วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

เทคนิค ประสบการณ์ในการเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ประสบการณ์ในการเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ภัทรา อยู่สำราญสุข น.บ. (เกียรตินิยมอันดับ๑) (รามคำแหง) น.บ.ท. (อันดับ๑)
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

การเรียนในปีที่๑ จะเป็นวิชาพื้นฐาน ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าไม่ยากสำหรับคนที่มีความตั้งใจจริง ซึ่งมีขั้นตอนในการเรียนดังนี้คือ


๑. เข้าเรียนสม่ำเสมอในวิชาที่ลงทะเบียนเรียน และระหว่างนั่งเรียนก็จะมีสมุดโน้ตย่อเล่มละวิชา คอยจดในสิ่งที่ท่านอาจารย์ได้สอนและเน้นในห้องเรียน จะไม่เคยนำตำราเรียนมานั่งกางในระหว่างที่ท่านอาจารย์ได้สอน เพราะจะทำให้เรากังวลว่าท่านอาจารย์พูดถึงประโยคใดในหนังสือแล้ว จะทำให้ตามเนื้อหาที่ท่านอาจารย์สอนไม่ทัน


๒. เมื่อมีเวลาว่างที่มหาวิทยาลัยก็หาที่นั่งอ่านหนังสือกับเพื่อน จะเป็นที่ห้องสมุดหรือที่ห้องอ่านหนังสือก็ได้ จะได้มีสมาธิ ดีกว่าปล่อยเวลาว่างไปเปล่าประโยชน์ โดยการนำโน้ตย่อมานั่งอ่านทบทวนพร้อมกับขีดเส้นใต้ไปด้วยเฉพาะใจความที่ สำคัญ


๓. เมื่อกลับถึงหอพักก็นำโน้ตย่อวิชาที่ยังไม่ได้อ่านมานั่งอ่าน เมื่ออ่านโน้ตย่อเสร็จจึงหยิบหนังสือวิชาที่เรามีเรียนในวันรุ่งขึ้นมานั่ง อ่านพร้อมกับขีดเส้นใต้เอาไว้พร้อมกับทำเครื่องหมายในสิ่งที่น่าจะเป็น ปัญหาในการสอบได้


๔. ควรอ่านหนังสือตำราเรียนให้ผ่าน ๆ ตาสักหนึ่งรอบก่อน แล้วจึงเขียนย่อใจความสำคัญในสมุด โดยแยกเป็นวิชา ๆ ไป เล่มละหนึ่งวิชาเพื่อที่จะได้สะดวกในตอนอ่านหนังสือสอบ เพราะหนังสือแต่ละวิชาค่อนข้างหนา จะนำมาอ่านเตรียมตัวสอบคงไม่ทัน เพราะฉะนั้นการอ่านสมุดโน้ตย่อทั้งสองส่วนก็จะช่วยเราได้อย่างมาก


๕. ก่อนสอบก็นำโน้ตย่อและโน้ตย่อของหนังสือมานั่งอ่านประกอบกัน ถ้าอ่านไม่เข้าใจในจุดไหนจึงค่อยมาเปิดหนังสืออ่านอีกรอบในจุดนั้น เพื่อเป็นการประหยัดเวลา


๖. เมื่ออ่านโน้ตย่อเสร็จทั้งสองเล่มแล้ว ก็จึงเริ่มนำข้อสอบเก่า ๆ ย้อนหลังมานั่งหัดทำดูโดยต้องไม่เปิดดูคำตอบก่อน ถ้าข้อไหนทำผิดก็ทำเครื่องหมายเอาไว้แล้วกลับมาทบทวนในข้อที่ผิดอยู่ ทำข้อสอบย้อนหลังประมาณสัก ๕ ปีเพื่อเป็นแนวทางเท่านั้น


๗. ในส่วนวิชาภาษาอังกฤษก็ต้องมีสมุดเล่มเล็ก ๆ ไว้สำหรับจดคำศัพท์ ไว้เพื่อท่องจำในระหว่างเดินทางไปเรียนที่มหาวิทยาลัยและตอนนั่งรถกลับบ้าน โดยจะผลัดกันท่องกับเพื่อนทีละคำ


ถ้าทำครบทุกข้อก็คิดว่าทุกคนก็คงจะได้ G ทุกวิชา

การเรียนในปีที่ ๒ และ ๓ เริ่มเข้าสู่วิชากฎหมายทุกวิชา จึงต้องมีการวางแผนที่ดี มีท่านอาจารย์ค่อยให้คำแนะนำที่ดี ซึ่งมีขั้นตอนการเรียนดังนี้
๑. การลงทะเบียนเรียน เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้การเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สำเร็จโดยเร็วและมีผลดีต่อการเรียนด้วย เทคนิคส่วนตัวจะเลือกลงทะเบียนเรียนวิชาตามลำดับรหัสวิชา และที่วันสอบห่างกันประมาณ ๒–๓ วันขึ้นไป เพื่อที่เราจะได้มีเวลาทบทวนตัวบทกฎหมายที่ต้องใช้สอบในภาคนั้น ๆ เพราะถ้าเราสอบติดกันจะทำให้สมองเราล้าและอาจตัดสินใจฟันธงผิดก็ได้ ดังนั้นจึงควรให้เวลาสมองได้หยุดพักสักหนึ่งวัน

ดิฉันจะลงทะเบียนเรียนเท่าที่ดิฉันคิดว่าดิฉันสามารถเรียนได้ คือจะลงทะเบียนในภาค ๑–๒ ประมาณ ๒๐–๒๒ หน่วยกิต และในภาคฤดูร้อนประมาณ ๑๒ หน่วยกิต และดิฉันจะไปสอบทุกวิชาที่ดิฉันลงทะเบียน ดิฉันจะไม่ลงทะเบียนไปให้เต็มตามสิทธิแล้วไปใช้สิทธิในการซ่อม เพราะดิฉันรู้สึกว่ามันจะทำให้ดิฉันมีภาระในการเรียนภาคการศึกษาต่อ ๆ ไปและมันจะมีผลกระทบต่อผลการเรียนในภาคการศึกษาต่อ ๆ ไปด้วย ดังนั้นทุกท่านควรที่จะลงทะเบียนเท่าที่คิดว่าท่านสามารถเรียนและไปสอบได้ จะดีกว่าคะ

๒. การเตรียมตัวอ่านหนังสือ โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือล่วงหน้าเพื่อที่ว่าเวลาเข้าฟังคำบรรยาย จากท่านอาจารย์จะทำให้เราเข้าใจในเนื้อหาเพิ่มมากขึ้น ทำให้เราเกิดประเด็นปัญหาที่น่าสนใจ ทำให้เรารู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและใช้กฎหมายเป็น

การอ่านหนังสือของดิฉันจะปฏิบัติดังนี้

๑. ถ้าเวลาใดชั่วโมงใดดิฉันไม่มีเรียนก็จะเข้าห้องอ่านหนังสือที่ทาง มหาวิทยาลัยจัดหาให้ เช่น ใต้ตึก VPB หรือเข้าห้องสมุดเพื่อค้นคว้าในสิ่งที่ไม่มีในตำราเรียน และเมื่อเลิกเรียนแล้วทานข้าวเสร็จก็นั่งอ่านหนังสือถึงประมาณ ๔–๕ ทุ่มทุกวัน

๒. ในระหว่างที่อ่านหนังสือจะใช้ไม้บรรทัดไล่ไปทีละบรรทัด ถ้าประโยคใดเป็นใจความที่สำคัญก็ใช้ปากกาแดงขีดเส้นใต้เอาไว้พร้อมกับนำข้อ ความที่สำคัญจดลงในประมวลกฎหมายไว้เพื่อคอยเตือนความจำของเรา

๓. ถ้าอ่านหนังสือแล้วรู้สึกง่วงนอนก็เปลี่ยนอิริยาบทลุกขึ้นเดินไปเข้าห้อง น้ำหรือหันมาท่องประมวลแทนหรือออกไปพูดปัญหาในสิ่งที่เราอ่านไม่เข้าใจกับ เพื่อนข้างนอกห้องอ่านหนังสือเพื่อที่จะได้ไม่รบกวนสมาธิของคนอื่น (และเตือนตัวเองเสมอว่ายังไม่ถึงเวลานอนห้ามง่วง)

๔. สิ่งไหนที่อ่านแล้วไม่เข้าใจก็โน้ตใส่กระดาษเอาไว้เพื่อที่ว่าเมื่อท่าน อาจารย์สอนถึงเรื่องนั้นเราเข้าใจเรื่องที่สงสัยนั้นหรือเปล่า ถ้าเรายังสงสัยอยู่อีกเมื่อท่านอาจารย์บรรยายเสร็จก็นำปัญหานั้นไปถามท่าน อาจารย์เพื่อให้เกิดความเข้าใจ

ดิฉันขอเตือนทุกคนว่าถ้ามีเรื่องที่ไม่เข้าใจก็อย่าเก็บไว้ให้มันค้างคาใจ เพราะมันอาจจะย้อนกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของข้อสอบหรือเราอาจจำเป็นที่จะต้อง ใช้ประโยชน์จากปัญหานั้นในอนาคตก็ได้

๕. การพูดคุยกับเพื่อนในเนื้อหาในสิ่งที่ได้อ่านในตำรา เพื่อทำให้เราจำสิ่งที่อ่านได้เป็นอย่างดี เพราะการได้พูดจะป็นการทบทวนสิ่งที่เราได้อ่านไปในตัวและเป็นการพิสูจน์ว่า สิ่งที่เราได้อ่านนั้นเราเข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด เพราะถ้าเราเข้าใจผิดจะได้แก้ไขไปอ่านหนังสือใหม่แล้วก็ถือว่าเป็นการ ติวกับเพื่อนไปในตัว

๓. การเข้าฟังคำบรรยาย ในทุกวิชาที่ลงทะเบียนเรียน และทุก section ที่เปิดสอน เพราะท่านอาจารย์ทุกท่านที่สอนมีสิทธิออกข้อสอบ มีขั้นตอนการเข้าฟังการบรรยายดังนี้

๓.๑ เมื่อเข้าฟังการบรรยายพยายามนั่งแถวหน้า ๆ เพื่อที่จะทำให้เรามีสมาธิในการเรียน ไม่ง่วงนอน ไม่พูดคุยกับเพื่อนในระหว่างนั่งเรียน

๓.๒ ควรมีสมุดโน้ตย่อวิชาละ ๑ เล่ม ถ้าวิชาไหนมีหลายsection ก็ควรที่จะหาสมุดที่มีจำนวนแผ่นมาก ๆ มาจด อย่าจดเล่มหนึ่งหลายวิชาเพราะจะทำให้เราสับสนเวลามาอ่านทบทวนก่อนสอบ

๓.๓ เทคนิคการจดโน้ตย่อของดิฉันคือจะใช้คำย่อในบางคำเพื่อที่เราจะได้จดได้ทัน ในสิ่งที่ท่านอาจารย์สอน เช่น กฎหมาย ย่อเป็น กม. ศาลฎีกา ย่อเป็น ศฎ. ฯลฯ

๓.๔ ในระหว่างที่จดโน้ตย่อถ้ามีประเด็นไหนที่ฟังไม่ทันหรือไม่เข้าใจก็จะทำ เครื่องหมายเอาไว้เพื่อที่จะได้นำไปถามท่านอาจารย์เมื่อท่านบรรยายเสร็จแล้ว

๓.๕ เมื่อเรียนเสร็จในแต่ละวิชาก็จะนำโน้ตย่อมานั่งอ่านพร้อมกับขีดเส้นใต้ข้อ ความที่สำคัญเอาไว้ และถ้าข้อเท็จจริงหรือคำพิพากษาฎีกาอันไหนน่าสนใจก็นำลงมาจดลงในประมวล กฎหมายเพื่อนำมาอ่านทบทวนเวลาสอบ

การเข้าฟังการบรรยายของท่านอาจารย์จะทำให้เราเกิดความคิดใหม่ ๆ รู้จักใช้เหตุและผล เข้าใจถึงหลักกฎหมายที่แท้จริง เพราะการอ่านหนังสือเองอาจไม่แตกฉานเพียงพอ เพราะท่านอาจารย์มักยกตัวอย่างอุทาหรณ์ คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาประกอบกับหลักกฎหมายทำให้เข้า ใจหลักกฎหมายมากขึ้น การศึกษาคำพิพากษาฎีกาควรศึกษาเฉพาะคำพิพากษฎีกาที่เป็นการแปลความตัวบท กฎหมายเท่านั้น มิใช่ว่าท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง

สุดท้ายนี้การเข้าฟังคำบรรยายจะทำให้เราเกิดกำลังใจในการเรียนและมีแบบ อย่างที่ดีจากท่านอาจารย์ผู้สอนทั้งในมหาวิทยาลัยและจากท่านอาจารย์พิเศษ ที่ทางคณะเชิญมาสอน ทำให้เราเกิดความคิดที่จะทำตามแบบอย่างจากท่านทั้งหลายว่าในอนาคตเราอยากจะ ประกอบวิชาชีพอะไร

๔. การท่องตัวบทกฎหมาย เป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักกฎหมายทุกคนที่พึงกระทำ เปรียบตัวบทกฎหมายเสมือนกับอาวุธ ดังนั้นทุกท่านที่เป็นนักศึกษากฎหมายอย่าได้พึงละเลยถ้าจะเป็นนักศึกษา กฎหมายต่อไปในอนาคต เทคนิคการท่องตัวบทมีดังนี้คือ

๔.๑ ท่องตัวบทเป็นประจำทุกวัน มักจะท่องในเวลาเช้าเพราะสมองกำลังปลอดโปร่งอยู่

๔. ๒ ถ้าเป็น ป.พ.พ. จะมีเนื้อหาในแต่ละมาตราจำนวนมาก ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องจับเฉพาะใจความที่สำคัญที่เป็นหลักกฎหมายเท่านั้น (ไม่จำเป็นต้องจำทุกตัวอักษร) แต่สิ่งที่สำคัญก็คือเวลาเขียนตอบข้อสอบต้องใช้ภาษากฎหมายที่สละสลวย เช่น ป.พ.พ. มาตรา๙๐๐ วรรค ๑ มีหลักกฎหมายว่า ผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น ฯลฯ

ถ้าเป็น ป.อ. ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดของบุคคลเอาไว้ดังนั้นทุกตัวอักษรในตัวบท เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้แม้แต่คำเดียวเพราะคำหนึ่งคำอาจทำให้ตอบผิดไปเลยก็ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องท่องทุกคำ

ถ้าเป็น ป.วิ.พ. และ ป.วิ.อ. โดยส่วนตัวมักจะท่องเอาเฉพาะหลักกฎหมายมากกว่า เพราะตัวบทค่อนข้างยาว
๔.๓ ก่อนลงมือท่องตัวบทวิชาใดก็ควรที่จะอ่านหนังสือในวิชานั้น ๆ ก่อนสัก ๑ รอบ เพราะจะได้ง่ายต่อการท่องตัวบท

๔.๔ เมื่อรู้เนื้อหาในแต่ละมาตราว่ามีอยู่กี่ประการก็จะขีดเส้นใต้ข้อความในตัว บทเป็นข้อ ๆ เช่น ป.พ.พ. มาตรา ๙๐๐ วรรค ๑ ข้อ ๑ บุคคลผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงิน ข้อ ๒ จะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น ฯลฯ

๔.๕ พยายายจำเลขมาตราให้ได้และให้รู้คราว ๆ ก่อนว่ามาตรานั้น ๆ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอะไร เพื่อให้ง่ายต่อการท่องจำ แล้วจึงลงลึกในรายละเอียดในแต่ละมาตรา

๔.๖ เวลาท่องมักท่องอ่านออกเสียงเบา ๆ เพื่อที่หูจะได้ยิน สมองจะได้รับรู้แล้วจำได้ดี (ก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละบุคคล)

๔.๗ เมื่อท่องมาตราครบหมดแล้วก็ลองทดสอบตัวเองด้วยการท่องทบทวนทั้งหมดในสิ่ง ที่เราได้ท่องไป พร้อมกับทดลองหัดเขียนตัวบททั้งหมดที่ท่องไปด้วยถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกก็ต้องท่องใหม่ให้ถูกให้ได้

๕. การสนทนาในปัญหาข้อกฎหมาย มีวิธีการดังนี้คือ

๕.๑ จับกลุ่มกับเพื่อนกลุ่มละไม่เกิน ๕ คน แบ่งความรับผิดชอบในเนื้อหาแต่ละคนตามความถนัด

๕.๒ พูดคุยกับเพื่อนในสิ่งที่เราไปค้นคว้ามาโดยมีการติวให้กันในสิ่งที่เพื่อน ๆ ไม่เข้าใจ

๕.๓ ถ้าการสนทนาหาข้อยุติไม่ได้ ก็จดใส่กระดาษเอาไว้เพื่อนำไปถามอาจารย์ผู้สอนให้เกิดความกระจ่าง

๖. การขอคำปรึกษาจากท่านอาจารย์ผู้สอน (ถ้ามีเวลาว่างจริง ๆ)

๗. การเตรียมตัวก่อนสอบ มีวิธีการดังนี้คือ

๗.๑ อ่านโน้ตย่อในวิชาที่เรามีสอบในวันแรกก่อน ท่องตัวบทในวิชานั้นทบทวนอีกรอบ
๗.๒ นำตัวอย่างข้อสอบเก่ามาฝึกทำ เพื่อดูแนวทางในการตั้งคำถามของท่านอาจารย์
๗.๓ ควรนอนแต่เช้าก่อนวันสอบเพื่อที่สมองจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ อย่าอดนอนเพราะจะไม่มีผลดีต่อตัวท่านเอง
๗.๔ ตื่นนอนตอนเช้าก็ทบทวนตัวบทอีกสักรอบ แล้วอ่านข้อความในประมวลเป็นการทบทวนอีกครั้ง อาบน้ำแต่งตัวไปสอบ
๗.๕ ควรไปถึงมหาวิทยาลัยแต่เช้าเพื่อไปดูห้องสอบแล้วทานอาหารเช้าให้พร้อม
๘. การเขียนตอบข้อสอบ นักศึกษาบางท่านมีความรู้เป็นอย่างดีแต่ไม่สามารถถ่ายทอดให้ท่านอาจารย์ เห็นได้ ก็ต้องสอบใหม่ก็มี การใช้ถ้อยคำภาษากฎหมายก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่มีส่วนทำให้เราได้คะแนนดี และลายมือก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน เพราะท่านต้องเข้าใจว่ามีคนสอบในแต่ละวิชาหลายพันคนท่านอาจารย์ผู้ตรวจก็คง ต้องการลายมือที่อ่านง่าย ๆ

ขั้นตอนการทำข้อสอบมีดังนี้คือ
๘.๑ อ่านโจทย์ทีละข้อและถามตัวเองว่าท่านอาจารย์ประสงค์ที่จะถามเรื่องอะไร เมื่อได้คำตอบแล้วก็เขียนเป็นข้อความสั้น ๆ ไว้ในกระดาษคำถาม พร้อมกับเลขมาตราที่ใช้ตอบด้วย ทำเช่นนี้ให้ครบทุกข้อ ถ้าข้อไหนทำไม่ได้ก็เว้นเอาไว้ก่อน
๘.๒. การเขียนตอบในมหาวิทยาลัยรามคำแหงมี ๓ ส่วนคือ
ส่วนที่ ๑ เป็นส่วนที่เกี่ยวกับหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอุทาหรณ์ที่ท่านอาจารย์ถาม (ถ้าจำเป็นก็ควรเขียนอธิบายหลักกฎหมายข้างต้นประกอบด้วย)
ส่วนที่ ๒ (วินิจฉัย) คือการนำข้อเท็จจริงที่ท่านอาจารย์ถามมาเขียนปรับกับหลักกฎหมายในส่วนที่ ๑ โดยการใช้ถ้อยคำภาษากฎหมาย บรรยายเป็นช่วง ๆ ไปจนได้ธงคำตอบตามที่ต้องการ
ส่วนที่ ๓ (สรุป) คือการฟันธงคำตอบในข้อนั้น
๘.๓ การเขียนตอบข้อสอบให้ได้คะแนนดีต้องอาศัยการฝึกฝนโดยหัดนำข้อสอบเก่ามานั่งทำดู ถ้าข้อไหนทำผิดก็ต้องจำเป็นพิเศษ
๘.๔ ถ้ามีเวลาว่างพอก็ลองเขียนตอบดูแล้วผลัดกันอ่านกับเพื่อนว่าอ่านของเราเข้า ใจหรือไม่ ถ้าอ่านของเราไม่เข้าใจเราก็ควรที่จะกลับมาปรับปรุงใหม่
๙. การมีกำลังใจในการเรียน เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับตัวดิฉันมาก ทุกคนควรมีเป้าหมายของชีวิตเพื่อเป็นแรงผลักดันให้ตนเองสู้ต่อไป ถ้าคุณคิดว่าคุณทำได้คุณก็จะทำได้ ถ้าคุณไม่สู้คุณก็แพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มแล้ว

สุดท้ายนี้ดิฉันก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านประสบความสำเร็จทางด้านกฎหมาย ตามที่ทุกท่านหวังเอาไว้ และดิฉันก็หวังว่าคำแนะนำและ ประสบการณ์ในการเรียนของดิฉันจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านที่จะได้นำไป ใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิชากฎหมายต่อไป ดิฉันขอยกคุณความดีในครั้งนี้ให้แก่บิดามารดาและครูอาจารย์ทุกท่านของดิฉัน



ที่มา  http://www.siamjurist.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม