วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

กฎหมายวิธีสบัญญัติ 1 : หลักทั่วไปในวิธีพิจารณาความแพ่ง


          ขั้นตอนการดำเนินคดีแพ่ง พระธรรมนูญศาลยุติธรรม คู่ความและการเสนอคดีต่อศาล เขตอำนาจศาล การคัดค้านผู้พิพากษา คำคู่ความและเอกสาร อำนาจและหน้าที่ของศาล หลักทั่วไปว่าด้วยการชี้ขาดตัดสินคดีการชี้ขาดตัดสินคดี คำพิพากษาและคำสั่ง ผลแห่งคำพิพากษาและคำสั่ง ค่าฤชาธรรมเนียม ข้อพิจารณาเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน ประเด็นในคดีกับพยานหลักฐาน หน้าที่นำสืบ หรือภาระการพิสูจน์ การรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่ง การนำสืบพยานหลักฐาน การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน


สรุปกฎหมายวิธีสบัญญัติ 1
กฎหมายวิธีสบัญญัติ 1 หลักทั่วไปในการพิจารณาความแพ่ง
กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในกฎหมายวิธีสบัญญัติ 1 มีเนื้อหาที่นำมาออกข้อสอบได้ 3 กลุ่ม ดังนี้ (หน่วยเน้น หน่วยที่ 3,5,8,9,10,12)

กลุ่มที่ 1 มาตราที่ควรให้ความสนใจ (หน่วยที่ 3,5)

1. มาตรา 4 **ทั้งหลาย โดยเฉพาะมาตรา 4, 4 ทวิ, 4 ตรี, 4 จัตวา เรื่องเขตอำนาจศาล + มาตรา 2, 3 แยกให้ดีระหว่างคำฟ้อง กับคำร้องขอ และประเด็นในเรื่องคำฟ้องอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 4 ทวิ

2. มาตรา 18* เรื่องการยื่นและตรวจคำคู่ความ ให้ความสนใจเป็นพิเศษในการรับและไม่รับคำคู่ความว่าทำให้คดีนั้นเสร็จเด็ดขาดหรือไม่ หรือเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณา และมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกาได้ทันทีหรือไม่

3. มาตรา 23 เรื่องการยื่นขอขยายระยะเวลา มี 2 กรณี

4. มาตรา 55 เป็นมาตราที่เริ่มต้นในคดีแพ่ง โดยการที่จะฟ้องคดีแพ่งได้ต้องถูกโต้แย้งซึ่งสิทธิ หรือมีกรณีที่จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล

5. มาตรา 56 กรณีที่ความสามารถของผู้ยื่นฟ้องบกพร่อง และการแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้น

6. มาตรา 57** เรื่องการร้องสอด ทำความเข้าใจให้ดีกับการร้องสอดทั้ง 3 กรณี แยกความแตกต่างระหว่างการร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์หรือจำเลยฝ่ายเดียวกันตรมมาตรา 57(2) กับการเป็นคู่ความร่วมตามมาตรา 59

7. มาตรา 58** เรื่องผลของการร้องสอดทั้ง 3 กรณี ให้ความสนใจในเรื่องสิทธิที่ได้จากการร้องสอดว่าเท่าเทียมหรือเหนือกว่าคู่ความเดิมอย่างไร

8. มาตรา 59** เรื่องคู่ความร่วม ดูเรื่องกรณีที่จะเข้ามาเป็นคู่ความร่วม และผลของการเป็นคู่ความร่วม

9. มาตรา 60 เรื่องการตั้งผู้แทนในการดำเนินคดี และการตั้งทนายความ

10. มาตรา 74-77* เรื่องการส่งคำคู่ความและเอกสาร ในกรณีที่ส่งแล้วไม่มีคู่ความรับ หรืออายุยังไม่ถึง 20 ปี

11. มาตรา 78 **และ 79** เรื่องการวางหมาย และการปิดหมาย แยกความแตกต่างให้ได้ และดูด้วยว่าหน้าที่ในการวางหมายหรือการปิดหมาย กรณีใดที่เป็นอำนาจศาล กรณีใดที่เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง

กลุ่มที่ 2 เรื่องคำพิพากษาและคำสั่ง และการดำเนินคดีอย่างคนอนาถา มีมาตราที่ควรให้ความสนใจดังนี้ (หน่วยที่ 8-9)

1. มาตรา 144*** และมาตรา 148*** เรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ และการฟ้องซ้ำ ดูความแตกต่างให้ดี สังเกตได้ว่าในการดำเนินกระบานพิจารณาซ้ำ คดีนั้นยังไม่ถึงที่สุดตามมาตรา 147 แต่มีการวินิจฉัยหรือชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีนั้นแล้ว แต่การฟ้องซ้ำนั้น เป็นกรณีที่คดีนั้นถึงที่สุดตามมาตรา 147 แล้ว ทั้ง 2 กรณีเหมือนกันตรงที่เป็นการห้ามคู่ความเหมือนกัน ให้เปรียบเทียบกับกรณีฟ้องซ้อนตามมาตรา 173 วรรค 2(1) ด้วยซึ่งเป็นการห้ามโจทก์ ไม่ใช่การห้ามคู่ความ

2. มาตรา 145* เรื่องผลของคำพิพากษาหรือคำสั่งว่ามีผลผูกพันคู่ความ ยกเว้น 2 กรณี

3. มาตรา 147 กรณีที่ถือว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นที่สุด

4. มาตรา 155** และมาตรา 156*** เรื่องกรณีการขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ดูขั้นตอน การสาบานตน กรณีที่จะใช้สิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ให้มีการดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่าสามารถใช้สิทธิได้ 2 ประการแต่จะต้องเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 156 วรรค 4 และวรรค 5

กลุ่มที่ 3 เรื่องพยานหลักฐาน ควรให้ความสนใจเรื่องต่างๆ ดังนี้ (หน่วยที่ 10,12)

1. เรื่องหน้าที่นำสืบและภาระการพิสูจน์***

2. มาตรา 84*** สำคัญมาก เป็นหลักของผู้ใดกล่าวอ้าง ผู้นั้นนำสืบ ให้ดูด้วยว่ามีกรณีไหนบ้างที่เป็นการยกเว้นหลักการของผู้ใดกล่าวอ้าง ผู้นั้นนำสืบ แยกความแตกต่างให้ได้ระหว่างหน้าที่นำสืบ หน้าที่นำสืบก่อน และภาระการพิสูจน์

3. มาตรา 93* เรื่องการอ้างเอกสารต้องอ้างต้นฉบับ ยกเว้นอยู่ 3 กรณี ให้ดุมาตรา 93(2) ให้ดีเพราะต้องนำไปใช้ในมาตรา 94 ด้วย

4. มาตรา 94**** สำคัญมากๆ ออกข้อสอบบ่อยที่สุดในเรื่องพยานหลักฐาน เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีพยานเอกสารมาแสดง และข้อยกเว้น การที่จะตอบข้อสอบมาตรา 94 ได้ดี ต้องมีความรู้กฎหมายแพ่งในเรื่องสัญญาต่างๆอย่างดีด้วย ว่าสัญญาแบบไหนต้องทำเป็นหนังสือ ทำเป็นหนังสือ + จดทะเบียน หรือทำหลักฐานเป็นหนังสือ ต้องเข้าใจความหมายของคำว่าไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 94 วรรคท้ายว่าหมายถึงอะไร
ไม่ออกเรื่องพยานบุคคล การมาศาลและการถามพยาน และกฎหมายพยานในส่วนของวิธีพิจารณาความอาญา

ตัวบทของกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่ละมาตราค่อนข้างยาว เวลาตอบข้อสอบให้เลือกเอาเฉพาะส่วนที่จะตอบข้อสอบมาใช้ เช่น ในเรื่องการดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ถามเรื่องว่าผู้ขอดำเนินคดีมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ก็ให้นำมาตรา 156 วรรค 4 และวรรค 5 มาตอบ โดยไม่ต้องตอบมาตรา 156 วรรค 1 และวรรค 2

การเรียนกฎหมายวิธีพิจารณาความนั้น นอกจากความสำคัญจะอยู่ที่ตัวบทแล้ว ส่วนที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งอยู่ในเอกสารการสอน เพราะหลักกฎหมายของวิธีพิจารณาความหลายครั้งเกิดจากการตีความของศาลนั่นเอง หลายครั้งที่ข้อสอบเอาคำพิพากษามาออก ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญด้วย

ที่มา http://nitistou.wordpress.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม