วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

วิธีอ่านกฎหมายให้เข้าใจ


คู่มือ
การเรียนกฎหมาย
และ
วิธีอ่านกฎหมาย

โดย
นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ
อดีต อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้
อดีต อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
อดีต ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา
ที่ปรึกษาคณะกรรมการพิจารณาศึกษา ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข
ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่จะเสนอต่อวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๒
และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการการปกครองสภาผู้แทนราษฎร

(สงวนลิขสิทธิ์)



ภาคผนวก
ชื่อกฎหมาย สำคัญๆ และความหมาย
เมื่อรู้ว่ากฎหมายคืออะไร และ รู้วิธีการอ่านกฎหมายแล้ว การจะเรียนกฎหมายให้เข้าใจ ดีขึ้น  และกว้างขวางขึ้น เราจะต้องทราบว่ากฎหมายสำคัญ  ที่เป็นกฎหมายหลักของบ้านเมือง คือกฎหมายอะไรบ้าง แต่ละกฎหมาย บัญญัติขึ้นเพื่ออะไร ส่วนประกอบของกฎหมายหลัก  ซึ่งมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายมีอะไรบ้าง  ซึ่งได้รวบรวมไว้ให้บ้างแล้ว เช่นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายสูงสุดที่จัดระเบียบการปกครองประเทศ โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญจะกล่าวถึง ตั้งแต่สถานะของประเทศ ว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกไม่ได้ การปกครอง หรือการบริหารประเทศ ใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งหมายความว่าอำนาจที่นำมาใช้ในการปกครองประเทศเป็นของประชาชนทั้งประเทศ และกำหนดว่า อำนาจอธิปไตย แบ่งออกเป็นอำนาจใหญ่ๆ ๓ อำนาจ และกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจทั้งสามอำนาจนี้ผ่านทางสถาบัน ๓ สถาบัน กล่าวคือ
๑. ทรงใช้ อำนาจนิติบัญญัติ คืออำนาจในการบัญญัติกฎหมายทางสถาบันของรัฐ เรียกชื่อว่า รัฐสภา
๒. ทรงใช้ อำนาจบริหาร คืออำนาจปกครอง หรืออำนาจในการสั่งการ และควบคุมกำกับดูแลในการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ปฏิบัติงานต่างๆ ซึ่งเป็นงานของรัฐทาง คณะรัฐมนตรี 
๓. ทรงใช้ อำนาจตุลาการ คืออำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี ทาง ศาล
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ ยังมีบทบัญญัติ เกี่ยวกับ พระมหากษัตริย์ เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และ เสรีภาพของประชาชนชาวไทย การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไว้ใน รัฐธรรมนูญด้วย
กล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายแม่บท ที่กำหนดหลักเกณฑ์ การใช้อำนาจทั้งสามอำนาจ ส่วนรายละเอียดต่างๆ หากจะมีการประกาศใช้ ก็จะประกาศใช้โดยอาศัยกฎหมายรองลงมา คือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติต่างๆ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เป็นต้น
ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร กฎหมายที่จัดระเบียบการปกครองประเทศ ในระหว่างที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญ
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม หมายความว่า กฎหมายที่จัดระเบียบศาลยุติธรรม
กฎหมายแพ่ง กฎหมายที่วางระเบียบความเกี่ยวพันระหว่างบุคคล เกี่ยวกับ สถานภาพ สิทธิ หน้าที่ และ ความรับผิด ของบุคคลตามกฎหมาย เช่น กฎหมายว่าด้วยนิติกรรม, ละเมิด, ทรัพย์สิน,ครอบครัว, มรดก.
กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายที่วางระเบียบความเกี่ยวพันทางการค้า หรือ ธุรกิจ ระหว่างบุคคล เช่นกฎหมายว่าด้วย การซื้อขาย, การเช่าทรัพย์, การจำนอง, การจำนำ, ตั๋วเงิน, หุ้นส่วน, บริษัท.
การค้า หมายความว่า การทำการซื้อขาย แลกเปลี่ยน หาของมาขาย
ธุรกิจ หมายความว่า
๐ การประกอบกิจการงาน ในทางเกษตรกรรม, อุตสาหกรรม, หัตถกรรม, พาณิชยกรรม, หรือ กิจการอื่น เป็นการค้า
๐ การงานประจำเกี่ยวกับอาชีพค้าขาย หรือกิจการอย่างอื่น ที่ไม่ใช่ราชการ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หนังสือกฎหมายที่รวบรวมกฎหมายแพ่ง และกฎหมายพาณิชย์เข้าไว้ในเล่มเดียวกัน.
กฎหมายอาญา กฎหมายที่กำหนดลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิด และกำหนดบทลงโทษทางอาญา สำหรับความผิดนั้น.
ประมวลกฎหมายอาญา หนังสือกฎหมายที่รวบรวมกฎหมายที่กำหนดลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิด และกำหนดบทลงโทษทางอาญา สำหรับความผิดนั้นเข้าไว้ในเล่มเดียวกัน.
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือหนังสือกฎหมายที่รวบรวมกฎหมายเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และระเบียบวิธีการ ในการนำคดีอาญา เข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาล เพื่อการบังคับให้ข้อกำหนดในกฎหมายอาญามีผลบังคับ เปรียบได้กับบทละครให้ตัวละครในคดีอาญาต้องแสดง จะแสดงนอกบทไม่ได้ หากแสดงนอกบทจะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิของตน ตามที่กฎหมายบัญญัติ.
ตัวละคร ที่กำหนดไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้แก่ ผู้เสียหาย, ผู้กล่าวโทษ, ผู้ต้องหา, จำเลย, โจทก์, เจ้าพนักงานผู้จับกุม, พนักงานสอบสวน, พนักงานอัยการ, ผู้ว่าราชการจังหวัด, ทนายความ, ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น, ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, พยานบุคคล, พนักงานคุมประพฤติ, พัศดีเรือนจำ เป็นต้น.
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คือหนังสือกฎหมายที่รวบรวมบทกฎหมายเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และระเบียบวิธีการ ในการนำคดีแพ่งและพาณิชย์เข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาล เพื่อการบังคับให้ข้อกำหนดในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีผลบังคับ เปรียบได้กับบทละคร ให้ตัวละครในคดีแพ่งต้องแสดง จะแสดงนอกบทไม่ได้ หากแสดงนอกบทจะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิของตน ตามที่กฎหมายบัญญัติ.
ตัวละครในคดีแพ่งและพาณิชย์ จะมีน้อยกว่าตัวละครในคดีอาญา เพราะในคดีแพ่งและพาณิชย์ ไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจ พนักงานอัยการ พนักงานคุมประพฤติ พัศดีเรือนจำ
พระราชบัญญัติ บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้น โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา. คำว่าพระราชบัญญัติ เป็นคำที่ใช้นำหน้าชื่อกฎหมายต่างๆ เช่น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔. พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐.
( คำว่า "พระราชบัญญัติ" นี้มีใช้มาตั้งแต่สมัยที่ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถ้าแปลความหมายตรงตัว ก็จะหมายความว่า ข้อความที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นไว้เป็นกฎหมาย )
ประมวลกฎหมายต่างๆ จะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย จะต้องมีการประกาศใช้เป็นทางราชการ วิธีการประกาศใช้ก็จะต้องทำตามที่กฎหมายบัญญัติ คือต้องประกาศใน หนังสือ ราชกิจจานุเบกษา จะต้องมีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายฉบับนั้นๆ เช่น พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙
พระราชกำหนด บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้น โดยอาศัยอำนาจบริหาร ซึ่งเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยสาธารณะ หรือในกรณีมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากร หรือเงินตรา ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วน และลับ เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน ถือได้ว่าเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหาร.
ประกาศของคณะปฏิวัติ สำหรับประเทศไทยถือว่าเป็นกฎหมายเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติ. ยังคงมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายเหมือนพระราชบัญญัติ อยู่จนบัดนี้ หลายฉบับ.
พระราชกฤษฎีกา บทบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด เพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ต้องผ่านรัฐสภา.
กฎกระทรวง บทบัญญัติ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ หรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีฐานะเท่าพระราชบัญญัติ เป็นต้นว่า พระราชกำหนด ประมวลกฎหมาย มีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับกฎหมาย.
ประกาศ ข้อความที่ทางราชการแจ้งให้ประชาชนทราบ หรือวางแนวทางให้ปฏิบัติ เช่น ประกาศพระบรมราชโองการ, ประกาศกระทรวง, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี.
เทศบัญญัติ กฎหมายที่เทศบาลตราขึ้นเพื่อใช้บังคับแก่ประชาชนในเขตเทศบาลนั้น
ข้อบัญญัติ กฎหมายที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตราขึ้น เพื่อใช้บังคับในเขตขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นๆ เช่นข้อบัญญัติจังหวัด, ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร, ข้อบัญญัติเมืองพัทยา.
ระเบียบ แบบแผนที่วางไว้เป็นแนวปฏิบัติ หรือดำเนินการ
ระเบียบการ ข้อกำหนดหรือข้อบังคับ ที่บัญญัติขึ้นเป็นแนวปฏิบัติ.
ผู้ที่มีอำนาจวางระเบียบ หรือระเบียบการได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมาย
ราชกิจจานุเบกษา หนังสือของทางราชการที่ออกเป็นรายสัปดาห์ โดย สำนักงานราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำหรับลงประกาศเกี่ยวกับ กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ตลอดจนประกาศของ กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ รวมทั้งประกาศเกี่ยวกับ การจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วน บริษัท.
การลงประกาศก็เพื่อให้ประชาชนทราบว่า บัดนี้รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติออกมาใช้บังคับแก่ประชาชน ตามข้อความที่ปรากฏใน หนังสือราชกิจจานุเบกษานี้ พร้อมทั้งกำหนดวันที่ให้พระราชบัญญัติฉบับนั้นมีผลใช้บังคับ โดยจะบัญญัติไว้ในมาตราใด มาตราหนึ่งของ พระราชบัญญัตินั้นๆ หรือในพระราชบัญญัติให้ใช้กฎหมายฉบับนั้น. โดยจะมีข้อความ ดังตัวอย่างต่อไปนี้.
"มาตรา...... พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป"
เมื่อเราอ่านกฎหมาย ถ้าเราสังเกตให้ดีจะมองเห็นภาพได้ชัดเจนว่า เรื่องต่างๆที่เอามาเขียนเป็นกฎหมาย โดยเฉพาะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั้น ล้วนเป็นเรื่อง ที่เกี่ยวกับคนทั้งสิ้น เป็นเรื่องของคน โดยลำดับเรื่องราว ตั้งแต่ก่อนเกิดมามีชีวิตรอดอยู่ เป็นทารก แล้วค่อยๆเจริญเติบโตขึ้น เป็นเด็ก เป็นผู้เยาว์ เป็นสาว เป็นหนุ่ม เกิดความรักใคร่ชอบพอกัน แล้วตกลงจับคู่อยู่ร่วมกันเป็นสามี ภรรยากัน มีบุตร มีหลาน สืบทอดกันไป เป็น ครอบครัว ในระหว่างชีวิตตั้งแต่เริ่มมีความรู้ความสามารถที่จะทำกิจกรรมอะไรได้ รู้จักเสาะหา สะสมอาหาร และ ทรัพย์สิน ต่างๆ และกระทำการอื่นๆแล้วตั้งชื่อเฉพาะสำหรับการกระทำแต่ละประเภท เช่น นิติกรรม หนี้ สัญญา แลกเปลี่ยน ซื้อขาย เช่าทรัพย์ เป็นต้น หากมีการจงใจเอารัดเอาเปรียบกัน หรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้เขาได้รับความเสียหาย ถึงแก่ ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือ สิทธิ ก็เรียกว่า ละเมิด แล้วอายุก็ค่อยมากขึ้นๆ จนแก่เฒ่า แล้วเจ็บป่วย ล้มตายลง บรรดาทรัพย์สิน สิ่งของ ที่สะสมไว้ ก็เป็น มรดก ตกทอดแก่ทายาท เรื่องต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่เขียนไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ที่แบ่งออกเป็น ๖ หมวดใหญ่ๆ ที่เรียกว่า บรรพ ทั้งสิ้น.
สำหรับการกระทำที่เรียกว่า ละเมิด นั้นกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ทำละเมิด ต้อง รับผิด ชดใช้ค่าเสียหาย หรือค่าสินไหมทดแทน แก่ผู้เสียหาย ถือว่าเป็น ความรับผิดทางแพ่ง แต่ถ้าการกระทำละเมิดนั้น ร้ายแรงเกินขอบเขตที่กำหนดไว้ และลักษณะของการกระทำเข้าลักษณะที่กฎหมายอาญา กำหนดไว้ว่าเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้ ก็ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา ผู้กระทำ ต้องได้รับโทษ อันเป็น ความรับผิดทางอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอาญา เป็นกฎหมายสารบัญญัติ.
วิธีการที่จะบังคับให้เกิดการรับผิด ที่เป็นรูปธรรม ก็ต้องมีกฎหมาย บังคับ เรียกว่ากฎหมายวิธีพิจารณาคดี เป็น กฎหมายวิธีสบัญญัติ ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น.
เมื่อมีกฎหมายสารบัญญัติ และ กฎหมายวิธีสบัญญัติแล้ว ยังไม่มีสถานที่ ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี จึงต้องมีกฎหมายจัดตั้งศาลขึ้น เรียกว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาล ..... และมีกฎหมายเพื่อจัดระเบียบวิธีการของศาลขึ้น เรียกว่า พระธรรมนูญศาลยุติธรรม.
นอกจากนี้ในการที่คนเราอยู่รวมกันมากๆ จะต้องมีผู้ที่เป็นหัวหน้า เป็นผู้นำ และมีการจัดระเบียบในการอยู่รวมกัน และมีงานที่จะต้องทำเพื่อส่วนรวม ซึ่งมีมากมาย ไม่สามารถทำเพียงลำพังคนเดียวได้ ต้องช่วยกันทำ และแบ่งงานกันทำ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมาย สำหรับจัดระเบียบการปกครอง เรียกว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง เรียกว่า กฎหมายปกครอง หรือ กฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน
กฎหมาย ล้วนบัญญัติขึ้น เพื่อ จัดระเบียบให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสงบ มีความสุข สะดวก สบาย และได้รับความเป็นธรรมเสมอหน้ากัน ถือว่าเป็น กติกาสังคม และได้มีการบัญญัติศัพท์ใช้เรียกเป็นทางการว่า กฎหมาย ดังนั้นกฎหมายทุกกฎหมายล้วนเป็น ธรรมะ ทั้งสิ้น
คำว่า "ธรรม, ธรรมะ" มีความหมายหลายความหมาย ได้แก่
๐ คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
๐ คำสั่งสอนในศาสนา เช่นแสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
๐ หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
๐ ความจริง เช่นได้ดวงตาเห็นธรรม
๐ ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
๐ กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
๐ กฎหมาย เช่นธรรมะระหว่างประเทศ

๐ เมื่อ ธรรมะ คือกฎหมาย กฎหมาย คือธรรมะ ผู้ที่มีธรรมะในหัวใจ และ มีศีล จะไม่มีวันทำผิดกฎหมายเป็นอันขาด และยังสามารถอ่านกฎหมายและทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก.

**********************************








คำนำ
เนื่องจากมีผู้ปรารภอยู่เสมอๆว่า การอ่านและการเรียนกฎหมายนั้นยาก อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ต้องท่องจำบทบัญญัติกฎหมาย เป็นพันๆมาตรา เกินความสามารถที่จะทำได้ แสดงว่าผู้ที่มีความรู้สึกเช่นนั้นไม่ทราบว่า โดยแท้จริงแล้ว กฎหมายคืออะไร มีกี่ประเภท มีโครงสร้างอย่างไร มีวิธีอ่านอย่างไรจึงจะรู้เรื่อง ที่สำคัญที่สุดคือไม่ทราบคำนิยามความหมายที่เป็นทางราชการของถ้อยคำภาษาไทยทุกคำที่เขียนไว้ในกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ หากรู้เรื่องเหล่านี้แล้ว การเรียนกฎหมายจะง่ายเข้า.
จากประสบการณ์อันยาวนานของผู้เขียนเกี่ยวกับการเรียน การอ่าน และการตีความกฎหมาย ตั้งแต่เริ่มเข้าเป็นนักศึกษาวิชากฎหมาย ในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้ปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต พ.ศ. ๒๕๐๕ สอบได้เป็นเนติบัณฑิตไทย พ.ศ. ๒๕๐๖ สอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาได้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ และรวมเวลากว่า ๓๐ ปี ในการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษา ตั้งแต่เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในศาลฎีกา มีโอกาสเข้าร่วมประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายหลายครั้ง นอกจากนี้ผู้เขียนยังเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการ กรรมการ ประธานกรรมการ ในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหลายครั้ง ได้พบปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการ ตีความกฎหมายมากมาย ได้ฟังคนที่มีความเห็นแตกต่างกันในปัญหาข้อกฎหมาย ต่างยกเหตุผลขึ้นมาเพื่อสนับสนุนความเห็นของตน และได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรในการอบรมผู้พิพากษา ข้าราชการอัยการ ข้าราชการตำรวจ นักศึกษาแพทย์ จึงได้พยายามคิดค้นหาวิธีที่เป็นระบบในการที่จะอ่าน ตีความ และ ค้นหากฎหมายออกมาใช้ ได้ถูกต้องและรวดเร็วตลอดมา และค่อยๆรวบรวมไว้เพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งนับว่าได้ผลดีตามสมควร ได้แนะนำให้ลูกศิษย์ ผู้ใต้บังคับบัญชา และผู้ใกล้ชิดนำไปทดลองปฏิบัติ ก็ได้รับแจ้งว่าได้ผลดีพอสมควร จึงได้คิดรวบรวมเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจนำไปปฏิบัติ และเพื่อจะได้มีการพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป.
การเขียนหนังสือเรื่อง คู่มือการเรียนกฎหมาย และ วิธีการอ่านกฎหมาย เป็นหนังสือแนะนำวิธีอ่านกฎหมาย ตีความกฎหมาย และ วิธีเรียนกฎหมาย ไม่ใช่คำบรรยายกฎหมาย ถ้อยคำต่างๆ ในกฎหมายเป็นจำนวนมาก เป็นภาษาราชการ มีความหมายหลายนัย กฎหมายไม่ได้ให้ คำนิยามความหมายไว้ จึงจำเป็นต้องอ้างอิง หนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ไว้หลายแห่ง ทำให้ดู เกะกะไปบ้าง แต่ก็มีความจำเป็นทั้งนี้เพื่อการตรวจสอบความถูกต้องว่าผู้เขียนไม่ได้บัญญัติศัพท์ขึ้นเอง แต่ใช้ถ้อยคำ และคำศัพท์ที่ทางราชการบัญญัติไว้ให้ใช้ และเพื่อต้องการเน้น ให้ผู้ที่สนใจศึกษากฎหมายโดยเฉพาะผู้ที่เริ่มศึกษาใหม่ได้เข้าใจและเห็นเป็นตัวอย่าง.
ด้วยเจตนา เพื่อมิให้ผู้ที่สนใจศึกษากฎหมายรุ่นหลังต้องเสียเวลาค้นคว้าหาวิธีการอ่านและเรียนกฎหมายด้วยตนเอง ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการหาประสบการณ์มากมาย จึงได้ตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อเผยแพร่วิธีการ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งให้ปราการไว้ จะได้ไม่สูญสิ้นไปพร้อมกับชีวิตของผู้เขียน หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจอ่านและศึกษากฎหมายบ้างไม่มากก็น้อย.
อนึ่งหากท่านผู้อ่านเห็นว่าวิธีการที่ผู้เขียนนำเสนอนี้ไม่ถูกต้อง หรือบกพร่องประการใด กรุณาแจ้งให้ผู้เขียนทราบด้วย เพื่อจะได้แก้ไข หรือเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ต่อไป.


นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ


บทนำ

กฎหมายเป็น กติกาของสังคม เป็นกฎเกณฑ์ หรือ ข้อตกลงที่สังคมร่วมกันกำหนดขึ้นเป็นหลักปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และ เป็นธรรมในสังคม จึงเป็นหลักเกณฑ์ ที่ทุกคนถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องได้รับโทษ หรือ อาจถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม ผู้ใดจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ ดังจะเห็นได้จาก บทบัญญัติของกฎหมาย ส่วนมาก จะมีข้อความว่า “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป” ข้อห้ามอ้างว่าไม่รู้กฎหมายนี้ ในทางอาญา ถึงกับบัญญัติไว้เป็นข้อกฎหมายในประมวลกฎหมายอาญา ว่า “บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมาย เพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้......” (มาตรา ๖๔)
การที่กฎหมายบัญญัติเป็นข้อบังคับไว้เช่นนี้ กฎหมายจึงควรเป็นสิ่งที่ทุกคน สามารถอ่านแล้วรู้เรื่อง และสามารถเข้าใจได้โดยง่าย แต่เมื่อหยิบกฎหมายขึ้นมาอ่าน ก็ไม่รู้แล้วว่า ชื่อของกฎหมายนั้น หมายความว่าอย่างไร เช่น ไม่รู้ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีความหมายว่าอย่างไร ไม่รู้ว่า พระราชบัญญัติ คืออะไร กฎหมาย คืออะไร บางฉบับใช้คำว่า ประมวลกฎหมาย บางฉบับใช้คำว่า พระราชบัญญัติ บางฉบับใช้คำว่า พระราชกำหนด บางฉบับใช้คำว่า พระราชกฤษฎีกา. ไม่รู้ว่า ข้อความที่เขียนไว้ในกฎหมายนั้นมีความหมายอย่างไร ภาษาที่ใช้เขียนกฎหมายก็แปลกไปจาก หนังสือประเภทอื่น ที่เคยอ่านมา คำศัพท์บางคำ ไม่เคยเห็นมาก่อน และเป็นการแน่นอนว่า เมื่ออ่านไม่รู้เรื่อง ก็ย่อมเรียนไม่รู้เรื่อง และไม่เข้าใจ.
การไม่รู้เรื่องสิ่งที่ถูกบังคับให้รู้ และ ถ้าไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือ เข้าใจผิด อาจเกิดโทษ เกิดภัยแก่ตนเอง ถึงกับติดคุก ติดตะราง สิ้นสิทธิ อันพึงมีพึงได้ หรือสูญเสียทรัพย์สินจนสิ้นเนื้อประดาตัว แถมยังมีหนี้สินล้นพ้นตัว อันเป็นเหตุให้ถูกฟ้องร้อง ต่อศาลให้พิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่สามารถจัดการทรัพย์สินของตนเองได้อีกด้วย และไม่รู้ว่าภัยนั้นจะมาถึงตัวเมื่อไร จึงเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง ความทุกข์นั้น หากไม่หาทางแก้ไข ปลดเปลื้อง และ ลงมือปฏิบัติ ความทุกข์ก็จะไม่หมดสิ้นไป หรือไม่บรรเทาเบาบางลง.
วิธีดับความทุกข์ หรือ วิธีปลดเปลื้องทุกข์ ที่ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีที่สุด คือ วิธีของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหลักธรรม หมวดหนึ่งในพระพุทธศาสนา ชื่อ อริยสัจ มี ๔ข้อ คือ
๑.ทุกข์ (ความยากลำบาก ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ไม่พอใจ)
๒. ทุกขสมุทัย (ที่เกิดแห่งทุกข์)
๓.ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์)
๔. ทุกขนิโรธ คามินี ปฏิปทา หรือ มรรค (ทางแห่งความดับทุกข์)
จากหลักธรรมดังกล่าวอาจสรุปความ พอให้เข้าใจง่ายๆว่า เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้น หากเราต้องการจะปลดเปลื้องทุกข์ ทำให้หลุดพ้นเพื่อแบ่งเบา หรือ ให้หมดไป สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ เราต้องค้นหาสาเหตุแห่งความทุกข์นั้นให้พบเสียก่อน เมื่อพบแล้วก็แก้ที่สาเหตุนั้น ความทุกข์จึงจะบรรเทาเบาบางลง หรือ หมดสิ้นไป.
ความทุกข์ ที่กำลังพูดถึงกัน ณ ที่นี้ คือ การอ่านกฎหมายไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ การหาความดับทุกข์ หรือ การปลดเปลื้องความทุกข์ในเรื่องนี้ จึงต้องหาสาเหตุที่อ่านกฎหมายไม่รู้เรื่อง ให้พบเสียก่อน แล้วแก้ที่เหตุนั้น.สาเหตุที่ทำให้อ่านกฎหมายไม่รู้เรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์ เท่าที่ผู้เขียนรวบรวมได้ มี ๔ ประการคือ
๑. ไม่รู้ความหมายของภาษา ที่เขียนไว้ในกฎหมาย.
๒. ไม่รู้ว่ากฎหมายคืออะไร.
๓. ไม่รู้วิธีการอ่านกฎหมาย.
๔. ไม่มีระบบในการค้นหา กฎหมาย เพื่อนำออกมาใช้.
วิธีแก้ความทุกข์ ก็ต้องแก้ที่เหตุแห่งทุกข์ ทั้ง ๔ ประการนั้น ซึ่งจะได้กล่าวถึงแต่ละวิธีเป็นลำดับไป.
****************************



บทที่๑
เหตุแห่งทุกข์ประการที่ ๑
อ่านกฎหมายไม่รู้เรื่อง เพราะ ไม่รู้ความหมายของภาษา
ที่เขียนไว้ในกฎหมาย
เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ หากจะกล่าวว่าคนไทยไม่รู้ความหมายของถ้อยคำในภาษาไทย จะเป็นไปได้อย่างไร เมื่อเราเกิดมาเป็นคนไทย พูดภาษาไทยได้ ฟังภาษาไทยรู้เรื่องตั้งแต่เด็ก เมื่อเติบโตขึ้นก็ถูกบังคับให้ต้องเรียนหนังสือไทย การเรียน ก็ต้องเรียนทั้งเขียน อ่าน และ เรียนหลักไวยกรณ์ นั้นเป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่ง เพราะการเรียน การศึกษามีหลายระดับ หลายลักษณะวิชา และ เนื่องจากภาษาไทย แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ภาษาปาก (ภาษาพูด) และ ภาษาเขียน.
ภาษาปาก หรือ ภาษาพูด คือภาษาที่เปล่งเสียงออกมาเป็นถ้อยคำพูด เป็นภาษาที่ใช้พูดกันเพื่อสื่อความหมายให้รู้เรื่อง และทราบความประสงค์ของกันและกัน ถ้าไม่เข้าใจก็สามารถสอบถามกันจนเข้าใจ และบางครั้งจะต้องแสดงกริยาท่าทางประกอบด้วย.
ภาษาเขียน คือภาษาที่ขีดให้เป็นตัวหนังสือ หรือ เลข หรือรูปต่างๆ.
ภาษาปาก และ ภาษาเขียน ยังแบ่งออกได้เป็น ๒ประเภท คือ ภาษาถิ่น และ ภาษาราชการ

ภาษาถิ่น คือภาษาที่ใช้เฉพาะถิ่น ได้แก่ภาษาของแต่ละภาคของประเทศ ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ภาคตะวันออก และ ภาคใต้.

ภาษาราชการ คือภาษาที่ทางราชการกำหนดขึ้น หรือบัญญัติขึ้นไว้ เพื่อให้ทางราชการใช้เป็นแบบฉบับของการเขียนหนังสือไทย ในทางราชการ และ ทางโรงเรียน เพื่อให้การเขียนหนังสือไทยมีมาตรฐานลงรูปลงรอยเดียวกัน ไม่ลักลั่น ขาดความเป็นระเบียบ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นไปตามกฎ ตามแบบ ตามลำดับ
คำศัพท์ต่างๆที่บัญญัติขึ้นใช้ในกฎหมาย ก็ถือว่าเป็นภาษาราชการด้วย เพราะการบัญญัติกฎหมายเป็นงานราชการ
ภาษาไทย นั้น ถ้าศึกษา และ สังเกตให้ดี จะเห็นว่า ถ้อยคำ คำเดียวกัน เขียนตัวสะกดเหมือนกัน เปล่งเสียงออกมาเหมือนกัน แต่คนที่อยู่ต่างภาค ต่างท้องถิ่นกัน แปลความหมายไม่เหมือนกัน เช่นคำว่า “ ส้วม” ภาษาราชการ และภาษา ภาคกลาง หมายความว่า ที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ แต่ภาษาถิ่นทางภาคอีสาน หมายความถึง ห้องนอน คำว่า “เว้า” ภาษาราชการ หมายความว่า มีเส้นรอบนอกหรือพื้นราบ โค้ง หรือบุ๋มเข้าไป แต่ภาษาถิ่นทางภาคอีสาน หมายความว่า “พูด” นอกจากนี้ ภาษาที่พูดกัน ยังมี คำสแลง และ คำผวน อีกด้วย.
คำสแลง เป็นถ้อยคำ หรือสำนวน ที่ใช้เข้าใจกันเฉพาะกลุ่ม หรือชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่ใช่ภาษาที่ยอมรับกันว่าถูกต้องตามหลักภาษา.
คำผวน หมายถึงหวนกลับ เช่น ตกที่อิฐ ผวนเป็น ติดที่อก เป็นต้น.

ภาษาที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาปาก หรือ ภาษาพูด และคนในแต่ละท้องถิ่นก็จะพูดภาษาท้องถิ่นของตน จะไม่ใช้ภาษาราชการ นอกจาก ผู้ที่เป็นนักเรียน หรือ ผู้ที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการเรียน หรือ การปฏิบัติราชการ ซึ่งจะต้องทำเป็นตัวหนังสือ หรือ เป็นลายลักษณ์อักษร.
การเรียน การสอนหนังสือในสถาบันการศึกษาของเรา แม้แต่การสอน วิชาหลักภาษาไทย ผู้สอนส่วนใหญ่ และ ผู้เขียนตำรา มักจะเข้าใจว่า นักเรียน และ นักศึกษาทุกคนทราบความหมาย หรือ คำนิยาม ของถ้อยคำ ทุกคำในตำราเรียนตรงกัน เพราะทุกคนเป็นคนไทยรู้ และ เข้าใจภาษาไทยมาแต่เกิด จึงไม่ได้เน้นให้ นักเรียน นักศึกษา ทราบความหมายของถ้อยคำ ที่เขียนในตำรา หรือ ในเอกสารต่างๆ ที่ใช้ในราชการ ซึ่งเป็น ภาษาราชการ ปล่อยให้ทุกคนค่อยๆทำความเข้าใจ และ รู้ความหมายเอาเอง ซึ่งสามารถทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เมื่อเรียนสูงขึ้น มากวิชาขึ้น คำศัพท์ต่างๆก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกฎหมาย ซึ่งต้องเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งสิ้น และทุกคำมีความหมาย เมื่อผู้สอนไม่เน้นเรื่องคำแปล หรือ คำนิยามความหมายของถ้อยคำ ให้ตรงกับที่ทางราชการกำหนดไว้ เป็นเหตุให้นักเรียน นักศึกษา ที่มาจากต่างภาค ต่างท้องถิ่นกัน แปลความหมายของถ้อยคำผิดเพี้ยนกันไป แม้แต่คนที่อยู่ภาค และท้องถิ่นเดียวกัน ก็ยังแปลความหมายแตกต่างกัน บางครั้ง คิดว่า ถ้อยคำ บางคำ ไม่มีคำแปล เช่นคำว่า สิทธิ, อำนาจ, หน้าที่, รับผิดชอบ, ข้อเท็จจริง, ข้อกฎหมาย. เป็นต้น ความจริงถ้อยคำเหล่านี้ เป็นคำศัพท์ ที่ทางราชการ บัญญัติขึ้น และได้ให้คำนิยามความหมายไว้ทั้งสิ้น เมื่อเราไม่ดูคำจำกัดความหมาย จากพจนานุกรม เราก็ไม่ทราบความหมาย หรือ ทราบ แต่เพียงเลาๆเท่านั้น
ไม่กระจ่างชัดทุกแง่มุม ซึ่ง ถ้อยคำเหล่านี้ หากไปอยู่ใน เอกสารบางประเภท มีความสำคัญมาก เช่นไปอยู่ใน เอกสารสัญญาต่างๆ ใน พินัยกรรม โดยเฉพาะ ใน กฎหมาย หากไม่ทราบความหมายที่แท้จริงตามที่ทางราชการกำหนดไว้ อาจแปลความหมายผิด หรือตีความผิดไป ซึ่งอาจมีผลทำให้คดีความถึงแพ้ชนะกันได้.
เนื่องจาก กฎหมาย เป็น กฎ หรือ บทบัญญัติ ที่ทางราชการตราขึ้น เพื่อใช้ บังคับ แก่ประชาชนทั้งประเทศ การบัญญัติกฎหมาย จะต้องบัญญัติ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และ เมื่อเป็น กฎหมายไทย ภาษาที่ใช้บัญญัติกฎหมาย จึงต้องเป็น ภาษาไทย และต้องเป็นภาษาราชการ เพราะเป็นภาษาที่ทางราชการกำหนดให้ใช้ ถ้อยคำใดที่จะบัญญัติขึ้นใช้ใหม่ หรือ เป็นคำศัพท์เดิม แต่ต้องการให้มีความหมายใหม่ในกฎหมายฉบับใด ก็จะต้องให้คำนิยามความหมาย ไว้ใน บทนิยาม หรือ บทวิเคราะห์ศัพท์ ของกฎหมายฉบับนั้น. ซึ่งส่วนมาก จะอยู่ในบทบัญญัติหมวดแรกของกฎหมาย คือ หมวดที่ว่าด้วย หลักทั่วไป หรือ บททั่วไป
การอ่านกฎหมาย บางครั้ง เมื่อต่างคนต่างอ่าน ตามตัวอักษร แล้วต่างมีความเห็น ไม่ตรงกัน และบางครั้งถึงกับมีความเห็นตรงกันข้าม จากถูกเป็นผิดก็มี ทั้งนี้เพราะแปลความหมายของถ้อยคำที่เป็นตัวอักษร ต่างกัน แปลตามความเข้าใจของแต่ละคน ไม่ได้ยึดถือตามคำนิยามความหมายที่ทางราชการบัญญัติไว้ จึงเกิดการโต้เถียงกัน และหาข้อยุติไม่ได้ แล้วหันมาโทษว่า กฎหมายไทยเป็นกฎหมายที่ดิ้นได้ มาก จึงต้องมีการตีความกฎหมายกัน ถึงกับต้องบัญญัติกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีตีความกฎหมายไว้.
วิธีแก้ความทุกข์ เรื่องการไม่รู้ความหมายคำศัพท์ภาษาไทยที่ใช้เขียนกฎหมาย

มีคำถามว่า เมื่อกฎหมายเขียน ด้วย ภาษาราชการ เราจะหาคำนิยามความหมาย หรือคำแปล ของคำศัพท์ต่างๆที่เป็นภาษาราชการ ได้ที่ไหน?

ตอบได้ว่า จากหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ที่เน้นเฉพาะ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื่องจาก เป็นฉบับที่ได้มีการ ปรับปรุงจาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ครั้งใหญ่ ครั้งสุดท้าย ซึ่งได้มีการบัญญัติ เพิ่ม คำศัพท์ต่างๆอีกมาก โดยเฉพาะ ศัพท์กฎหมาย และ ทางราชการได้ประกาศให้ บรรดาหนังสือราชการ และ การศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน ใช้เป็นระเบียบการใช้ตัวสะกด โดยทำเป็น ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีข้อความดังต่อไปนี้.


ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกด

โดยที่ ราชบัณฑิตยสถานได้จัดตีพิมพ์ หนังสือ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ขึ้นเสร็จสิ้นแล้ว เสนอว่าควรยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกด ลงวันที่ ๕พฤษภาคม ๒๔๙๓ แต่ทางราชการ และ โรงเรียนก็ยังควรมี แบบมาตรฐานสำหรับใช้ ในการเขียนหนังสือไทย เพื่อให้เป็นระเบียบเดียวกัน และควรใช้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นมาตรฐานดังกล่าว.
คณะรัฐมนตรี ได้พิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบด้วย ให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการใช้ตัวสะกด ลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ แต่นี้ต่อไป บรรดาหนังสือราชการ และการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน ให้ใช้สะกดตามระเบียบ และพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ เสมอไป ถ้าและ กระทรวง ทบวง กรมใด เห็นสมควรเปลี่ยนอักขรวิธีในคำใด ก็ให้ชี้แจงแสดงเหตุผลไป ยังราชบัณฑิตยสถาน ต่อเมื่อ ราชบัณฑิตยสถาน เห็นชอบด้วย และสั่งแก้พจนานุกรมแล้วจึงให้ใช้ได้ อนึ่ง เมื่อแก้ระเบียบอักขรวิธี หรือ พจนานุกรม เวลาใดๆ ให้ราชบัณฑิตยสถานโฆษณาให้ทราบทั่วกัน
ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๖
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
(เปรม ติณสูลานนท์)
นายกรัฐมนตรี


ผู้เขียนเคยถูกท้วงติงจากนักกฎหมายบางท่านที่เรียนกฎหมายต่างประเทศว่า จะใช้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน มาแปลกฎหมาย และตีความกฎหมายไม่ได้ ผู้เขียนได้อธิบาย ชี้แจงว่า ผู้เขียน ไม่ได้ใช้พจนานุกรมเป็นเครื่องมือในการแปลกฎหมาย หรือ ตีความกฎหมาย แต่ใช้เพื่อแปลถ้อยคำภาษาไทยที่เขียนไว้ในกฎหมาย ตามระเบียบของทางราชการ เพราะถ้าเราไม่ทราบความหมายที่ถูกต้องแท้จริงของถ้อยคำ แต่ละคำ ที่เป็นทางราชการ แล้ว เราจะตีความกฎหมายได้อย่างไร ส่วนการตีความกฎหมาย จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔ ซึ่งบัญญัติว่า
มาตรา ๔ กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆแห่งกฎหมาย ตามตัวอักษร หรือ ตามความมุ่งหมาย ของบทบัญญัตินั้นๆ
เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป.
เพื่อมิให้เกิดความลังเลสงสัยว่า มีความจำเป็นต้องใช้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นหลักในการอ่านกฎหมาย การตีความกฎหมาย การเขียนหนังสือราชการ และ ในการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนหรือไม่ เราควรศึกษาให้ได้ความกระจ่างชัด ว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คืออะไร ?
คำตอบในเรื่องนี้ คงดูได้จาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานซึ่งได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า
“พจนานุกรม” หมายความถึง หนังสือสำหรับค้นความหมายของถ้อยคำ ที่เรียงลำดับตัวอักษร.
นอกจากนี้ คำนำในการจัดพิมพ์หนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ครั้งที่ ๑ ซึ่งเขียนโดย นายกราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า

“พจนานุกรม เป็นหนังสือรวบรวมคำที่มีใช้อยู่ในภาษา โดยมากจัดเรียงลำดับตามตัวอักษร ให้ความรู้เรื่องอักขรวิธี บอกเสียงอ่าน และนิยามความหมาย ตลอดจนบอกประวัติของถ้อยคำเท่าที่จำเป็น นอกจากนี้หนังสือพจนานุกรม ยังเป็นเครื่องส่อให้เห็นว่า ชาติผู้เป็นเจ้าของพจนานุกรมนั้น มีวัฒนธรรม อยู่ในระดับไหน สูงต่ำเพียงไร เพราะฉะนั้นพจนานุกรม จึงนับได้ว่าเป็นหนังสืออ้างอิงที่สำคัญ และจำเป็น เมื่อว่าโดยเฉพาะ พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีลักษณะพิเศษไปจากพจนานุกรมอื่นๆ คือ ทางราชการให้ใช้เป็นแบบฉบับ ของการเขียนหนังสือไทย ในทางราชการ และโรงเรียน ทั้งนี้ เพื่อให้การเขียนหนังสือไทย มีมาตรฐาน ลงรูปลงรอยเดียวกัน ไม่ลักลั่น อันจะก่อให้เกิด เอกภาพ ในด้านภาษา อันเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่ง จึงนับได้ว่าเพิ่มความสำคัญ และจำเป็นขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ”
สิ่งที่ควรทราบด้วย คือ ราชบัณฑิตยสถานคืออะไร ? และ ราชบัณฑิต คืออะไร ?
ราชบัณฑิตยสถาน คือ องค์การวิทยาการของรัฐ ซึ่ง เป็นสถาบันราชการ ตั้งขึ้น โดย พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๗๖ . (มีแก้ไข ฉบับ พ.ศ. ๒๔๘๕) ต่อมา พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๓๔ หมวด ๑๕ มาตรา ๓๓, ๓๔ กำหนดให้เป็นส่วนราชการที่ ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือ ทบวง และ ให้อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่ ๓ ประการ คือ
๑. ค้นคว้า และบำรุงสรรพวิชา ให้เป็นคุณประโยชน์แก่ชาติ และประชาชน.
๒. ติดต่อแลกเปลี่ยน ความรู้กับองค์การปราชญ์อื่นๆ.
๓. ให้ความเห็น คำปรึกษา และ ปฏิบัติการเกี่ยวกับวิชา ตามความประสงค์ ของรัฐบาล (มาตรา ๕, ๖).
การรวบรวมถ้อยคำที่มีใช้อยู่ในภาษาไทย และบัญญัติคำศัพท์ ภาษาไทย ไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เพื่อใช้เป็นแบบฉบับของการเขียนหนังสือไทย ในทางราชการ และโรงเรียน เป็นหน้าที่ ที่ราชบัณฑิตยสถาน ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล.
ราชบัณฑิต ได้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาใด สาขาหนึ่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เลือก และนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต (มาตรา ๑๖).
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำนิยาม คำว่า ราชบัณฑิตไว้ว่า
ราชบัณฑิต นักปราชญ์หลวงมีความรู้ทางภาษาบาลี.
๐ สมาชิกองค์การวิทยาการของรัฐ ที่เรียกว่า ราชบัณฑิตยสถาน.

เมื่อเราทราบว่าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คืออะไร และ มีที่มาอย่างไรแล้ว ทำให้เราเห็นว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการอ่าน และ การเขียนหนังสือราชการ โดยเฉพาะ กฎหมาย เพราะถ้อยคำ ทุกคำในกฎหมาย มีความสำคัญ และ มีคำแปลทั้งสิ้น จะขาด หรือ เกินคำใดคำหนึ่งไม่ได้ และ จะเว้นวรรค ระหว่างคำ หรือ ระหว่างประโยคผิดที่ไปก็ไม่ได้.

กฎหมายเป็นหนังสือราชการประเภทหนึ่ง ถ้อยคำ และ ประโยคต่างๆ ที่ใช้เขียนกฎหมาย จึงต้องใช้ ภาษาราชการทั้งสิ้น จะใช้ภาษาพูด หรือ ภาษาถิ่น มาเขียนไม่ได้ ดังนั้น การอ่านกฎหมาย จึงจำเป็นต้องรู้ความหมายของถ้อยคำ และ คำศัพท์ภาษาไทย ทุกคำ ที่เป็นทางราชการ จึงจะสามารถเข้าใจความหมายได้ถูกต้องตรงกับที่เขียนไว้ในกฎหมาย.
ถ้าเราอ่านกฎหมาย โดยพยายาม หาคำจำกัดความหมายของถ้อยคำ และ คำศัพท์ภาษาไทย ทุกคำ จาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะทำให้เรารู้เรื่อง และ เข้าใจกฎหมายได้ถูกต้อง และรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้เพราะ ถ้อยคำทุกคำในภาษาไทย แม้แต่ คำสันธาน เช่นคำว่า และ, หรือ, แต่, ต่อ, กับ, ที่, ซึ่ง, อัน, โดยที่, ฐาน. ล้วนมีคำนิยามความหมาย ที่อธิบายขยายความได้ทั้งสิ้น และบางคำมีหลายความหมาย.
คำบางคำ เป็นทั้งคำกริยา และคำสันธาน ซึ่งมีความหมายไม่เหมือนกัน เช่น-
“และ”
๐ เป็นคำสันธาน หมายความว่า กับ, ด้วยกัน.
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า เชือด แล่ เถือสิ่งที่ยังมีเหลือติดอยู่กับสิ่งอื่น เช่น เนื้อติดกระดูกให้หลุดออกเป็นแผ่นบางๆ เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเป็นต้น.
คำบางคำ เป็นทั้ง คำกริยา คำช่วยกริยา และ คำนาม และมีความหมายไม่เหมือนกัน เช่น คำว่า
“ให้” เป็นคำกริยา หมายความว่า มอบ, สละ, อนุญาต.
๐ เป็นคำช่วยกริยา บอกความบังคับ เช่น ให้ทำ, ให้ไป, ให้จำคุก.
๐ เป็นถ้อยคำ ในกฎหมาย เป็นคำนาม หมายความถึง ชื่อสัญญา ซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่ บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น.
คำว่า “ให้” ได้นำมาใช้ในกฎหมายมากมาย ในทุกความหมาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นชื่อของสัญญาประเภทหนึ่ง ในเอกเทศสัญญา ลักษณะ ๓
“ มาตรา ๕๒๑ อันว่า ให้ นั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคล คนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตน ให้โดยเสน่หา แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับ และผู้รับ ยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น”.
ในประมวลกฎหมายอาญา เป็นคำช่วยกริยา แสดงความบังคับ เช่น
“มาตรา ๑๙ ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้เอาไปยิงเสียให้ตาย” หมายความว่าเมื่อผู้ใดถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิต กฎหมายบังคับว่า ต้องเอาไปยิง จนกว่าจะตาย.ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
“มาตรา ๑๘ ให้ศาลมีอำนาจที่จะตรวจคำคู่ความ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลได้รับไว้เพื่อยื่นต่อศาล หรือส่งให้แก่คู่ความ หรือบุคคลใดๆ”ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“มาตรา ๙๔ ให้ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจที่ทำการค้นในที่รโหฐานสั่งเจ้าของหรือคนอยู่ในนั้น หรือผู้รักษาสถานที่ซึ่งจะค้น ให้ ยอมให้ เข้าไปโดยมิหวงห้าม อีกทั้งให้ความสะดวกตามสมควรทุกประการในอันที่จะจัดการตามหมาย ทั้งนี้ ให้พนักงานผู้นั้นแสดงหมาย หรือถ้าค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย ก็ ให้ แสดงนามและตำแหน่ง.
ถ้าบุคคลดังกล่าว..............”
คำว่า “ให้” ในมาตรา ๙๔ นี้ มีอยู่ ๖ คำ คำแรก และคำที่สอง เป็นคำช่วยกริยา แสดงสภาพบังคับ คำที่ ๓ เป็นคำกริยา หมายความว่า อนุญาต คำที่ ๔ หมายความว่า มอบ คำที่ ๕ และที่ ๖ เป็นคำช่วยกริยา แสดงความบังคับ
คำบางคำ ที่อยู่ในกฎหมาย เราคิดว่าไม่มีความหมาย และไม่เคยแปล แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ได้ให้คำนิยามความหมาย ซึ่งอธิบายขยายความได้ ทำให้เราอ่านกฎหมายแล้วเข้าใจได้กว้างขวางขึ้น เช่น-“ฐาน” เมื่อนำไปใช้ในกฎหมายอาญา
๐ เป็นคำสันธาน หมายความว่า เพราะ เช่น ถูกลงโทษฐานละเลยต่อหน้าที่ กฎหมายไม่นิยมเขียนว่า ถูกลงโทษเพราะ ละเลยต่อหน้าที่ และ นำไปใช้ในการตั้งชื่อลักษณะความผิดในประมวลกฎหมายอาญา เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ และวิ่งราวทรัพย์, ความผิดฐานฉ้อโกง.
“โดยที่”๐ เป็นคำสันธาน หมายความว่า เพราะเหตุว่า. คำนี้มักพบในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายต่างๆ เป็นคำขึ้นต้น เช่น
โดยที่ สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรที่จะยกเลิกบรรดากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งต่างๆ ที่ใช้อยู่ ณ บัดนี้..........”ถ้อยคำในกฎหมาย หลายคำ กฎหมายไม่ได้ให้คำนิยามความหมายไว้ หากเราไม่เปิดดูจากพจนานุกรม เราอาจไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง ที่เป็นทางราชการ และไม่สามารถอธิบายขยายความได้ คงใช้วิธีจำเอาไว้ และทราบความหมายเพียงเลาๆ ไม่ชัดเจน เช่น
“ประมวลกฎหมาย”
๐ เป็นคำนาม หมายความว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่รวบรวมกฎหมายในลักษณะเดียวกันไว้เป็นระบบ ตามหลักวิชาการ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา , ประมวลรัษฎากร.
“บทบัญญัติ”๐ เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อความที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมาย.
“สิทธิ”๐ เป็นคำนาม หมายความว่า อำนาจอันชอบธรรม, ความสำเร็จ.
๐ เป็นคำในกฎหมาย เป็นคำนาม หมายความว่า อำนาจที่จะกระทำการใดๆได้อย่างอิสระ โดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย.
“หน้าที่”๐ เป็นคำนาม แปลว่า กิจที่ควรทำ, กิจที่จะต้องทำ, วงแห่งกิจการ.
“อำนาจ”๐ เป็นคำนาม หมายความว่า อิทธิพลที่จะบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมทำตาม ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือไม่ .
๐ ความสามารถบันดาลให้เป็นไปตามความประสงค์ เช่น อำนาจบังคับของกฎหมาย อำนาจบังคับบัญชา.
๐ ความบังคับบัญชา เช่นอยู่ใต้อำนาจ.
๐ การบังคับ เช่น ขออำนาจศาล.
๐ สิทธิ เช่น มอบอำนาจ.
“บังคับ”๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ใช้อำนาจสั่งให้ทำ หรือ ปฏิบัติ.
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ให้จำต้องทำ เช่น ตกอยู่ในที่บังคับ.
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ให้เป็นไปตามความประสงค์ เช่น บังคับเครื่องบินให้ขึ้นลง.
“มาตรา”๐ เป็นคำในกฎหมาย เป็นคำนาม หมายความว่า บทบัญญัติในกฎหมายที่แบ่งออกเป็นข้อๆ .
“อนุมาตรา”๐ เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อย่อยของมาตราในกฎหมาย ที่มีเลขกำกับอยู่ในวงเล็บ.
“วรรค”๐ เป็นคำในกฎหมาย เป็นคำนาม หมายความว่า ย่อหน้าหนึ่งๆของบทบัญญัติ ในแต่ละมาตรา ของกฎหมาย.
๐ ช่วงหนึ่งของคำ หรือ ข้อความที่สุดลง แล้วเว้นเป็นช่องว่างไว้ระยะหนึ่ง.
๐ เรียกคำหรือข้อความช่วงหนึ่งๆว่า วรรคหนึ่งๆ.
“บรรดา” เป็นคำวิเศษณ์ หมายความว่า ทั้งหลาย ทั้งปวง ทั้งหมด.
“ข้อเท็จจริง”๐ เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อความ หรือ เหตุการณ์ที่เป็นมา หรือ ที่เป็นอยู่ ตามจริง,
๐ เป็นคำในกฎหมาย เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อความ หรือ เหตุการณ์ที่วินิจฉัยแล้วว่า เป็นจริง.

“ข้อกฎหมาย”



๐ เป็นคำในกฎหมาย เป็นคำนาม หมายความว่า ปัญหาข้อโต้เถียง หรือ ข้อโต้แย้ง ในเรื่อง ข้อความที่เกี่ยวกับการใช้บังคับกฎหมาย หรือ การตีความกฎหมาย.
“ประเด็น”



๐ เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อความสำคัญของเรื่องที่แยกหยิบยกขึ้นพิจารณา.
๐ เป็นคำในกฎหมาย เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อเท็จจริง หรือ ข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญที่คู่ความยกขึ้นเป็นข้ออ้างในคดี.
“รับผิด”๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ยอมรับสารภาพ,
๐ เป็นคำในกฎหมาย เป็นคำกริยา หมายความว่า มีหน้าที่ผูกพันตามกฎหมาย ที่จะต้องชำระหนี้ หรือ กระทำการ หรือ งดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง.
“ความผิด”


เป็นคำนาม หมายความว่า เรื่องที่ไม่ตรงกับความจริง หรือ ที่กำหนดนิยมไว้“กระทำความผิด”
 หมายความว่า กระทำการที่กฎหมายห้าม และ ถือว่า เป็นความผิด ซึ่งมีผลให้ต้องถูกลงโทษตามที่กฎหมายกำหนด.
“รับผิดชอบ”

๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ยอมตามผลที่ดี หรือ ไม่ดีในกิจการที่ ได้กระทำไป.
“ล้มละลาย”

 เป็นคำกริยา หมายความว่า สิ้นเนื้อประดาตัว, หมดทรัพย์สมบัติของตัว,
๐ เป็นคำในกฎหมาย เป็นคำกริยา หมายความว่า มีหนี้สินล้นพ้นตัว และ ศาลได้มีคำพิพากษาให้ล้มละลาย เป็นต้น.

****************************

บทที่ ๒
เหตุแห่งทุกข์ประการที่ ๒
อ่านกฎหมายไม่รู้เรื่อง เพราะ ไม่รู้ว่า กฎหมายคืออะไร
 การที่เราจะอ่านหนังสือกฎหมาย หรือ จะเรียนกฎหมาย ถ้าหากเราไม่รู้ว่า สิ่งที่เรา จะอ่าน จะเรียน คืออะไร เสียก่อน ก็เป็นการยากที่จะทำความเข้าใจในสิ่งนั้น.
วิธีแก้ความทุกข์ เรื่องไม่รู้ว่ากฎหมายคืออะไร ?
ทำได้โดยเราต้องค้นคว้าหาความหมาย ให้ทราบเสียก่อนว่า กฎหมายคืออะไร?
คำว่า "กฎหมาย" เป็นคำศัพท์ ภาษาไทย ที่สำคัญคำหนึ่ง ซึ่งทางราชการ บัญญัติขึ้น และได้ให้คำนิยามความหมายไว้. ดังนั้น คู่มือ ที่เราจะใช้ค้นคว้าที่ดีที่สุด คือ หนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕.
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้คำนิยามความหมายของคำว่ากฎหมายไว้ว่ากฎหมาย
๐ บทบัญญัติซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ ได้ตราขึ้นไว้ เพื่อใช้ในการบริหารบ้านเมือง และบังคับบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ผู้ใดฝ่าฝืนต้องได้รับโทษ หรือต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑)
จากคำนิยามความหมายดังกล่าว คำว่า กฎหมาย สามารถแยกองค์ประกอบ ออกได้เป็น ๔ ข้อคือ๑. กฎหมายเป็นบทบัญญัติ.
๒. ผู้มีอำนาจตรากฎหมาย จะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ.
๓. บทบัญญัติที่กำหนดไว้ มี ๒ ประเภท คือ
(๑) บทบัญญัติ ที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง.
(๒) บทบัญญัติที่ใช้บังคับบุคคล ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง).
๔. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องได้รับโทษ หรือ ต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม.
ซึ่งจะได้อธิบายตามลำดับไป๑. กฎหมายเป็น บทบัญญัติ.
บทบัญญัติ เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในกฎหมาย การที่เราจะทราบว่า บทบัญญัติ คืออะไร เราคงต้องดูจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้นิยามความหมาย ของถ้อยคำที่เกี่ยวข้องไว้ว่า
“บท”๐ เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อความเรื่องหนึ่งๆ หรือ ตอนหนึ่ง
“บัญญัติ” เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อความที่ตรา หรือ กำหนดขึ้นไว้เป็น ข้อบังคับ เป็นหลักเกณฑ์ หรือเป็นกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติ พุทธบัญญัติ บัญญัติ ๑๐ ประการ.
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ตรา หรือ กำหนดขึ้นไว้เป็น ข้อบังคับ เป็นหลักเกณฑ์ หรือ เป็นกฎหมาย เช่น บัญญัติศัพท์ บัญญัติกฎหมาย.
“ข้อบังคับ” หรือ “กฎข้อบังคับ” หมายความว่า บทบัญญัติที่เป็นชั้นข้อบังคับ ซึ่งกำหนดขึ้นไว้เป็นระเบียบในการปฏิบัติ หรือดำเนินการตามกฎหมาย.
“บังคับ”
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ใช้อำนาจสั่งให้ทำ หรือ ให้ปฏิบัติ, ให้จำต้องทำ.
“บทบัญญัติ” หมายความว่า ข้อความที่กำหนดไว้เป็น ลายลักษณ์อักษร ในกฎหมาย.
“ลายลักษณ์” หมายความว่า ตัวหนังสือ หรือเครื่องหมายเป็นรูปต่างๆ.
“อักษร” หมายความว่า ตัวหนังสือ, เครื่องหมายใช้ขีดเขียนแทนเสียง หรือ คำพูด.
จากคำนิยามความหมายของถ้อยคำ ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ทำให้เราทราบว่า บทบัญญัติ คือข้อความ ซึ่งกำหนดขึ้นไว้เป็นระเบียบในการปฏิบัติ หรือดำเนินการ ซึ่งจะต้องมีการบังคับ หรือใช้อำนาจสั่งให้ทำ หรือ ให้ปฏิบัติ และจะต้องบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร การที่ กฎหมาย ต้องบันทึกไว้เป็น ตัวอักษร ก็เพื่อให้เป็นหลักฐานที่จะยกขึ้นมาอ้างอิงได้ในภายหลัง หากไม่มีลายลักษณ์อักษรก็จะต้องใช้วิธีจำเอาไว้ ซึ่งอาจหลงลืม หรือจำผิดเพี้ยนกันไป อันเป็นเหตุให้เกิดการโต้เถียงกัน และไม่มีทางหาข้อยุติได้.๒. ผู้มีอำนาจตรากฎหมายจะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ.การที่เราจะทราบว่าใครบ้างเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ที่มีอำนาจบัญญัติกฎหมาย เราต้องทราบเสียก่อนว่า อำนาจคืออะไร?
คำว่า “อำนาจ” มีหลายความหมาย คือ
๐ สิทธิ เช่น มอบอำนาจ.
๐ อิทธิพลที่จะบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมทำตาม ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือไม่.๐ ความสามารถบันดาลให้เป็นไปตามความประสงค์ เช่น อำนาจบังคับของกฎหมาย อำนาจบังคับบัญชา.
๐ ความสามารถ หรือสิ่งที่สามารถทำหรือบันดาลให้เกิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ เช่น อำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และ สิ่งศักดิ์สิทธิ์.
๐ กำลัง, ความรุนแรง, เช่นชอบใช้อำนาจ.
๐ ความบังคับบัญชา เช่น อยู่ใต้อำนาจ.
๐ การบังคับ เช่น ขออำนาจศาล.
“สิทธิ สิทธิ์”

๐ เป็นคำในกฎหมาย หมายความว่า อำนาจที่จะทำการใดๆได้อย่างอิสระ โดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย เช่น สิทธิบัตร.
ที่มาของอำนาจ
อำนาจ ที่จะบังคับแก่บุคคลทั่วๆไปได้ จะต้องมาจากจากบทบัญญัติของกฎหมาย บัญญัติรับรองไว้.
อำนาจตามกฎหมาย มี ๒ ประเภท คือ อำนาจของบุคคล (บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล) และ อำนาจสูงสุดของประเทศ (อำนาจของทางราชการ)
ที่มาของอำนาจของบุคคล ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น อำนาจปกครองของบิดามารดา ที่มีต่อบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ (มาตรา ๑๕๖๖) อำนาจของผู้อนุบาล อำนาจของผู้พิทักษ์ .
อำนาจของบุคคล กฎหมายมักจะใช้คำว่า สิทธิ เพราะเป็นอำนาจที่ใช้บังคับกันภายในสถาบันของตน จะนำไปใช้กับบุคคลภายนอกไม่ได้.
ที่มาของอำนาจสูงสุดของประเทศ ได้แก่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓ บัญญัติว่า
มาตรา ๓ อำนาจอธิปไตย เป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทาง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และ ศาล ตามบทบัญญัติแห่ง รัฐธรรมนูญนี้.
อำนาจอธิปไตย คือ อำนาจสูงสุดของรัฐเอกราช ที่ใช้ในการปกครองประเทศ แบ่งออกเป็น ๓ อำนาจ คือ
(๑) อำนาจนิติบัญญัติ. (๒) อำนาจบริหาร. (๓) อำนาจตุลาการ.อำนาจนิติบัญญัติ คือ อำนาจในการบัญญัติกฎหมาย หรือ ตรากฎหมาย ที่เรากำลังพูดถึง.
สำหรับประเทศไทย ซึ่งในอดีตมีการปกครองด้วย ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็น ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากนั้นก็มีการปฏิวัติรัฐประหารอีกหลายครั้ง ระหว่างปฏิวัติ คณะปฏิวัติได้ออก ประกาศของคณะปฏิวัติใช้เป็นกฎหมายหลายฉบับ กฎหมายที่บัญญัติไว้เดิม ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง และบัญญัติโดย คณะปฏิวัติ หลายฉบับ ยังมีผลใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบันนี้.
ผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ ที่มีอำนาจบัญญัติกฎหมาย จึงได้แก่ สถาบันต่างๆ ๖ สถาบัน คือ
(๑) พระมหากษัตริย์. (๒) คณะปฏิวัติ หรือรัฐประหาร. (๓) สภาผู้แทนราษฎร. (๔) รัฐสภา. (๕) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ. (๖) คณะรัฐมนตรี.
(๑) พระมหากษัตริย์ หรือ พระเจ้าแผ่นดิน หมายความถึงผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน.
เนื่องจากประเทศไทย ในอดีตมีการปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นระบอบการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิขาดในการบริหารประเทศ อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว พระราชโองการ หรือพระบรมราชโองการ เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ มาจาก พระดำรัสสั่งของพระมหากษัตริย์ ถือเป็นกฎหมาย และมีผลใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ดังจะเห็นได้ว่า คำว่า “พระราชบัญญัติ” ซึ่งหมายความถึงกฎหมาย มีใช้มาตั้งแต่สมัยที่ประเทศไทยมีการปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ภายหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ปวงชนชาวไทยได้ถวายอำนาจอธิปไตยให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้ ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ทรงใช้ อำนาจนิติบัญญัติ ทางสภาผู้แทนราษฎร (รัฐธรรมนูญฉบับแรก คือฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๕ มีสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร) ทรงใช้อำนาจบริหาร ทางคณะรัฐมนตรี และทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล.
(๒) คณะรัฐประหาร คณะรัฐประหารคือ คณะบุคคลที่ใช้กำลังยึดอำนาจ และเปลี่ยนแปลงรัฐบาล.
ประเทศไทยมีการ รัฐประหารครั้งแรก เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ต่อมาภายหลังได้มีการรัฐประหารอีกหลายครั้ง เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เรียกชื่อคณะรัฐประหารแตกต่างกันไป เช่น คณะปฏิวัติ , คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน, คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ, เป็นต้น.
คณะบุคคลเหล่านี้ เมื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินได้แล้ว ก็ประกาศยกเลิก รัฐธรรมนูญ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แล้วออกประกาศ เรียกว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ, คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน, ออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมาย และมีการยอมรับกันจนเป็นประเพณีนิยม ทั้ง ศาล และ รัฐบาล ก็ยังถือปฏิบัติ และ บังคับบัญชาให้อยู่จนปัจจุบันนี้ ยังไม่ได้มีการยกเลิกแต่ประการใด. เช่น ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔ เรื่องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐, คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ เรื่องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๓ เป็นต้น.
(๓) สภาผู้แทนราษฎร คือสถาบัน หรือองค์การของรัฐ ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ ทำหน้าที่บัญญัติกฎหมาย ตามบทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งประกาศใช้บังคับ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (ขณะนั้นมีสภาผู้แทนราษฎรสภาเดียว ยังไม่มี วุฒิสภา จึงไม่มีรัฐสภา). กฎหมายที่บัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรก็ยังใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ เช่น พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙
(๔) รัฐสภา คือสถาบัน หรือองค์การของรัฐ ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ อำนาจนิติบัญญัติ ทำหน้าที่นิติบัญญัติ หรือบัญญัติกฎหมายประกอบด้วย ๒ สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ.
(๕) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มี สภานิติบัญญัติสภาเดียว ทำหน้าที่บัญญัติกฎหมายแทนรัฐสภา (ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๓๔ กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ)
(๖) คณะรัฐมนตรี คือคณะบุคคลที่รัฐธรรมนูญ บัญญัติให้มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน และบัญญัติให้มีอำนาจ ตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือในกรณีมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากร หรือ เงินตรา ซึ่งจะต้องรับการพิจารณาโดยด่วน และลับ เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน ถือได้ว่าเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหาร เรียกว่า “พระราชกำหนด”.

๓. บทบัญญัติที่เป็นกฎหมาย มี ๒ ประเภท คือ
(๑) บทบัญญัติที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง.
(๒) บทบัญญัติที่ใช้บังคับบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง)
(๑) บทบัญญัติที่ใช้ในการบริหารบ้านเมืองก่อนที่จะรู้ว่าบทบัญญัติที่ใช้ในการบริหารบ้านเมืองคืออะไร เราจะต้องทราบเสียก่อนว่า การบริหารบ้านเมืองคืออะไร ?
การทำความเข้าใจในเรื่องนี้จำเป็นจะต้อง ทราบนิยามความหมายที่เป็นภาษาราชการ จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ของถ้อยคำต่างๆดังต่อไปนี้เสียก่อน คือ
“บริหาร” หมายความว่า จัดการ ดำเนินการ ปกครอง.
“ปกครอง” หมายความว่า ดูแล คุ้มครอง.
“คุ้มครอง” หมายความว่า ป้องกันรักษา ระวังรักษา ปกป้องรักษา.
“ดูแล” หมายความว่า เอาใจใส่ ปกปักรักษา ปกครอง.
“จัดการ” หมายความว่า สั่งงาน ควบคุมงาน ดำเนินงาน.
“สั่ง” หมายความว่า บอกไว้เพื่อให้ทำ หรือปฏิบัติ.
“แผ่นดิน” หมายความว่า รัฐ.
“รัฐ” หมายความว่า แว่นแคว้น บ้านเมือง ประเทศ.
“รัฐบาล” หมายความว่า องค์กรที่ใช้อำนาจบริหารในการปกครองประเทศ.
“คณะรัฐมนตรี” หมายความถึง คณะบุคคลซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน ๓๕ คน เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐).
“บ้านเมือง” หมายความว่า ประเทศชาติ รัฐ.
“ประเทศ” หมายความว่า ชุมนุมแห่งมนุษย์ ซึ่งตั้งมั่นอยู่ในดินแดนอันมี อาณาเขตแน่นอน มีอำนาจอธิปไตยที่จะใช้ได้อย่างอิสระ และ มีการปกครองอย่างเป็นระเบียบ เพื่อประโยชน์ของมนุษย์ที่อยู่รวมกันนั้น.
“ราชการ” หมายความว่า การงานของรัฐบาล หรืองานของพระเจ้าแผ่นดิน.
“ข้าราชการ” หมายความว่า บุคคลซึ่งรับราชการ โดยได้รับเงินเดือนจาก งบประมาณรายจ่าย หมวดเงินเดือน เช่น ข้าราชการพลเรือน, ข้าราชการการเมือง, ข้าราชการทหาร, ข้าราชการครู, ข้าราชการฝ่ายตุลาการ. เป็นต้น.
“เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับแต่งตั้ง ให้ ปฏิบัติราชการ ไม่ว่าเป็นประจำ หรือชั่วคราว และหมายความรวมถึงบุคคลผู้ทำหน้าที่ช่วยราชการ ซึ่งกฎหมายให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานเฉพาะกรณีด้วย.
“รับ” หมายความว่า ตกลงตาม เช่นรับทำ.
“ปฏิบัติ” หมายความว่า ดำเนินการไปตามระเบียบแบบแผน เช่น ปฏิบัติราชการ.
“การเมือง” เป็นคำนาม มีความหมายหลายความหมาย ได้แก่.
๐ งานที่เกี่ยวกับรัฐ หรือแผ่นดิน เช่น วิชาการเมือง ได้แก่วิชาว่าด้วยรัฐ การจัดส่วนแห่งรัฐ และ การดำเนินการแห่งรัฐ.
๐ การบริหารประเทศเฉพาะที่เกี่ยวกับ นโยบายในการบริหารประเทศ เช่นการเมืองระหว่างประเทศ ได้แก่การดำเนิน นโยบายระหว่างประเทศ.
๐ กิจการอำนวย หรือ ควบคุม การบริหารราชการแผ่นดิน เช่นตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ ตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่อำนวยการบริหารแผ่นดิน ได้แก่ คณะรัฐมนตรี หรือ ตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่ ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร
๐ ภาษาปาก (ภาษาพูด) เป็นคำกริยาวิเศษณ์ หมายความว่า มีเงื่อนงำ , มีการกระทำอันมีเจตนาอื่นแอบแฝงอยู่, เช่นป่วยการเมือง.
(ในสังคมไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะพวกที่เรียกตนเองว่า “นักการเมือง” และ บรรดา สื่อมวลชน จะพูดถึงคำว่าการเมือง ในความหมายของภาษาพูด จึงทำให้คำว่าการเมืองมีความหมายไปในทางที่ไม่ดี ทำให้คนไทยเข้าใจความหมายผิดๆ)
การบริหารบ้านเมือง จึงหมายความถึง การจัดการ สั่งการ ควบคุมดูแล กิจการงาน ทั้งหลายของบ้านเมือง หรือ ประเทศ หรือ แผ่นดิน หรือ รัฐ ซึ่งตามกฎหมายใช้คำว่า “ การบริหารราชการแผ่นดิน”
ราชการแผ่นดิน มีมากมายหลายประเภท หลายลักษณะ ไม่สามารถทำโดยบุคคลคนเดียว หรือ คณะเดียวได้ เพราะต้องการความรู้ความสามารถ หรือความชำนาญเฉพาะแต่ละงาน เช่น

งานเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักร, งานเกี่ยวกับการเงิน การคลัง, งานด้านที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับต่างประเทศ, การเกษตร, การประมง, การปศุ-สัตว์, การคมนาคม, การขนส่ง, การพาณิชย์, การบำบัดทุกข์บำรุงสุข, การรักษาความสงบเรียบร้อย และ การรักษาความมั่นคงภายในประเทศ, การศาล, การศาสนา, การศึกษา, การแพทย์, การสาธารณสุข, การอุตสาหกรรม เป็นต้น.
งานต่างๆเหล่านี้ เป็นงานของบุคคลผู้มี ตำแหน่งทางราชการ ซึ่ง มีหน้าที่ และ มีอำนาจ ตามกฎหมาย ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อ รักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และ ให้บริการแก่ปวงชนชาวไทย (รธน.มาตรา ๗๐)
การบริหารราชการแผ่นดิน เป็นหน้าที่ของใคร?การบริหารราชการแผ่นดิน เป็นหน้าที่ ของ คณะบุคคล คณะหนึ่ง เรียกว่า “ คณะรัฐมนตรี” แต่ รัฐมนตรี จะบริหารราชการตามอำเภอใจไม่ได้ จะต้อง บริหารราชการแผ่นดิน ตามบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และ ตามนโยบาย ที่ได้แถลงไว้ต่อ รัฐสภา และต้อง รับผิดชอบ ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในหน้าที่ของตน รวมทั้ง ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ต่อรัฐสภา ในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๐๑, ๒๑๑, และ ๒๑๒)

ในการปฏิบัติหน้าที่ บริหารราชการแผ่นดิน ผู้มีหน้าที่ จะต้องมี อำนาจ สำหรับ ใช้บังคับบุคคลผู้อยู่ใต้อำนาจบริหารให้จำต้องปฏิบัติตาม และ อำนาจนั้นต้องเป็นอำนาจที่มีกฎหมายรับรอง ดังนั้นจึงต้องมีกฎหมายบัญญัติให้ อำนาจ กำหนดหน้าที่ และ ความรับผิดชอบ ของเจ้าพนักงานผู้ที่มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน และ กฎหมายจะต้อง กำหนดระเบียบความเกี่ยวพันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน และ ความเกี่ยวพันระหว่างบุคคลธรรมดา กับ เจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ด้วย
ลักษณะของความสัมพันธ์ หรือ เกี่ยวพันของบุคคล ในเรื่องการบริหารประเทศ หรือ บริหารบ้านเมือง เป็น ความสัมพันธ์ ระหว่าง บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางราชการ ให้มีหน้าที่ ปฏิบัติราชการ ซึ่งเรียกว่า เจ้าพนักงาน กับ สามัญชน หรือบุคคลธรรมดา หรือ ความสัมพันธ์ ระหว่าง ผู้มีอำนาจปกครอง กับ ผู้ถูกปกครอง

