วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

กฎหมายวิธีสบัญญัติ 2 : วิธีพิจารณาความแพ่งและกฎหมายล้มละลาย

วิธีพิจารณาสามัญในศาลชั้นต้น (1) วิธีพิจารณาสามัญในศาลชั้นต้น (2) คดีมโนสาเร่และอนุญาโตตุลาการ การพิจารณาโดยขาดนัด อุทธรณ์และฎีกา วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง (1) การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง (2) วิธียึดทรัพย์ อายัดทรัพย์และการจ่ายเงิน กระบวนการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย กระบวนการภายหลังคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ การหลุดพ้นจากภาวะล้มละลายและการพิพากษาให้ล้มละลาย วิธีการขอรับชำระหนี้และการจัดทรัพย์สินของลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อำนาจศาล และกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย (1) การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย (2)
สรุปย่อ - กฎหมายล้มละลาย (ชมรมนศ.มสธ.ราชบุรี).pdf




สรุปกฎหมายวิธีสบัญญัติ 2
กฎหมายวิธีสบัญญัติ 2 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และกฎหมายล้มละลาย
หน่วยเน้น หน่วยที่ 1,2,5,6,7,12,13
เนื้อหาของกฎหมายวิธีสบัญญัติ 2 ที่นำมาออกข้อสอบได้ มี 3 กลุ่มดังนี้



กลุ่มที่ 1 เรื่องการดำเนินกระบวนการพิจารณาในศาลชั้นต้น (หน่วยที่ 1 และ 2)


1. คำฟ้อง มาตรา 172 วรรค 2 คำฟ้องต้องประกอบด้วยข้อหา คำขอบังคับ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งเรียกว่า ฟ้องเคลือบคลุม


2. ฟ้องซ้อน มาตรา 173 วรรค 2(1) เมื่อคดีอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณา ห้ามโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น ให้แยกความแตกต่างออกจากฟ้องซ้ำและการดำเนินกระบวนการพิจารณาซ้ำ ให้ระวังเวลาฟ้องแย้ง เพราะจำเลยมีฐานะเป็นโจทก์ในฟ้องแย้ง ส่วนโจทก์ก็มีฐานะเป็นจำเลยในฟ้องแย้ง ดังนั้นจำเลยในคดีแรกจึงต้องห้ามมิให้ฟ้องซ้อนตามมาตรา 173 วรรค 2(1) ด้วยเพราะมีฐานะเป็นโจทก์ในฟ้องแย้ง


3. ทิ้งฟ้อง มาตรา 174 มี 2 กรณี อ้างวรรคให้ถูกต้อง การทิ้งอุทธรณ์ และทิ้งฎีกามีได้ ต้องอ้างมาตรา 174(2)


4. ถอนฟ้อง มาตรา 175 มี 2 กรณีคือก่อนจำเลยยื่นคำให้การ และกรณีที่จำเลยยื่นคำให้การแล้วซึ่งต้องถามจำเลยก่อน


5. มาตรา 176 ผลของการทิ้งฟ้องและถอนฟ้อง ให้คู่ความกลับสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการยื่นฟ้องกันเลย ให้ดูฎีกาด้วยว่าถ้าโจทก์แถลงว่าไม่ติดใจที่จะยื่นฟ้องต่อไป ก็เป็นการผูกพันโจทก์ โจทก์ไม่สามารถยื่นคำฟ้องใหม่ได้


6. การยื่นคำให้การของจำเลย มาตรา 177 วรรค 1 และวรรค 2 คำให้การของจำเลยต้องมีข้อความแห่งการรับหรือการปฏิเสธ ถ้าปฏิเสธต้องมีเหตุแห่งการปฏิเสธ มิฉะนั้นจะถือว่าจำเลยรับและไม่มีประเด็นที่จะนำสืบ


7. ฟ้องแย้ง มาตรา 177 วรรค 3 และมาตรา 179 วรรคท้าย ฟ้องแย้งต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาด้วยกันได้ ให้ฟ้องแย้งมาในคำให้การ การที่จะมีฟ้องแย้งได้ต้องมีฟ้องเดิมอยู่ก่อน แต่ถ้าภายหลังฟ้องเดิมตกไปไม่ว่าด้วยเหตุใดๆก็ตาม ฟ้องแย้งนั้นก็ยังมีอยู่ ศาลสามารถพิจารณาพิพากษาตามฟ้องแย้งที่มีอยู่ได้


8. การแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องและคำให้การ ตามมาตรา 178 และมาตรา 179 ให้ดูกรณีว่ากรณีใดเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง และกรณีใดเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ (ซึ่งสามารถทำได้ยืดหยุ่นกว่าการแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง)


9. มาตรา 180 ระยะเวลาในการแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องและคำให้การ แยกว่าเป็นคดีที่ต้องมีการชี้สองสถานหรือไม่ ถ้าไม่มีการชี้สองสถานให้นับระยะเวลาเทียบกับวันสืบพยาน


10. มาตรา 188 เรื่องการดำเนินคดีไม่มีข้อพิพาท มีหลัก 4 ประการตามมาตรา 188(1)-(4) โดยปกติจะใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ แต่มีข้อยกเว้นตามมาตรา 188(3) ถ้ามีผู้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก็ให้ดำเนินคดีแบบมีข้อพิพาท ดังนั้นจึงต้องอ้างตัวบทที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบมีข้อพิพาทไปด้วย
ในการตอบข้อสอบในกลุ่มที่ 1 นี้ อย่าลืมอ้างคำนิยามในมาตรา 1 โดยเฉพาะ คำฟ้อง คำให้การ การดำเนินกระบวนพิจารณา วันสืบพยาน คู่ความ จะทำให้ได้คะแนนเพิ่มขึ้น
การดำเนินคดีมโนสาเร่ และการพิจารณาโดยขาดนัด ไม่นำมาออกเป็นข้อสอบอัตนัย



กลุ่มที่ 2 เรื่องอุทธรณ์ ฎีกา วิธีการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา และการบังคับคดี


1. อุทธรณ์ ฎีกา มีมาตราที่ควรให้ความสนใจดังนี้ (หน่วยที่ 5)


1.1 มาตรา 223 กรณีที่สามารถอุทธรณ์ได้ ถือเป็นหลักทั่วไป ถ้าไม่มีกฎหมายห้ามถือว่าอุทธรณ์ได้ทุกกรณี ผู้ที่อุทธรณ์ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะคู่ความในศาลชั้นต้นเท่านั้น ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในคดีก็สามารถอุทธรณ์ได้ มีข้อยกเว้นที่ไม่ให้อุทธรณ์ตามมาตรา 223 อยู่ 4 กรณี


1.2 มาตรา 224 เรื่องการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แยกให้ได้ว่าอะไรเป็นปัญหาข้อเท็จจริง อะไรเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ปัญหาข้อกฎหมายอุทธรณ์ได้เสมอ ปัญหาข้อเท็จจริงต้องพิจารณาว่าทุนทรัพย์เกิน 50,000 บาทหรือไม่ ดูคดีเกี่ยวกับการเช่าอสังหาริมทรัพย์ คดีที่เกี่ยวกับสภาพบุคคลและสิทธิในครอบครัวว่ามีความหมายอย่างไร ดูว่าแม้เป็นคดีที่ทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาทจะทำอย่างไรถึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ซึ่งมีอยู่ 3 วิธี


1.3 มาตรา 225 ประเด็นที่จะอุทธรณ์ได้นั้นต้องมีการว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ยกเว้น 3 กรณี


1.4 มาตรา 226, 227, 228 การอุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณา คำสั่งระหว่างพิจารณา หมายถึง คำสั่งที่ไม่ทำให้คดีเสร็จไปจากสำนวน คู่ความที่ประสงค์จะอุทธรณ์ต้องทำการโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ก่อน ซึ่งเป็นหลักทั่วไปตามมาตรา 226 มีข้อยกเว้นว่าถึงแม้จะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาก็สามารถอุทธรณ์ได้ทันทีโดยไม่ต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ก่อน ตามมาตรา 227, 228 ซึ่งจะต้องเข้าใจมาตรา 18 เรื่องการรับหรือไม่รับคำคู่ความของศาล และมาตรา 24 เรื่องการชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายด้วย ให้ดูประเด็นในเรื่องร้องสอดตามมาตรา 57 ด้วยว่าการร้องสอดในกรณีมาตรา 57(3) นั้นเป็นกรณีของคำสั่งระหว่างพิจารณา ดังนั้นคู่ความที่ไม่เห็นด้วยในการร้องสอดต้องโต้แย้งคำสั่งให้มีการร้องสอดไว้ก่อน จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้


1.5 มาตรา 229 ระยะเวลาที่ให้อุทธรณ์ได้ นับกำหนดระยะเวลา 1 เดือน ไม่ใช่ 30 วัน โดยต้องยื่นอุทธรณ์ต่ศาลชั้นต้น แม้เป็นฝ่ายที่ชนะคดีในศาลชั้นต้นก็ตาม ก็อาจใช้สิทธิอุทธรณ์ได้


1.6 มาตรา 246, 247 เรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ถ้าไม่ได้กำหนดไว้ให้นำกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นมาใช้บังคับ


1.7 มาตรา 248 เรื่องการฎีกาในข้อเท็จจริงและการฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ต่างกันที่เรื่องทุนทรัพย์ว่าถ้าไม่เกิน 200,000 บาท ห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง


2. วิธีการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา (หน่วยที่ 6)


2.1 การคุ้มครองจำเลยชั่วคราว ตามมาตรา 253 ซึ่งเป็นการคุ้มครองจำเลยในศาลชั้นต้น และมาตรา 253 ทวิ เป็นการคุ้มครองจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์และฎีกา ให้ดูว่าศาลใดมีอำนาจสั่งให้มีการคุ้มครองจำเลยชั่วคราว


2.2 การคุ้มครองโจทก์ชั่วคราว ตามมาตรา 254 ให้ดูกรณีที่โจทก์มีอำนาจร้องขอให้มีการคุ้มครองโจทก์ชั่วคราวได้ ซึ่งมี 4 กรณี โจทก์สามารถขอคุ้มครองชั่วคราวได้ทุกชั้นศาล ให้ดูว่าต้องยื่นที่ศาลใด และศาลใดมีอำนาจในการสั่งคุ้มครองโจทก์ชั่วคราว ซึ่งจะมีความแตกต่างจากมาตรา 253 และมาตรา 253 ทวิ


2.3 การคุ้มครองคู่ความชั่วคราวระหว่างการพิจารณา ตามมาตรา 264 ให้ดูกรณีอื่นๆที่อาจขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราวนอกจากที่ยกตัวอย่างไว้ในมาตรา 264 ด้วย


3. การบังคับคดี (หน่วยที่ 7 และ 8)


3.1 มาตรา 271 ระยะเวลาในการขอบังคับคดี ต้องเข้าใจว่าระยะเวลา 10 ปีที่นับตั้งแต่วันมีคำพิพากษานั้นไม่ใช่อายุความ การขอบังคับคดีนั้นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 271, 275 และมาตรา 276 ครบถ้วนแล้วจึงจะถือว่ามีการขอบังคับคดีโดยชอบแล้ว


3.2 มาตรา 275 และมาตรา 276 เป็นเรื่องรายการในคำขอบังคับคดี และขั้นตอนในการขอบังคับคดี


3.3 มาตรา 285 และมาตรา 286 เป็นเรื่องของทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องที่ไม่อยู่ในข่ายของการบังคับคดี ดูมาตรา 285(4) เรื่องทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในข่ายของการบังคับคดี เช่น สิทธิการเช่าซึ่งถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่โอนไปยังทายาท ให้ดูความหมายของการยึด และการอายัด ดูว่ากรณีใดที่ใช้การยึด กรณีใดที่ต้องใช้การอายัด


3.4 มาตรา 287, 288 (หน่วยที่ 8)เรื่องการขอกันส่วน และการร้องขอขัดทรัพย์ (การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด) แยกความแตกต่างให้ได้ ดูประเด็นของการร้องขอขัดทรัพย์ซึ่งต้องมีประเด็นเดีวคือการโต้แย้งว่าทรัพย์ที่ถูกยึดนั้นเป็นของผู้ร้อง


3.5 มาตรา 290 เรื่องการร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ (หน่วยที่8) โดยปกติเมื่อมีการยึดหรืออายัดทรัพย์ใดแล้ว จะทำการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไม่ได้ ได้แต่ร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ ให้ดูต่อไปถึงกรณีของเจ้าหน้าที่ภาษีอากรที่มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพื่อค่าภาษีอาการค้าง ว่ากรณีใดที่สามารถยึดหรืออายัดได้เลย กรณีใดที่ต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ ดูระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ตามวรรค 4-6


กลุ่มที่ 3 กฎหมายล้มละลาย เข้าใจว่าหน่วยเน้นยังคงเป็นหน่วยที่ 12, 13 เหมือนเดิม มีมาตราที่ควรให้ความสนใจดังนี้ คือ มาตรา 91, 92, 94*****(หนี้ที่นำมาขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย), 95 (การขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้มีประกัน), 96, 100, 101**(การไล่เบี้ยลูกหนี้ในคดีล้มละลาย), 102(การขอหักกลบลบหนี้ในคดีล้มละลาย), 109**(ทรัพย์สินที่นำมาขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย), 110, 111(การยึดทรัพย์ในกรณีที่มีการยึดทรัพย์ทั้งในคดีแพ่งและคดีล้มละลาย), 113, 115, 134, 135, 136 (การขอยกเลิกจากการล้มละลาย)


อย่าลืมดูคำนิยามต่างๆ ตามมาตรา 6 ด้วย เช่น เจ้าหนี้มีประกัน พิทักษ์ทรัพย์(หมายถึงการพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวและการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด มติ มติพิเศษ)
ข้อสอบของกฎหมายวิธีสบัญญัติ 2 ค่อนข้างยากทั้งอัตนัย และปรนัย คำถามหลอกล่อมากๆ ต้องเข้าใจเนื้อหาอย่างดี อย่าลืมดูคำพิพากษาฎีกาในเอกสารการสอนด้วยเพราะนำมาออกเป็นข้อสอบได้เสมอๆ โชคดีครับ


วิ 2 เป็นวิชาที่ค่อนข้างยาก มีข้อแนะนำในการอ่านเอกสารการสอนดังนี้
1. หน่วยที่ 1 อ่านในเอกสารได้


2. หน่วยที่ 2 มาตราที่แก้ไข ลองอ่านของอาจารย์ไพโรจน์ วายุภาพ ในหนังสือวิธีพิจารณาความสามัญในศาลชั้นต้น


3. หน่วยที่ 3และ 4 เรื่องคดีมโนสาเร่ และวิธีพิจารณาความโดยขาดนัด อ่านในหนังสือวิธีพิจารณาความมโนสาเร่ และการพิจารณาความโดยขาดนัด ของอาจารย์ไพโรจน์ วายุภาพ ส่วนเรื่องอนุญาโตตุลาการ อ่านในเอกสารการสอนได้


4. หน่วยที่ 5 อุทธรณ์ ฎีกา อ่านในเอกสารการสอนพร้อมใบแทรกได้


5. หน่วยที่ 6 วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนคำพิพากษา อ่านในหนังสือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนคำพิพากษา และการบังคับคดี ของอาจารย์ประจักษ์ พุทธิสมบัติ หรือของอาจารย์พิพัฒน์ จักรางกูร ก็ได้


6. หน่วยที่ 7 หลักทั่วไปในการบังคับตามคำพิพากษา และคำสั่ง บทมาตราที่แก้ไข ให้อ่านในหนังสืออ่านในหนังสือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนคำพิพากษา และการบังคับคดี ของอาจารย์ประจักษ์ พุทธิสมบัติ หรือของอาจารย์พิพัฒน์ จักรางกูร ก็ได้


7. หน่วยที่ 8-9 อ่านในเอกสารการสอนได้


8. หน่วยที่ 10 -14 กฎหมายล้มละลาย อ่านในเอกสารการสอนได้ ยกเว้นบทมาตราที่แก้ไข ให้อ่านของอาจารย์เอื้อน ขุนแก้ว กฎหมายล้มละลายของเนติบัณฑิตยสภา หรือของอาจารย์วิชา มหาคุณ ก็ได้


9. หน่วยที่ 15 หลักในการดำเนินคดีแพ่ง ส่วนที่เป็นมาตราที่สัมพันธ์กับ วิ. 1 และวิ 2 จะเป็นตัวบทเก่า ให้ทบทวนเอกสารการสอนที่เกี่ยวข้องกับตัวบทนั้นๆ
ตัวบทที่มีการแก้ไข จะไม่นำมาออกเป็นข้อสอบ แต่เราควรศึกษาตามตัวบทที่แก้ไขใหม่ เพื่อการนำไปใช้ และการศึกษาต่อครับ
ถ้าเป็นฉบับย่อ ลองอ่านหนังสือหลักกฎหมายวิธีสบัญญัติ 2 ของอาจารย์สถิตย์ เล็งไธสง เป็น pocket book อ่านเข้าใจได้ไม่ยาก แต่รายละเอียดไม่มากครับ



ที่มา   http://nitistou.wordpress.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม