วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

โครงสร้างศาลยุติธรรมในประเทศไทย


ศาลยุติธรรมเป็นสถาบันหลักในการอำนวยความยุติธรรม และเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตยของประเทศไทยที่ใช้ปกครองประเทศ โดยโครงสร้างศาลยุติธรรมในประเทศไทยมี 3 ชั้น  ได้แก่  ศาลชั้นต้น  ศาลอุทธรณ์  และศาลฎีกา (ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 1)
            ศาลชั้นต้น ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัด ศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น (ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 2)
            ศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น ได้แก่ ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงานกลาง ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลล้มละลาย
            โดยผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น    ดังต่อไปนี้
            (1) ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลในคดีทั้งปวง
            (2) ไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัย
            (3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา
            (4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 300,000 บาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
            (5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี  หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ  แต่จะลงโทษจำคุกเกิน 6 เดือน  หรือปรับเกิน 10,00 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้ (ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25) โดยภายใต้บังคับมาตรา  25  ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น  นอกจากศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชพระบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกิน 1 คน  จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง
ศาลอุทธรณ์  ได้แก่ ศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค (ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 3)ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค ประกอบด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 1-9  โดยมีองค์คณะอย่างน้อย 3 คน (ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 27) และผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์   ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคที่เข้าประชุมใหญ่ในศาลนั้นหรือในแผนกคดีของศาลดังกล่าว  เมื่อได้ตรวจสำนวนคดีที่ประชุมใหญ่หรือที่ประชุมแผนกคดีแล้วมีอำนาจพิพากษาหรือทำคำสั่งคดีนั้นได้  และในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย (ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 27 วรรค 2)
ศาลฎีกา มีจำนวน 1 ศาล ซึ่งเป็นศาลสูงสุด มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้เสนอต่อศาลฎีกาได้โดยตรง และคดีที่อุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคตามที่กฎหมายบัญญัติ เว้นแต่ท่านเห็นว่าข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่อุทธรณ์หรือฎีกานั้น จะไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกามีอำนาจไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคดีที่ศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว  คู่ความไม่มีสิทธิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาคัดค้านคดีนั้นต่อไป (ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23) โดยมีองค์คณะอย่างน้อย 3 คน (ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 27) ในทางปฎิบัติแบ่งออกเป็นคณะ คณะหนึ่งมีผู้พิพากษาหนึ่งคนเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ และผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เข้าประชุมใหญ่ในศาลนั้นหรือในแผนกคดีของศาลดังกล่าว  เมื่อได้ตรวจสำนวนคดีที่ประชุมใหญ่หรือที่ประชุมแผนกคดีแล้วมีอำนาจพิพากษาหรือทำคำสั่งคดีนั้นได้ (ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 27 วรรค 2) 
ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมในปัจจุบันของประเทศไทยมี 4 ประเภท ได้แก่ ผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบ ผู้พิพากษาอาวุโส และดาโต๊ะยุติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม