่านเพียงคำบรรยายคาบสุดท้ายก็พอ แล้วก็เข้าเรียนคาบสุดท้ายด้วยว่า อ. เน้นฎีกาไหนก็มักจะออกฎีกานั้นแหละ แต่ถ้ามีเวลาก็ขอให้เข้าเรียน อ.อรรถนิติ ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากทีเดียว

ข้อ 10 ทรัพย์สินทางปัญญา
อ่านคำบรรยาย ข้อนี้จะออกไม่ยากมาก ถ้าอ่านไม่ทันจริงๆอย่างน้อยอ่านตัวบทให้ครบก็ยังดี อย่าไปเชื่อที่เก็งกันมากให้ดูแนวโน้มของข้อสอบด้วย เพราะข้อสอบมักจะออกสลับกันไปแต่แนวโน้มในการออกข้อสอบระยะหลังๆก็จะเริ่มออกพ.ร.บ.ใดพ.ร.บ.หนึ่งแต่เพียงฉบับเดียว
ส่วนลิขสิทธิ์ แนะนำหนังสืออ่านประกอบ อ.ไชยยศ เหมรัชตะ
ส่วนสิทธิบัตร แนะนำคำบรรยายภาคค่ำ อ.ชัชชม อรรคภิญญ์
ส่วนเครื่องหมายการค้า แนะนำคำบรรยายภาคปกติ เสริมด้วยคำบรรยายภาคค่ำ อ.ชัชชม อรรคภิญญ์

กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ข้อที่ 1 – ข้อที่ 2 จะเป็น ป.วิ.แพ่ง ภาค 1……….. ม.1 – ม.169
ข้อที่ 3 จะเป็น ป.วิ.แพ่ง ภาค 2 วิธีพิจารณาสามัญในศาลชั้นต้น ……….ม.170 – ม.188
ข้อที่ 4 จะเป็น ป.วิ.แพ่ง ภาค 2 วิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้น ……….ม.189 – ม.222
ข้อที่ 5 จะเป็น ป.วิ.แพ่ง ภาค 3 อุทธรณ์และฎีกา…………ม.223 – ม.252
ข้อที่ 6 จะเป็น ป.วิ.แพ่ง ภาค 4 วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ม. 253 – ม.270
ข้อที่ 7 จะเป็น ป.วิ.แพ่ง ภาค 4 ภาคบังคับคดี………. ม. 271 – ม.323
ข้อที่ 8 จะเป็นวิชา ล้มละลาย ……….ม. 1 – 90 และ ม.91 – ม.180
ข้อที่ 9 จะเป็นวิชา ฟื้นฟูกิจการ……….ม.90/1 – ม.90/90
ข้อที่ 10 จะเป็นวิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ……….ม. 1 – ม.33



เทคนิคการเตรียมตัวสอบ วิ.แพ่ง

ข้อ 1-2 เป็นวิแพ่งภาค 1 "หลักทั่วไป"
มาตราที่สำคัญๆ 1(3)*,(5)*,2,3,4,4จัตวา,5,7,10,18,23,24,27,36,37,42-44,55,56,57-59,132,138,142,145,147,148
แนะนำให้เข้าเรียน อ.ไพฤทธิ์ ตอนวันเสาร์ เพราะอ.จะจัดระบบความคิด และกลุ่มมาตราให้เราดีมากๆ ทำให้เราเข้าใจปวิพ. เกือบทั้งระบบ และรู้ว่ามาตราใดเกี่ยวกับมาตราใด เวลาอ่านก็เขียนโยงไว้ในตัวบทเลยนะครับ เวลาเห็นมาตรานี้จะได้นึกออก ว่าต่างจากมาตราอื่นอย่างไร หรือใช้ประกอบกับมาตราอะไร ส่วนตอนปลายเทอมให้เข้าเรียนสัม.วิแพ่งในส่วนที่อ.ประเสริฐสอน เพราะอ.เป็นคนสรุปคำบรรยายของอ.อุดม เพราะฉะนั้นถึงจะไม่ได้เข้าเรียนอ.อุดม เราก็จะทราบว่าอ.สอนและเน้นอะไรมาก นอกจากนั้นอ.ประเสริฐจะทำให้มองเห็นภาพ กระบวนพิจารณาทั้งระบบ และเข้าใจง่ายและอ.ก็มักจะเลือกฎีกาสวยๆที่น่าสนใจมาสอน และที่สำคัญมักจะได้รับเลือกมาเป็นข้อสอบครับ ในส่วนของภาคนี้ เราอ่าน lecture ที่เรียนกับอ.ไพฤทธิ์ + อ.ประเสริฐ+juris (วิแพ่งพิสดาร) + คำบรรยายในส่วนของอ.ประเสริฐครับ
เรื่องที่น่าสนใจ
- คำนิยาม หลายคนอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ แต่จริงๆแล้วถ้าทำความเข้าใจดีๆจะทำให้ง่ายเวลาอ่านเรื่องอื่นๆ
- เขตอำนาจศาล ต้องดูให้ออกว่าถ้าเป็นเรื่องสัญญา นิติกรรม นิติเหตุ เวลาฟ้องต้องฟ้องที่ไหน เป็นศาลหลัก และมีศาลใดบ้างเป็นศาลยกเว้น
และพวกศาลยกเว้นต่างๆนี่แหละที่เขาชอบนำมาออกเป็นข้อสอบครับ
- การตรวจคำคู่ความมาตรา 18 (ปีที่แล้วเน้นแต่ยังไม่ได้ออกนะครับ น่าสนใจมากๆ) ถ้าเข้ากรณีตามาตรานี้ ศาลต้องให้โอกาสก่อนครั้งหนึ่ง
จะสั่งไม่รับเลยไม่ได้ แต่ถ้าไม่เข้ากรณีนี้ศาลไม่จำต้องให้โอกาส สั่งไม่รับได้ทันที
ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเชื่อโยงกับเรื่องอุท-ฎีกา ครับ
-คู่ความ ใครบ้างมีอำนาจนำคดีมาสู่ศาล และเพราะเหตุใด
-ร้องสอด มาตรา 57(1)**-(3) ต้องดูให้ดีว่าร้องสอดเข้ามาในกรณีตามวงเล็บใด เพราะแต่ละกรณีคู่ความจะมีสิทธิแตกต่างกันไป ต้องดูประกอบกับมาตรา 58 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการร้องสอดตามมาตรา 57
-ค่าฤชาธรรมเนียม +ฟ้องคดีอย่างคนอนาถา กฎหมายเพิ่งแก้ใหม่ น่าสนใจมาก อย่าลืมทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ ที่แตกต่างจากกฎหมายเดิมด้วยนะครับ



ข้อ 3-4 เป็นปวิพ.ภาค 2 "กระบวนพิจารณาสามัญ-วิสามัญ"
มาตราที่สำคัญๆ 172-177,179-180,183,188,189,190,193,197-199,199ตรี-199เบญจ,200-207
ในส่วนของกระบวนพิจารณาสามัญ (ข้อ 3) นั้น ให้เข้าเรียน อ.ทองธาร ภาคค่ำนะครับ อ.สอนละเอียดแล้วก็ยกฎีกาสวยๆมาสอนครับ เรื่องที่ อ. บอกว่า อ. ฝันว่าออกข้อสอบเรื่องนั้น อ.ก็มักจะนำมาออกครับ ข้อสอบของ อ.มักจะได้รับเลือกเกือบทุกปีครับ
ในส่วนของกระบวนพิจารณาวิสามัญ (ข้อ 4) ให้เข้าเรียนกับ อ.มนตรีภาคปกตินะครับ ในส่วนนี้ก็จะเป็นเรื่องขาดนัดยื่นคำให้การ ขาดนัดพิจารณา คดีมโนสาเร่ คดีไม่มีข้อยุ่งยากนะครับ ต้องดูให้ดีว่าเป็นเรื่องอะไรแน่ เพราะว่าถ้าขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว จะไม่เป็นขาดนัดพิจารณาอีก
เรื่องที่น่าสนใจ
- คำฟ้อง/คำให้การ ต้องมีลักษณะอย่างไร
- ฟ้องซ้อน
- ทิ้งฟ้อง**
- ถอนฟ้อง
- แก้ไขคำฟ้อง-คำให้การ (ออกสมัย'60)
- คดีมโนสาเร่ น่าสนใจเหมือนกันครับ เพราะว่ากฎหมายเพิ่งแก้ไขใหม่ ดูเทียบว่าต่างกับคดีแพ่งสามัญอย่างไร
- ขาดนัดยื่นคำให้การ/ ขาดนัดพิจารณา

ข้อ 5 เป็นปวิพ. ภาค 3 "อุท-ฎีกา"
มาตราที่สำคัญๆ 223-232,234-237,247-249,252
ให้เข้าเรียนอ.นพพร ภาคค่ำนะครับ อ.จัดระบบความคิดดีอีกเช่นกัน คาบแรกอ.จะพูดให้เห็นภาพรวมของหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกาทั้งหมด อ.จะพูดเร็วเหมือนกัน แต่เข้าใจง่ายครับ เพราะฉะนั้นตั้งสมาธิให้ดีนะครับ ข้อสอบ อ.ก็มักจะได้รับเลือกทุกปีเหมือนกันครับ
เรื่องที่น่าสนใจ
***อะไรบ้างที่ต้องห้ามอุทธรณ์***
- อะไรคือข้อเท็จจริง/ข้อกฎหมาย เพราะหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์ แตกต่างกัน
- คำสั่งระหว่างพิจารณา
- วิธีการยื่นอุทธรณ์ ฟ้องอุทธรณ์ต้องมีลักษณะอย่างไร ต้องวางเงินอะไรบ้าง
- การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการบังคับคดี
- การพิจารณาอุทธรณ์
- การอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์

ข้อ 6-7 เป็นปวิพ. ภาค 4 "วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา-บังคับคดี"
มาตราที่สำคัญๆ253-255,260,264-267,271,283,287*,288*,289*,290*,292,296,306,309ทวิ
ภาคนี้ทุกคนอาจจะคิดว่ายากและมักจะชอบทิ้งนะครับ แต่จริงๆแล้ววิชานี้ข้อสอบมักจะออกแต่หลักๆตามตัวบท
ถึงแม้ตอนเรียนจะเข้าใจยาก แต่ตอนสอบจะสบายขึ้นครับ ใครที่ไม่ค่อยถนัดก็ขอแนะนำให้เข้าเรียนนะครับ แต่สำหรับคนที่ไม่มีเวลามากนักก็ให้เข้าสัมวิ.แพ่ง อ.สมชัย ภาคค่ำนะครับ เพราะ อ.เก่งเรื่องบังคับคดีกับวิธีการชั่วคราวมากๆ คาบแรกๆอาจจะตามไม่ทันเลย แต่ก็อย่าเพิ่งท้อนะครับ เพราะพอเริ่มไปคาบกลางๆ-หลังๆที่เรามีพื้นจากภาคอื่นมาแล้วก็จะเข้าใจง่ายขึ้น และสนุกดีด้วยครับในส่วนนี้ อ.สมชัยมักจะยกตัวอย่างเป็นข้อๆ จดให้ดีนะครับ เพราะว่าพวกนี้แหละที่ อ.จะปรับเอามาแต่เป็นข้อสอบ และก็มักจะได้รับเลือกทุกปีครับและก็ช่วงปลายๆเทอมให้เข้าเรียนสัมวิแพ่งของอ.ประเสริฐนะครับ เพราะ อ.ก็จะนำเรื่องที่สำคัญๆของภาค 4 มาพูดด้วย
เรื่องที่น่าสนใจ
- ดูว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายขอคุ้มครอง และดูว่าเข้าหลักเกณฑ์ที่โจทก์และจำเลยจะขอคุ้มครองได้หรือไม่ และผลของการคุ้มครอง
- คู่ความขอคุ้มครองประโยชน์ ตามาตรา 264 ถ้าเข้ามาตรานี้สิ่งที่ต้องเขียนลงไปในข้อสอบคือ " ต้องเป็นการร้องเพื่อให้ ทรัพย์สิน สิทธิ หรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทกันในคดี ได้รับการคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา"
- การบังคับคดี ใครมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดี
- ขอกันส่วน/ขอรับชำระหนี้จำนอง-บุริมสิทธิ/ร้องขัดทรัพย์/ขอเฉลี่ยทรัพย์ แต่ละวิธีแตกต่างกันอย่างไร ต้องเป็นเจ้าหนี้ธรรมดา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิจึงจะมีสิทธิตามมาตราต่างๆ ระยะเวลาที่จะร้องขอในแต่ละเรื่อง
ถ้าไม่เข้าเรื่องหนึ่งเรื่องใด จะเข้าเรื่องอื่นได้หรือไม่

ข้อ 8-9 "ล้มละลาย-ฟื้นฟูกิจการ"
ในส่วนของกฎหมายล้มละลาย(ข้อ 8) ให้เข้าเรียนครึ่งหลังในส่วนของอ.ชีพ แต่ถ้าไม่มีเวลาจริงๆ ให้เข้าเฉพาะคาบสุดท้ายและอ่านมาตราสำคัญๆ+ฎีกาที่อ.เน้นในคาบสุดท้าย เพราะข้อสอบก็มักจะอยู่ในคาบสุดท้ายที่อ.เน้นนั้นแหละครับ แต่ถ้าทันก็ให้อ่านคำบรรยายของอ.ชีพทั้งหมดนะครับ

ในส่วนของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ(ข้อ9) ให้เข้าเรียน อ.เอื้อน ภาคค่ำครับ เพราะ อ.จะวางแผนผังของกฎหมายฟื้นฟูกิจการให้เราเห็นภาพรวมทั้งหมดและทุกครั้งก่อนอ.จะเริ่มสอนก็จะทวนที่สอนครั้งที่แล้วให้ด้วย เพราะฉะนั้นวิชานี้ อ.จะเริ่มสอนก่อนประมาณ 15 นาทีครับแล้วที่ อ.เน้นๆพุดทุกคาบก็มักจะนำมาออกเป็นข้อสอบครับ ให้อ่าน lecture ครับ

2 ข้อนี้ไม่ควรทิ้งนะครับ เพราะว่าข้อสอบออกไม่ยากมาก แล้ว อ. ก็มักจะให้คะแนนดีครับ

ข้อ 10 "พระธรรมนูญศาลยุติธรรม"
ข้อสุดท้ายนี้ก็ไม่ควรทิ้งอีกเช่นกันนะครับ เพราะเนื้อหาก็ไม่มาก ฎีกาก็ไม่เยอะเท่าไร มาตราที่สำคัญๆก็มีเพียงไม่กี่มาตรา
ให้อ่านหนังสือหัวใจของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ของอ.ธานิศ เกศวพิทักษ์ อ่านเข้าใจง่ายและจัดระบบดีมากครับ
แล้วก็ให้เข้าเรียนคาบสุดท้ายของอ.อนันต์ภาคค่ำนะครับ เพราะอ. จะมาสรุปมาตรา+ฎีกาสำคัญๆ และยกตัวอย่าง
เป็นตุ๊กตาให้ครับ และที่อ.ยกตัวอย่างก็มักจะนำมาเป็นข้อสอบครับ


กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ข้อที่ 1 – ข้อที่ 3 ป.วิ.อ. ภาค 1 – 2 ม.1 – ม.156
ข้อที่ 4 ป.วิ.อ. ภาค 3 ม.157 – ม. 192
ข้อที่ 5 ป.วิ.อ. ภาค 4 ม.193 – ม.225
ข้อที่ 6 สิทธิมนุษยชนฯ ม.52 – ม.119ทวิ
ข้อที่ 7 พยานหลักฐาน แพ่ง ป.วิ.พ. ม.84 – ม.130
ข้อที่ 8 พยานหลักฐาน อาญา ป.วิ.อ. ม.226 – ม.244 ( นำเอาบางมาตราจากป.วิ.พ. มาใช้โดยอนุโลมผ่าน ป.วิ.อ. ม.15 ด้วย )
ข้อที่ 9 วิชาว่าความ
ข้อที่ 10 วิชาจัดทำเอกสาร

เทคนิคการเตรียมตัวสอบ วิ.อาญา
ก่อนอื่นเพื่อนๆจะต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับว่ากฎหมายอาญาเป็นเรื่องของการกระทำความผิดและนำตัวผู้กระทำความผิดไปลงโทษ เพราะฉะนั้น ปวิอ. จึงเป็นกฎหมายที่กำหนดกระบวนการนำตัวผู้กระทำความผิดไปลงโทษนั่นเองครับ และผู้ต้องหา/จำเลยในคดีอาญา ในระหว่างที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น ผู้ต้องหา/จำเลย ก็อาจจะถูกริดรอนสิทธิ เสรีภาพได้ (แม้ในภายหลังอาจจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเค้าเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ตาม)ดังนั้นก็จะมีหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ของผู้ต้องหา+จำเลย อยู่มนหลายๆมาตราครับ การตีความ ปวิอ.ก็จะตีความเหมือนกฎหมายอาญาเลยนะครับคือ ต้องตีความอย่างเคร่งครัดสิ่งสำคัญมากๆๆๆๆ ในการศึกษากฎหมาย ปวิอ.ก็คือ เราต้องเข้าใจว่าจุดมุ่งหมายเบื้องหลังกฎหมายแต่ละมาตรา ว่ามุ่งจะคุ้มครองสิทธิของโจทก์/ผู้เสียหาย หรือ จำเลยกันแน่เพราะถ้าเราเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายแล้ว แม้เราจะจำตัวบทนั้นๆไม่ได้ เราก็จะสามารถตอบข้อสอบไปในแนวทางที่ถูกต้องได้ครับมีจุดเกาะเกี่ยวของ ปวิอ. ที่จะนำ ปวิพ. มาใช้นะครับ คือถ้าบางเรื่องไม่มีกำหนดไว้ใน ปวิอ. ก็ต้องใช้มาตรา 15 เป็นสะพานเชื่อมเอา ปวิพ. มาใช้นะครับ เพราะฉะนั้นเวลาตอบเรื่องใดที่นำ ปวิพ. มาใช้อย่าลืมเขียนม.15 ด้วยนะครับ

ข้อ 1.-2. เป็น วิอาญา ภาค 1 นะครับ เป็นหลักทั่วไปนะครับ สิ่งที่สำคัญมากๆของภาคนี้ก็คือ
1.ใครคือ ผู้เสียหาย และ
2.เป็นผู้เสียหายที่แท้จริง หรือเป็นเพียงผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายครับ (ม.4-6)
ซึ่งในจุดนี้ออกข้อสอบอย่างน้อย 1 ข้อทุกปีครับอีกส่วนนึงที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ใครเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีบ้าง และหลักเกณฑ์แตกต่างกันอย่างไรวิชานี้ส่วนมากจะเน้นหลักนะครับ เพราะส่วนมาก อ.ผู้บรรยายจะเป็นอัยการก็จะเน้นหลักมากกว่าฎีกาครับแต่ก็อย่าทิ้งฎีกานะครับ เพราะในบางเรื่องก็ยังต้องใช้ฎีกาเป็นการตีความกฎหมายครับ แนะนำว่าให้อ่านคำบรรยายของ อ.เรวัตินะครับ อ.จะเน้นหลักมากๆไม่ค่อยเอาฎีกามาลงครับ เพราะ อ.เชื่อว่าถ้าเข้าใจหลักข้อสอบมายังไงก็ตอบได้ครับ อ.จะอธิบายดีมากๆถึงหลักเกณฑ์เบื้องหลังของแต่ละมาตราทำให้เราเข้าใจเหตุผลที่กฎหมายบัญญัติเช่นนั้น ทำความเข้าใจจุดมุ่งหมายเหล่านี้ให้ดีนะครับเพราะจะทำให้เราวิเคราะห์ข้อสอบได้อย่างถูกต้องแม้เราจะจำตัวบทไม่ได้ครับ และข้อสอบอ.ก็มักจะได้รับเลือกเสมอๆ เพราะฉะนั้นคาบสุดท้ายที่ อ.ทวนก็น่าสนใจมากๆ อย่าลืมเข้า+อ่านคำบรรยายคาบสุดท้ายดีๆนะครับและถ้ามีเวลาก็ให้อ่านคำบรรยายในส่วนของสัมวิอาญาด้วยครับ เพราะจะมีฎีกามาให้อ่านเพิ่มเติมข้อนี้เน้นตัวบทแล้วก็หลักๆครับ

ข้อ 3. เป็นวิอาญาภาค 2 เรื่องสอบสวนครับ ที่สำคัญก็ คือ ต้องดูว่าการสอบสวนนั้นชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ คือพิจารณาว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจที่จะสอบสวนคดีอาญาเรื่องนั้นๆ หรือไม่(เรื่องเขตอำนาจสอบสวน) เพราะถ้าการสอบสวนนั้นไม่ชอบเสียแล้วก็จะมีผลสืบเนื่องต่อไปถึงอำนาจในการฟ้องคดีของพนักงานอัยการด้วยในส่วนนี้มักจะเป็นขั้นตอนที่เราอาจจะมองภาพไม่ออก เพราะฉะนั้นต้องค่อยๆทำความเข้าใจ แล้วก็อาจจะลองวาดแผนภูมิออกมานะครับวิชานี้แนะนำให้อ่านคำบรรยายของอ.ชัยเกษม และ คำบรรยายของอ.ที่สอนสัมวิอาญานะครับการตอบข้อสอบถ้าคำถามถามว่าการสอบสวนและการฟ้องคดีนี้ชอบหรือไม่ก็ต้องไล่ทีละลำดับนะครับ ว่า
1. การสอบสวนชอบหรือไม่ ถ้าไม่ชอบไม่ชอบเพราะเหตุใด ซึ่งเมื่อการสอบสวนไม่ชอบแล้ว อัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้องโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้เป็นไปตาม ปวิอ. มาตรา 120
2.ถ้าการสอบสวนชอบแล้ว เพราะเหตุใด (เช่น เพราะมีการร้องทุกข์ตามระเบียบ) การฟ้องคดีจะชอบหรือไม่ก็พิจารณาเป็นส่วนต่อไปไม่ใช่ว่าการสอบสวนชอบแล้วการฟ้องคดีจะชอบเสมอไปนะครับ จึงต้องพิจารณาทีละขั้นตอน

ข้อ 4. เป็นวิอาญาภาค 3 เรื่องวิธีพิจารณาในศาลชั้นต้นนะครับ ในส่วนนี้ก็จะมีบทมาตราที่คุ้มครองจำเลยหลายมาตรานะครับ
เช่นกระบวนพิจารณาจะต้องกระทำต่อหน้าจำเลย เป็นหลักสำคัญมากๆในส่วนนี้ครับ ในส่วนนี้ให้เข้าเรียน อ.ธานิศ วิชา สัมมนาวิอาญาภาคปกตินะครับ เพราะ อ.จะวางหลักให้เราเห็นภาพรวมของกระบวนพิจารณาคดีอาญาทั้งหมด ครับและให้เข้าวันเสาร์ อ.อำนาจนะครับ แล้วก็อ่าน lecture ประกอบกับคำบรรยาย ของ อ.ธานิศครับ

ข้อ 5. เป็นวิอาญาภาค 4 เรื่องอุทธรณ์ฎีกาครับ ต้องดูให้ดีว่าเรื่องใดบ้างที่ต้องห้ามอุท-ฎีกา และ มีข้อยกเว้นในการขออนุญาตได้อย่างไรบ้างหลักเกณฑ์ที่กฎหมายเอามาเป็นตัวกำหนดสิทธิของคู่ความในการอุท-ฎีกา ก็คือ โทษนั่นเองครับ คดีที่โทษไม่สูงมากนักก็มักจะถูกจำกัดสิทธิในการอุท-ฎีกาครับแต่ระวังนะครับ !! เนื่องจาก ปวิอ.เป็นกฎหมายที่มีบทคุ้มครองจำเลยอยู่มาก ในส่วนนี้ก็เช่นเดียวกันเมื่อคำพิพากษามักจะกระทบสิทธิของจำเลยในคดีโดยตรง สิทธิในการอุท-ฎีกาคำพิพากาษาของจำเลยก็อาจจะมีมากกว่าโจทก์ในบางมาตรา ดูดีๆด้วยนะครับ ว่าเรื่องนั้นๆฝ่ายใดเป็นฝ่ายอุทธรณ์ในส่วนนี้ให้เข้าเรียน อ.ธานิศ วิชา สัมวิอาญาภาคปกตินะครับ อ.จะจัดกลุ่มเรื่องอุท-ฎีกา ให้เราเข้าใจง่ายมากๆครับ แล้วก็ให้เข้าเรียน อ.ธานี วันเสาร์นะครับ เพราะข้อสอบของอ.ธานีมักจะได้รับเลือกทุกๆปีครับและแนะนำให้อ่าน lecture ประกอบกับคำบรรยายของ อ.ธานิศครับ

ข้อ 6. สิทธิมนุษยชน เรื่องนี้เป็นกฎหมายในส่วนที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของบุคคล ในกระบวนพิจารณาทางอาญานะครับ
อาจจะมี รธน. เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ดูประกอบไว้ด้วยนะครับหลักเกณฑ์ที่สำคัญๆ ในข้อนี้ที่เราจะต้องทำความเข้าใจ ก็คือ หลักเกณฑ์ในการจับ/ขัง/ค้น/ปล่อยชั่วคราว เราต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า หลักในการจับ/ค้น ในปัจจุบัน ต้องมีหมายจากศาลเท่านั้น***แต่ก็มีข้อยกเว้นว่ากรณีใดบ้างที่จับ/ค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย ในส่วนนี้ไม่ต้องเข้าเรียนก็ได้ครับ แนะนำให้อ่านหนังสือวิอาญา ของอ.เกียรติขจรนะครับ

ข้อ 7.- 8. เป็นกฎหมายพยานหลักฐาน ข้อ 7. จะเป็นพยานในส่วนแพ่ง ส่วนข้อ 8. จะเป็นพยานในส่วนอาญา นะครับ
เวลาศึกษาก็ศึกษาคู่ขนานกันไปเลยว่าในคดีแพ่งเป็นอย่างไร ในคดีอาญาเป็นอย่างไร
ทุกคนอาจจะคิดว่าข้อนี้ยากและอาจจะทิ้งไปเลย แต่จริงๆไม่ยากอย่างที่คิดนะครับ เพียงแต่ว่าเราต้องจัดระบบให้ดีเท่านั้นเอง
เริ่มจาก
1. กรณีใดบ้างที่ต้องใช้พยานหลักฐาน
2. พยานหลักฐานชนิดใดบ้างที่กฎหมายต้องห้ามรับฟัง **** อันนี้สำคัญมากๆนะครับ
ดูให้ดี เพราะแพ่ง และอาญานั้นมีข้อห้ามต่างกันครับ
3. วิธีการนำพยานเข้าสืบ

แนะนำว่าให้เข้าเรียน อ.จรัญ นะครับ ค่อยๆทำความเข้าใจ และต้องอ่าน lecture ทบทวนก่อนมาเรียนครั้งต่อไป เพื่อจะได้ไม่ขาดตอนนะครับเพราะแต่ละคาบเนื้อหาจะต่อเนื่องกันครับ แนะนำให้อ่าน lecture ของ อ.จรัญ + คำบรรยายของอ.เข็มชัยครับ อ.เข็มชัยไม่ต้องเข้าเรียนก็ได้เพราะว่าคำบรรยายอ่านเข้าใจง่ายและ เป็นการถอดเทปมาเลยครับ

ข้อ 9. ว่าความและถามพยาน ในส่วนนี้จะคล้ายๆกับการสอบตั๋วทนายนะครับ เพราะเนื้อหาก็จะออกในเรื่อง การเขียนคำฟ้อง คำให้การ คำร้องคำแถลงต่างๆครับ

หลักเกณฑ์ในการฟ้องแพ่ง (พี่กิ๊ฟ law cu 45 เป็นคนคิดนะครับ ขอบคุณพี่กิ๊ฟที่ช่วยให้เราจำง่ายขึ้นครับ)
บรรยายตน-บ่นสัมพันธ์-ฉันถูกแย้ง-แจงเสียหาย-ได้ทวงถาม-ความตอนปลาย

1. บรรยายตน โดยเฉพาะในกรณีที่โจทก์/จำเลย เป็นนิติบุคล ต้องบรรยายสถานะด้วยนะครับ แต่ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาไม่ต้องบรรยายครับหรือถ้าเป็นบุคคลธรรมดาแต่มีการมอบอำนาจก็ให้บรรยายเฉพาะเรื่องการมอบอำนาจครับ เพราะ ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ ของโจทก์ และจำเลยจะมีบอกไว้ในแบบฟอร์มศาลตอนต้นอยุ่แล้วครับ ไม่ต้องบรรยายซ้ำอีก

2.บ่นสัมพันธ์ โจทก์และจำเลยมีความเกี่ยวของ/ มีนิติสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไร เป็นนิติกรรม หรือ นิติเหตุ

3.ฉันถูกแย้ง การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์อย่างไร เพราะการที่บุคคลจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้
บุคคลนั้นจะต้องถูกโต้แย้งสิทธิตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 55 ปวิพ.

4.แจงเสียหาย ก็คือบอกว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไรจากการกระทำของจำเลย

5.ได้ทวงถาม ก็คือได้มีการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้ว แต่เมื่อครบกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในคำบอกกล่าวแล้วจำเลยยังคงเพิกเฉย อันนี้ก็ต้องระบุไปด้วยนะครับ เพื่อให้ศาลเห็นว่าเราทวงถามก็แล้วยังไม่ชำระ เราไม่มีทางอื่นจริงๆ จึงต้องนำมาฟ้องคดี ในบางเรื่องเช่นฟ้องบังคับจำนอง ถ้าไม่มีการบอกกล่าวทวงถามก็จะไม่มีสิทธิฟ้องคดีเลยนะครับ

6.ความตอนปลาย เป็น pattern ว่า
“โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับจำเลยได้ จึงต้องนำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลเพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง บังคับจำเลยต่อไป “
“ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด”

ฟ้องอาญา
ฟ้องอาญาจะสั้นๆง่ายๆ แต่ที่สำคัญคือจะต้องปรับข้อเท็จจริงให้เข้ากับองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายมาตราที่ฟ้อง เช่นลักทรัพย์ก็ต้องบรรยายให้เห็นว่า มีการเอาไปโดยทุจริต(ใช้ keyword ตามกฎหมายดีที่สุดครับ)สิ่งสำคัญคือบรรยายให้ครบตามมาตรา 158 นะครับต้องบรรยายเวลา(ถ้ากลางคืน ต้องบอกด้วยว่าก่อนเที่ยง หรือหลังเที่ยง โดยใช้เวลาเที่ยงคืนเป็นตัวแบ่งนะครับ) สถานที่เกิดเหตุให้ชัดเจนสุดท้ายก็ดูว่าผุ้เสียหายประสงค์จะดำเนินคดีเอง หรือได้ร้องทุกข์ไว้ ถ้าประสงค์จะดำเนินคดีเองก็ต้องบรรยายไว้ในคำฟ้องว่าไม่ได้ร้องทุกข์แต่ถ้าร้องทุกข์ไว้ก็ตจ้องระบุถึงรายละเอียดของการร้องทุกข์ด้วย

ในส่วนคำร้อง/คำแถลงนั้น หลักเกณฑ์สำคัญก็คือ
1. คดีอยู่ระหว่างอะไร
2. เราต้องการขออะไร โดยปรับให้เข้ากับเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดในเรื่องนั้นๆ
3.ต้องการให้ศาลสั่งอย่างไร “ขอให้ศาลมีคำสั่ง...”
4. ลงท้ายว่า ขอศาลได้โปรดอนุญาต.... ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ในข้อนี้ให้อ่านเอกสารที่ไปสอบตั๋วทนายมาก็ได้นะครับ และให้เข้าเรียน อ.มารุต คาบสุดท้าย เพราะ อ.จะมา scope ให้ว่า
เรื่องไหนเคยออกแล้ว เรื่องไหนยังไม่เคยออก เรื่องที่ อ.บอกว่าเรื่องนี้ไม่ได้ออกนานแล้ว หรือ เรื่องนี้ น่าสนใจ ก็ดูไว้ดีๆนะครับเพราะมักจะมาออกเป็นข้อสอบครับข้อนี้ไม่ควรทิ้งอย่างยิ่งเพราะเป็นตัวช่วยนะครับ อย่างน้อยเพื่อนๆก็น่าจะได้ 7 คะแนนขึ้นไปครับ

ข้อ 10.การจัดทำเอกสารทางกฎหมาย
ข้อสอบข้อนี้ก็มักจะออกให้เราร่างสัญญา หรือนิติกรรมอื่นๆ เช่นหนังสือมอบอำนาจ พินัยกรรม ฯลฯ
ที่เราต้องจำให้ได้ก็คือ pattern ของแต่ละนิติกรรมเช่นสิ่งที่ต้องมีในทุกๆสัญญาก็คือ
ทำที่... วันที่.... ระหว่าง... คู่สัญญาได้ตกลงกันดังต่อไปนี้..(โจทย์จะให้มาว่าคู่สัญญาต้องการอะไรบ้าง)..
สัญญานี้ได้ทำขึ้นเป็น 2 ฉบับ มีข้อความต้องตรงกัน คู่สัญญาได้อ่านและเข้าใจข้อตกลงในสัญญา แล้วได้ลงนามไว้ต่อหน้า
พยานแล้ว

หรือพินัยกรรม ก็ต้องดูว่าเป็นพินัยกรรมแบบใด เพราะแต่ละแบบ keywords ก็จะแตกต่างกัน
เช่น แบบเขียนเองทั้งฉบับ เจ้ามรดกต้องเขียนด้วยลายมือตอนเองทั้งฉบับ ดังนั้นไม่จำเป็นจะต้องมีพยานก็ได้
แต่ถ้าเป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา จำเป็นต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คนนะครับ ***
ข้อนี้ก็เป็นข้อที่ช่วยเหมือนกันเพราะฉะนั้นห้ามทิ้งเลยนะครับ อย่างน้อยถ้าเราจำpattern ไม่ได้ เอาสิ่งที่โจทย์ให้มา ปรับปรุงเล็กน้อยแล้วก็มาเขียนลงในคำตอบก็ยังดีครับ
----------------------------------------------------------------------------------------
เมื่อเราทราบ ข้อมูลแต่ละวิชาแล้ว เราต้องมาเจาะดูแต่ละวิชา แต่ละข้อ ตั้งแต่ ข้อ 1 – ข้อ 10 ว่ามี มาตราสำคัญอะไรบ้าง มีแนวฎีกาสำคัญอย่างไร และมีแนวข้อสอบแบบใด เตรียมพร้อมไปในแต่ละข้อ
ซึ่งจะเป็นการเจาะลึกไปในแต่ละข้อ ใน 3 ตอน ถัดไปคือ
ตอนที่ 3 ท่องตัวบท
ตอนที่ 4 จดฎีกา
ตอนที่ 5 ล่าข้อสอบ

ถ้าเปรียบกับการสอบเนติบัณฑิต กับการทำศึกสงคราม
-ท่องตัวบท คือ อาวุธ ที่เรา สะสมไว้ ต่อสู้ ยิ่งท่องตัวบทได้มาก ก็ มีอาวุธ เก็บไว้สำรองมาก หยิบใช้เมื่อไรก็ได้
-จดฎีกา คือการ ศึกษาแผนการรบว่าสถานการณ์แบบใดเราควรจะใช้อาวุธแบบใด ยิ่งจดจำฎีกาไว้มาก ก็มีแนวการตอบข้อสอบได้ตรงจุด ตรงประเด็น ได้มาก และไม่โดนข้อสอบหลอกล่อให้หลงทาง
-ล่าข้อสอบ คือ การหัดซ้อมรบก่อน เข้าสู้ศึกสงครามสนามสอบจริง ยิ่งหัดทำข้อสอบมากเท่าใด ก็เป็นการสั่งสมประสบการณ์การหัดทำข้อสอบมากขึ้นทำให้ จับประเด็นและเขียนตอบได้เร็วและทันเวลา
ซึ่งผมขอแยกอธิบายไปในแต่ละส่วน ในตอนถัดๆไป   



ทำอย่างไรถ้าอยากเป็นเนติบัณฑิต (เทคนิคการสอบเนติฯให้ผ่าน ภายใน 1 ปี)…ตอนที่ 3 ท่องตัวบท 
ตอนที่ 3 ท่องตัวบท
การท่องตัวบท เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการเรียน ในระดับการเรียนเนติ เราไม่จำเป็น ต้องท่องทุกมาตรา
กฎหมายอาญา มีทั้งหมด 398 มาตรา แต่มาตราสำคัญๆ มีประมาณ 120 มาตรา
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีทั้งหมด 1755 มาตรา แต่มาตราสำคัญๆ มีประมาณ 300 มาตรา
กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มีทั้งหมด 323 มาตรา แต่มาตราสำคัญๆ มีประมาณ 100 มาตรา
กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีทั้งหมด 267 มาตรา แต่มาตราสำคัญๆ มีประมาณ 100 มาตรา
กฎหมายพิเศษ เน้นความสำคัญ เป็นครั้งๆไปในแต่เทอม ประมาณ ข้อละ 20 มาตรา

เรามาดูกันก่อนว่า มาตราสำคัญๆที่ออกสอบ ในแต่ละข้อมี อะไรบ้าง
แนวข้อสอบมาตราสำคัญที่เคยออกในรอบ 10 กว่า ปี ประมวลกฎหมายอาญา

ข้อ 1. ม.1-58,107-208
ม.4,5,6,7-9,10,11,27,29,30,32,33,34,36,56,58,136,137,138,139,140
ม.143-149,152,157,158,161,162,165,167,172-175,177,179,181,184
ม.188-191,192,199,200,204,205

ข้อ 2. + ข้อ 3. ม.59-106
ม.58-62,63,67,68,69,72,80-84,85,86,87,88,92,105

ข้อ 4. ม.209-287
ม.209-213,217,218,219,220,221,222,223,224,225,233,236,240,244,247
ม.264-268,276,282,286

ข้อ 5. + ข้อ 6. ม.288-366
ม.288-291,294,295,297,299,301,302,303,304-308,309,310,311,313,315
ม.316,319,326,334-341,349,350,352,353,354,355
ม.357-360,362,363,364,365,372,392 ลหุโทษ

กฎหมายพิเศษ เน้น ความสำคัญเป็นครั้งๆ ตามคำบรรยาย
ข้อ 7. กฎหมายภาษี ประมวลรัษฎากร
ม.39,40(1)(2)(3)(4)(5)(6)(7),42(9)(10)(13)(14),47(1)(ค)(ฉ),56ว.หนึ่ง,57เบญจว.สอง(2),65ตรี(1)-(20) ,70,77/1, 77/2,(15), 77/2(1), 78/1(3),81(1)ก ต,82/3ว.หนึ่ง,82/4ว.หนึ่ง,83/6,91/2(6),307ว.สอง,310ว.สอง,337ว.สอง

ข้อ 8. กฎหมายแรงงาน
- พรบ.แรงงานสัมพันธ์ ม. 5,10ว.สอง,21,22ว.สอง,34(1),123(4)
- พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ม.17ว.สาม,61,118,119(4)(5),123
- พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ม.8,49
- พ.ร.บ.เงินทดแทน ม.5,20
- หลักความเสมอภาคตาม รธน.40 สิทธิการสมัครงาน ชาย/หญิง

ข้อ 9. กฎหมายรัฐธรรมนูญ
ความเป็นกฎหมายสูงสุดของ รัฐธรรมนูญ และอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
ม.141 ,154,211,245,257,212,185, ม.91,92,265, 182,233, ม.68,237,ม.141,29 ว.2 ,154,150,151,155
ม.139 ,.147 ,211,212 ,ม.211,245(1),257(2),184 ว.3,186 ว.2 ,185 ,184-185,186,214,190,65 ว.3,237
คดีพิเศษในศาลรัฐธรรมนูญ
ม.275,263 ว.1 ,275,262 ว.2,249,275 ว.4,278 ว.3,219 ว.3,239,277 ว.ท้าย,131

ข้อ 10. กฎหมายปกครอง
- พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ปี2539 ม.3,5,9,30ว.สอง,52
- พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ม.3,9(1)(3)(4)ว.หนึ่ง

--------------------------------------------------------------------------------

แนวข้อสอบมาตราสำคัญที่เคยออกในรอบ 10 กว่า ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ข้อ 1. ทรัพย์-ที่ดิน
ม.144,145,146,1299,1300,1304,1306,1308,310-1312,1314,1330,1331, 1332
ม.1336,1349,1350,1357,1359,1361,1367,1374,1375,1377,1378,1382,1387
ม.1391,1396,1400,1401

ข้อ2. + ข้อ 3.นิติกรรม-สัญญา-หนี้-ละเมิด
นิติกรรม ม.150,151,152,154,155,166,168,169,172,173,176
สัญญา ม.354-361,366,367,369-372,374,375,377,378,380,381,386-391
หนี้ ม.195,203,204,213,215,216,217,218,219,223,226,227,228,233-240,290,291,293,295,296,301,305,306,308,340,341,344,349,351
ละเมิด ม.420,425-430,432,433,434,436,437,438,443,444,446,448

ข้อ 4. ซื้อขาย-ขายฝาก-เช่าทรัพย์-เช่าซื้อ
ซื้อขาย ม.454,456,458,459,460,475,479,481,485
ขายฝาก ม.492,494,496,497,499,502
ขายทอดตลาด ม.509,513,514
เช่าทรัพย์ ม.538,โยงกับเช่าต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่า,544,545, 549, 552, 554,560,564,566,569,570
เช่าซื้อ ม.572,573,574

ข้อ 5. ยืม-ค้ำประกัน-จำนอง-จำนำ
ยืม ม.643,653
ค้ำประกัน ม.680,681,682,685,686,691,693,694,697,698,700,701
จำนอง ม.702,705,708,709,711,712,714,722,728,730,733,735,744-746
จำนำ ม.747,764,767,769

ข้อ 6. ตัวแทน-ประกัน-ตั๋วเงิน
ตัวแทน ม.798,821
ประกันภัย ม.863,865,867,875,877,879,880,887,888,895
ตั๋วเงิน ม.899,900,904,905,910,914,915,916,917,919,920,921,938,940,967,971,989,990,991,994,999,
1000-1003,1006,1007,1008

ข้อ 7. ห้างหุ้นส่วน-บริษัท
ห้างหุ้นส่วน ม.1012,1025,1026,1038+1066+1067,1049,1050,1054,1055, 1056,1057,1060,1061,1065-1069,1070, 1072, 1079,1080-1082,1084,1086, 1087,1088,1090,1091,1095
บริษัท ม.1096,1105,1108-1114,1119,1120,1121,1122,1129,1133,1144, 1145,1151,1154,1155,1167-1169, 1173, 1174, 1176, 1178,1184,1185,1194,1195, 1220, 1224,1225

ข้อ 8. ครอบครัว-มรดก
ครอบครัว ม.1435,1437,1439,1440,1441,1446,1448,1452,1453,1457,1461, 1465,1466,1469,1471, 1481,1488-1490,1495, 1496,1499,1500,1504,1511,1513,1514, 1517,1521-1524,1526,1531-1534,1536,1537,1547,1548,1557,1558,1562,1567, 1569,1571,1574,1582,1585,1598/28-30,1598-37-38
มรดก ม.1599,1600,1605,1606,1607,1609,1612,1613,1614,1615,1617,1620, 1622,1624,1625,1627, 1629,1630,1635, 1636,1639,1642-1647,1651,1652, 1653,1656, 1657 ,1660,1665,1674, 1681,1696,1699,1700, 1705,1733,1745,1748, 1750,1754,1755

กฎหมายพิเศษ เน้น ความสำคัญเป็นครั้งๆ ตามคำบรรยาย
ข้อ 9. การค้าระหว่างประเทศ
ม.3,4,10,17 ว.หนึ่ง(2),26,28,33,34(2),39 ว.หนึ่ง-สอง,40(3),44,52(1) (13) ,58 ว.หนึ่ง,59(1)

ข้อ 10. ทรัพย์สินทางปัญญา
- พ.ร.บ.สิทธิบัตร 2522 ม.3,10 ว.หนึ่ง,19,36 ว.หนึ่ง-สอง(1)(2),62ว.สอง,65,65ทวิ-ทศ
- พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า 2534 ม.4,6,7 ว.สอง(2),8(9),13,44,46,109
- พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2537 ม.4,6ว.หนึ่ง,10,22,27,29(2),31(1),44,60,69 ว.สอง,70 ว.สอง

--------------------------------------------------------------------------------
แนวข้อสอบมาตราสำคัญที่เคยออกในรอบ 10 กว่า ปี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ข้อ 1+ข้อ 2 วิ.แพ่ง ภาค 1
-เขตอำนาจศาล ม.2,3,4,4 ทวิ,4 ตรี,5,7,10
-อำนาจและหน้าที่ศาล ม.18,23,24,27
-การนั่งพิจารณา ม.42,43,44
-คู่ความ ม.55,56,57,58,59
-ข้อความและผลแห่งคำพิพากษาและคำสั่ง ม.142,143,144,145,146,147,148
-การดำเนินคดีอนาถา ม.155,156,157,158,159

ข้อ 3+ ข้อ 4 วิแพ่ง ภาค2
-วิธีพิจารณาสามัญในศาลชั้นต้น ม.172,173,174,175,176,177,178,179,180,182,183
-คดีมโนสาเร่ ม.189,191,192,193,194,195,196
-ขาดนัดยื่นคำให้การ ม.197,198,198 ทวิ,198 ตรี,199,199ทวิ,199 ตรี, 199 จัตวา,199 เบญจ
-ขาดนัดพิจารณา ม.200,201,202,203,204,205,206,207

ข้อ 5 วิ.แพ่ง ภาค 3
-อุทธรณ์ ม.223,223ทวิ,224,225,229,230,231
-อุทธรณ์คำสั่ง ม.226,227,228
-ฎีกา ม.247,248,249,252

ข้อ 6+ข้อ 7 วิแพ่ง ภาค 4
-วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ม.253,253ทวิ,254,255,260,264,266,267
-การบังคับคดีตามคำพิพากษา ม.271,272,273,274,275,280,287,288,289,290,291, 292, 293,296

ข้อ 8 พ.ร.บ.ล้มละลาย
ม.8(5)(9),9,10,13,14,22,24,27,45,56,60,61,63,88,89,91,94,102,105, 106,07,108,111,114,115,119,122,124,135,136,146

ข้อ 9 พ.ร.บ.ล้มละลาย (ในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ)
ม.90/12(4)(6),90/17,90/42,90/42ทวิ,ตรี,90/45,90/46,90/48,90/56,90/58, 90/60,96/76

ข้อ 10 ระบบศาลและพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ม.9,11(1),(2),13,14,17,24,25,26,27ว.2,28,29,30,31

--------------------------------------------------------------------------------
แนวข้อสอบมาตราสำคัญที่เคยออกในรอบ 10 กว่า ปี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ข้อ 1 +ข้อ 2 +ข้อ3 วิ.อาญา ภาค 1-2
-ผู้เสียหาย ม.2(4),3,4,5,6,8
-อำนาจสอบสวน ม.2(7),2(11),2(17),15,18,19,20
-อำนาจศาล ม.22,23,24,25,26,27
-การฟ้องคดีอาญา ม.28,29,30,31,32,33,34,35,36,37,38,39
-การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ม.40,43,44,44/1,44/2,46,47,51,66,67
-สอบสวน (หลักทั่วไป) ม.120,121,123,124,126,129
-การสอบสวนสามัญ ม.130,131,132,133,133ทวิ,133ตรี,134,137/1,134/2,134/3,13/4,135,136,140,141, 142,143, 144, 145,146,147
-การชันสูตรพลิกศพ ม.148,149,150

ข้อ 4 +ข้อ5 วิ.อาญา ภาค 3-4
-ฟ้องคดีอาญาและไต่สวนมูลฟ้อง ม.157,158,159,160,161,162,163,164,165,166, 167,170,171
-การพิจารณา ม.172,172 ทวิ,177ทวิ,173,173/1,173/2,174,175,176,181
-คำพิพากษา และคำสั่ง ม.182,183,185,186,190,192
-อุทธรณ์ ม.193,193ทวิ,193ตรี,194,195,196,198,,198ทวิ,199,202
-การพิจารณาคำพิพากษาและคำสั่งชั้นศาลอุทธรณ์ ม.208,212,213,215
-ฎีกา ม.216,217,218,219,219ทวิ,219ตรี,220,221,222,225

ข้อ 6 สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม ม.7/1
-หมายเรียกและหมายอาญา ม.52, 55/1,57,59,59/1,66,69,77,78,79,80,81,81/1,83, 84,84/1, 85,87,92,93,94,96

ข้อ 7 พยานคดีแพ่ง
ม.84,84/1,87,88,90,93,94,118,125,183

ข้อ 8 พยานคดีอาญา
ม.15,83,84,134,173/1,226,228,229/1,230,232,237,237ทวิ,238,239,240

ข้อ 9 ว่าความและถามพยาน ร่างคำฟ้อง,คำให้การ,คำขอ,คำร้อง,คำแถลง

ข้อ 10 การจัดทำเอกสารทางกฎหมาย ร่างกฎหมาย นิติกรรมสัญญา พินัยกรรม

เมื่อเรามี มาตราสำคัญ ที่ ต้องท่องจำให้ได้แล้ว สิ่งสำคัญ คือการจดจำ ถ้อยคำ ที่เรียกว่า ภาษากฎหมาย เพื่อเวลา เราตอบกฎหมาย แม้จะ ตอบโดยมีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ถ้าใช้ถ้อยคำ ธรรมดา แบบภาษาพูด กับ ถ้อยคำ ที่เป็นคำในตัวบทกฎหมาย คะแนนที่ได้ จากการสอบ จะไม่เท่ากันแม้ ความหมายจะเหมือนกันก็ตาม
ส่วนการท่องจำนั้น ต้องแล้วแต่ สไตล์ใคร สไตล์คนนั้น ครับ ภาษาทางพุทธศานา เรียกว่า แล้วแต่จริต ของแต่ละคน
บางท่าน ท่องทั้งมาตรา
บางท่าน ท่องใส่ MP3 แล้วเสียบหูฟัง ท่องตาม
บางท่าน ท่องแบบย่อ เช่น ไล่สาย ของท่าน อ.วินัย เลิศประเสริฐ
บางท่าน ท่องเป็นกลอน คำคล้องจอง
บางท่าน ท่องไปเขียนไป
เลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมกับตัวเองครับ ที่สำคัญคือ ทำสม่ำเสมอครับ อย่าไปโหมท่องทีเดียว ตอนใกล้สอบ เตรียมตัวให้ดี ตอนเริ่มเรียน มีเวลา 16 สัปดาห์ ตั้งแต่เปิดเทอม ท่องตัวบทวันละ 2 มาตรา ทันแน่นอนครับ
--วิธีการส่วนตัวของผม ท่องจำเป็นชุดครับ โดยจะจำเลขมาตรา และ ชื่อเรื่อง มาตรานั้นๆก่อนครับ
เช่น ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
ม.334 ลักทรัพย์ ม.335 เหตุฉกรรจ์ ม.335ทวิ พระพุทธรูป ม.336 วิ่งราว ม.336 ทวิ ทหาร-ระเบิด-รถ ม.337 กรรโชก
ม.338 แบล็คเมล์ม.339 ชิง ม.339 ทวิ ชิง + ม.335 ทวิ ม.340 ปล้น ม.340 ทวิ ปล้น + ม.335ทวิ ม.340 ตรี 339...340 + ม.336 ทวิ
หรือ ชุดอาญา ข้อ 2-3
ม.59 เจตนา ประมาท ม.60 พลาด ม.61 สำคัญผิดในตัวบุคคล ม.62 สำคัญผิดในข้อเท็จจริง ม.63 ผลธรรมดา
ม.64 ไม่รู้กฎหมาย ม.65 จิตฟั่นเฟือน ม.66 เสพสุรา ม.67 จำเป็น ม.68 ป้องกัน ม.69 เกินกว่าเหตุ ม.70 คำสั่ง เจ้าพนักงาน
ม.71 ลักทรัพย์ผัวเมีย ม.72 บันดาลโทสะ
พอจำได้ว่า เลขมาตราไหน ชื่อเรื่องอะไรแล้วจะค่อย ท่องจำถ้อยคำในแต่ละมาตรา อีกทีครับ
ตอนที่เตรียมตัวสอบ ผมท่องทุกวัน ตื่นเช้าก็ท่อง เข้าห้องน้ำก็ท่อง อาบน้ำก็ท่อง เดินทางไปที่ไหน ถ้ามีเวลาว่างก็ท่อง ก่อนนอนก็ท่อง เพราะการท่องจำ ไม่ต้องการสมาธิ เหมือนกับการอ่านหนังสือเรียน จำให้ได้ในแต่ละมาตรา ตั้งกำหนดไว้ 1 อาทิตย์นี้ เราต้องท่องมาตราชุดนี้ให้จบ
ในวันสอบ อาญา มาตราสำคัญ ประมาณ 200 มาตรา (รวมกฎหมายพิเศษ 4 ข้อด้วย) หรือ วันสอบแพ่ง มาตราสำคัญ ประมาณ 200 มาตรา (รวมกฎหมายพิเศษ 2 ข้อด้วย) ผมจำได้ ทั้งเลขมาตรา ชื่อมาตรา และ บทบัญญัติในมาตรานั้น (อาจจะไม่ตรงตัวบทเป๊ะ 100 % แต่เก็บถ้อยคำกฎหมายที่สำคัญ ได้ทั้งหมด)
แต่อนิจจา หลังจากสอบเสร็จแล้ว มาเตรียมตัวเรียนเทอม 2 วิแพ่ง วิอาญา ความจำ ส่วนนี้ก็เลือนๆไป อุทาหรณ์ เรื่องนี้ คือ แม้จะสอบผ่านไปแล้วก็ ท่องจำไว้อย่างสม่ำเสมอครับ
ท่าน อ. ท่านหนึ่ง ที่ สอน กฎหมายที่เนติบัณฑิต กล่าวไว้ว่า
“เรียนกฎหมาย ถ้าไม่ทบทวน 3 วัน เลือน 3 เดือน ลืม 3 ปี เรียนใหม่ ครับ “
ซึ่งผมเห็นด้วยกับท่าน อ. ครับ
เมื่อรู้ท่องตัวบท มาตราสำคัญ ในแต่ละข้อแล้ว ตอนต่อไปคือ จดจำฎีกา ในแต่ละมาตราเหล่านั้นครับ  


ขอบคุณ รุ่นพี่  Na-KhonWan You'll Never Walk Alone  

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ15 เมษายน 2556 เวลา 11:08

    เยี่ยมมากครับ ขอบคุณท่านมากครับ

    ตอบลบ
  2. แล้วตอนที่ 4 กับ 5 ล่ะครับ...^^

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณมากครับผม เป็นประโยชน์มากๆเลยครับ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ26 สิงหาคม 2556 เวลา 01:08

    สวดยอด

    ตอบลบ

บทความที่ได้รับความนิยม