กฎหมายที่ใช้บริหารราชการแผ่นดิน หรือ ปกครองประเทศ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกฎหมายแม่บท ในการจัดระเบียบการปกครองประเทศ และ จะต้องมี พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา, และ พระราชบัญญัติต่างๆ ที่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินโดยเฉพาะ เช่น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน , พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม , พระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การต่างๆของรัฐ, เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายต่างๆ, พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง , พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่, พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เป็นต้น.
คำว่า “บริหาร” มีความหมายอีกความหมายหนึ่งว่า “ปกครอง” กฎหมาย ที่บัญญัติเพื่อ ใช้ในการบริหารบ้านเมือง หรือ บริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องของเอกชน หรือเรื่องส่วนบุคคล ในทางวิชาการ เรียกกันว่า “กฎหมายปกครอง”
สรุป
กฎหมายสำหรับริหารราชการแผ่นดิน (กฎหมายปกครอง) เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเป็นกรอบบังคับให้ บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางราชการ ซึ่งเรียกว่า ข้าราชการมีหน้าที่ ต้องปฏิบัติราชการ ตามอำนาจที่กฎหมายกำหนด เพื่อ รักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และ ให้บริการแก่ปวงชนชาวไทย (รัฐธรรมนูญๆ มาตรา ๗๐) (ไม่ใช่ให้มาทำตัวเป็นนายปวงชนชาวไทย)
กฎหมายปกครอง จึงมี องค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญ ๕ ประการ คือ
(๑) สถาบัน (๒) ตำแหน่ง (๓) หน้าที่ (๔) อำนาจ (๕) ความรับผิดชอบ
“สถาบัน” ได้แก่ ส่วนราชการ (สถานที่ทำงาน) ที่กฎหมายตั้งขึ้น เพื่อให้มีหน้าที่ และ อำนาจในการปฏิบัติราชการ หรือ ทำงานของรัฐบาล มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ตามหน้าที่การงาน
กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อ จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และจัดตั้งส่วนราชการได้แก่ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๓๔.
กฎหมาย จัดแบ่งส่วนราชการของรัฐ หรือ ประเทศ หรือ บ้านเมือง ออกเป็น ๓ ส่วน คือ๑. ราชการส่วนกลาง (ราชการในเมืองที่เป็นที่ตั้งของรัฐบาล หรือ ที่เรียกว่า “เมืองหลวง” )
๒. ราชการส่วนภูมิภาค (ราชการในเมืองอื่นนอกจากเมืองหลวง หรือที่เรียกว่า “หัวเมือง” )๓. ราชการส่วนท้องถิ่น (ราชการในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งโดยเฉพาะ)
ส่วนราชการ หรือ องค์กรสำหรับเป็นที่ปฏิบัติราชการ มีชื่อเรียก ต่างๆกัน ได้แก่๑. ส่วนราช ส่วนกลาง ได้แก่
(๑).สำนักนายกรัฐมนตรี.
(๒) กระทรวง หรือ ทบวง ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง.
(๓) ทบวง ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ กระทรวง.
(๔) กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรม ซึ่งสังกัด หรือไม่สังกัด สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือ ทบวง
๒. ส่วนราชการ ส่วนภูมิภาค ได้แก่
(๑) จังหวัด
(๒) อำเภอ
๓. ส่วนราชการ ส่วนท้องถิ่น ได้แก่
(๑) องค์การบริหารส่วนจังหวัด
(๒) เทศบาล
(๓) สุขาภิบาล
(๔) ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด
ส่วนราชการที่กฎหมายจัดตั้งขึ้น ในแต่ละส่วนราชการ มีชื่อเรียกต่างๆกันไปตามลักษณะของงานราชการ เช่นกระทรวงกลาโหม กฎหมายกำหนดให้เป็นสถาบัน ที่ มี อำนาจหน้าที่ เกี่ยวกับ การป้องกัน และรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักร จากภัยคุกคามทั้งภายนอก และ ภายในประเทศ
กระทรวงยุติธรรม กฎหมายกำหนดให้เป็น สถาบัน ที่มี อำนาจหน้าที่ เกี่ยวกับการศาลยุติธรรม แต่ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี. (มาตรา ๒๔)
ในส่วนราชการที่ชื่อ กระทรวงยุติธรรม กฎหมายยังกำหนดให้มีส่วนราชการย่อยลงไป เพื่อแบ่งหน้าที่การงานภายในอีก คือ (๑) สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี (๒) สำนักงานปลัดกระทรวง (๓) กรมคุมประพฤติ (๔) กรมบังคับคดี (๕) สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ. (มาตรา ๒๒)
“ตำแหน่ง” หมายความถึง ฐานะทางราชการ ของข้าราชการที่ปฏิบัติราชการในส่วนราชการต่างๆ มีหน้าที่ และ อำนาจ ตามที่กฎหมายกำหนด มีชื่อเรียกต่างๆกันไป เช่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวง” เป็นตำแหน่งบริหารสูงสุดในกระทรวง มีฐานะเป็น ผู้บังคับบัญชาข้าราชการทั้งหมดในกระทรวง มีอำนาจกำหนดนโยบายของกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรืออนุมัติ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกระทรวง.
“หน้าที่” หมายความถึง การงานที่ควรทำ, การงานที่ต้องทำ, วงแห่งกิจการ.
กฎหมายจะกำหนด หน้าที่ ไว้ให้ผู้ที่มี ตำแหน่ง ต่างๆในราชการต้องปฎิบัติ. เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่ เกี่ยวกับการศาลยุติธรรม แต่ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา การศาสนา และการวัฒนธรรม.
“อำนาจ” หมายความถึง
๐ อิทธิพลที่จะบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมทำตาม ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือไม่.
๐ ความสามารถบันดาลให้เป็นไปตามความประสงค์.
หน้าที่ และ อำนาจ เป็นของคู่กัน และจะต้องเป็น หน้าที่ และ อำนาจตามกฎหมายเท่านั้น กฎหมายมักจะใช้เป็นคำรวมกันไป คือ “อำนาจหน้าที่”
กฎหมายจะกำหนด หน้าที่ และ อำนาจออกเป็น ๒ ประการ คือ อำนาจหน้าที่ของสถาบัน ที่เป็น ส่วนราชการ ซึ่งจะกำหนดไว้เป็นกรอบกว้างๆ กับ หน้าที่ และ อำนาจของบุคคล ที่เป็นข้าราชการ หรือ เจ้าพนักงาน ที่ดำรงตำแหน่งต่างๆในส่วนราชการต่างๆ.
การปฏิบัติหน้าที่บางอย่างไม่ต้องใช้อำนาจ เช่น หน้าที่ทำความสะอาดสถานที่ราชการ หน้าที่ส่งเอกสาร หน้าที่ของพนักงานการพิมพ์หนังสือ เป็นต้น.
“ความรับผิดชอบ” หมายความถึง การยอมตามผลที่ดี หรือ ไม่ดีในกิจการ ที่ได้ทำไป.
แต่ เมื่อนำไปใช้ในกฎหมายที่กำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานไว้ จะหมายความถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ซึ่งหมายความถึงภาระหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ให้สำเร็จ ลุล่วงไปด้วยดี เกิดประโยชน์ แก่ทางราชการ และปวงชนชาวไทย สมความมุ่งหมาย หรือ เป้าประสงค์ ของทางราชการ หากทำไม่สำเร็จ หรือ ทำแล้วเกิดความบกพร่องเสียหาย ก็ไม่ได้รับ ความดีความชอบ ซึ่ง อาจถูกโยกย้าย ให้พ้นจากหน้าที่ได้ หากเกิดความเสียหายเกินกว่าที่ควรจะเป็นตามความนิยม หรือ ความต้องการของสังคม หรือ ของบุคคลที่รู้ผิด รู้ชอบ ตามปกติ ที่ในทางกฎหมายใช้คำว่า "วิญญูชน"อาจต้องมีความผิดทางวินัย หรืออาจต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในฐานละเมิดได้ หากกระทำการใดๆอันเข้าลักษณะที่กฎหมายถือว่าเป็นการทำละเมิด ยิ่งกว่านั้น หากการกระทำเข้าลักษณะที่กฎหมายอาญา บัญญัติว่าเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้ ก็ต้องรับโทษทางอาญาอีกด้วย.
(๒) บทบัญญัติที่ใช้บังคับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (ไม่เกี่ยวกับ การบริหารกิจการบ้านเมือง)
ข้อบังคับของกฎหมายประเภทนี้ ไม่ใช่ข้อบังคับ ที่บัญญัติ เพื่อประโยชน์ในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งเป็นเรื่องของทางราชการเหมือนกฎหมายปกครอง หากแต่บัญญัติ เพื่อ กำหนดระเบียบความสัมพันธ์ หรือความเกี่ยวพัน ระหว่าง บุคคล.
คำว่า “บุคคล” หมายความถึงบุคคลตามความหมายของกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่บัญญัติถึงเรื่องของบุคคลไว้ ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ ลักษณะ ๒ แบ่งบุคคลออกเป็น ๒ ประเภท คือ
(๑) บุคคลธรรมดา
(๒) นิติบุคคล.
(๑) บุคคลธรรมดา หมายความถึง คน หรือ มนุษย์ ซึ่งสามารถมีสิทธิ และหน้าที่ตามกฎหมาย.
(๒) นิติบุคคล หมายความถึง กลุ่มบุคคล หรือ องค์กร ซึ่งกฎหมาย บัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา และ ให้มีสิทธิ และ หน้าที่ตามกฎหมาย องค์กรนั้นอาจเป็นองค์กรของรัฐที่กฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลด้วย.
นิติบุคคลจะต้องมี ผู้แทนของนิติบุคคล คนหนึ่ง หรือหลายคน ตามที่ กฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง กำหนดไว้ เป็น ผู้แสดงออกถึงความประสงค์ของนิติบุคคลนั้น (มาตรา ๗๐).
กฎหมายประเภทนี้ จะวางระเบียบความเกี่ยวพันระหว่างบุคคล ในเรื่องที่เกี่ยวกับ สถานภาพ สิทธิ หน้าที่ และ ความรับผิด ของบุคคล และ ความเกี่ยวพันทาง การค้า หรือ ธุรกิจ ระหว่างบุคคล ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ตามกฎหมาย ได้แก่ กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายอาญา และ พระราชบัญญัติต่างๆที่มีลักษณะเดียวกัน.
สำหรับกฎหมายอาญา เป็นกฎหมายที่มีลักษณะแตกต่างจาก กฎหมายแพ่ง และกฎหมายพาณิชย์ โดยกฎหมายอาญา จะมุ่งเน้นถึง การทำโทษ บุคคลผู้ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความเสียหาย ต่อความมั่นคงของประเทศ ต่อ ชีวิต ร่างกาย อนามัย สิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศชื่อเสียง และทรัพย์สินของบุคคลอื่น หรือ แก่สังคมโดยรวม เป็นต้น โดย จะกำหนดลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิด และกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการกระทำที่ถือเป็นความผิดไว้.
กฎหมายเอกชนจึงมีองค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญ ๔ ประการคือ
(๑) สถานภาพ (๒) สิทธิ (๓)หน้าที่ (๔) ความรับผิด
(๑) สถานภาพ หมายความถึง ฐานะ ตำแหน่ หรือ เกียรติยศ ของบุคคลที่ปรากฎในสังคม.
“ฐานะ” หมายความถึง ความเป็นอยู่ในครอบครัว, ความเป็นอยู่ในสังคม.
ความเป็นอยู่ในครอบครัว ได้แก่ในฐานะเป็น บิดา มารดา เป็นบุตร หลาน
ความเป็นอยู่ในสังคม ได้แก่ ในฐานะเป็นประธานในที่ประชุม เป็นหัวหน้าครอบครัว หัวหน้ากลุ่ม.
ตำแหน่งของบุคคลธรรมดา ไม่ใช่ ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ แต่เป็น ตำแหน่งหน้าที่การงาน ของเอกชน เช่นประธานบริษัท ประธานมูลนิธิ หรือประธานกรรมการ หรือกรรมการองค์กรของเอกชน.
(๒) สิทธิ หมายความถึง อำนาจที่จะกระทำการใดๆได้ โดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย.
สิทธิ ไม่เหมือนกับ อำนาจ มีความแตกต่างกันอย่างมาก เพราะ สิทธิ ไม่สามารถใช้บังคับบุคคลอื่นให้ปฏิบัติตามที่ตนต้องการได้ การที่เรามีสิทธิ หรือ เป็นผู้ทรงสิทธิ เป็นเพียง การก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่นที่จะต้องละเว้นไม่กระทำการใดๆอันเป็นการล่วงสิทธิ หรือ ละเมิดสิทธิของเรา เท่านั้น.
การใช้สิทธิ ที่กฎหมายกำหนดให้มีนั้น ก็ใช้ได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี ของประชาชน
หากมีบุคคลอื่นละเมิดสิทธิ ล่วงสิทธิ หรือโต้แย้งสิทธิ เราก็ไม่สามารถบังคับด้วยตนเอง เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ผู้ทรงสิทธิจะต้องใช้สิทธิฟ้องร้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จัดการให้ ตามบทบัญญัติของกฎหมาย เช่นนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลพิพากษาบังคับให้ หรือ ใช้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ (รัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๒๖, ๒๗, ๒๘)
สิทธิมีหลายประเภท ได้แก่(๑) สิทธิในชีวิตและร่างกาย.
(๒) สิทธิในชื่อเสียง.
(๓) สิทธิในทรัพย์สิน และ.
(๔) สิทธิอื่นๆตามที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์ไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ บัญญัติไว้ โดยกำหนดให้ออกกฎหมาย ในภายหลัง เช่น สิทธิที่จะได้รับการให้บริการจากรัฐ ในเรื่องการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า ๑๒ ปี โดยรัฐไม่เก็บค่าใช้จ่าย, สิทธิของบุคคลที่มีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ ที่จะได้รับความช่วยเหลือให้มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ, สิทธิของคนพิการ ที่จะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก, สิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐ, สิทธิที่จะฟ้องร้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย.
(๑) สิทธิในชีวิตและร่างกาย ได้แก่สิทธิที่จะดำรงความเป็นอยู่ สิทธิที่จะกระทำการใดๆ หรือ แสดงกริยาอาการใดๆ หรือพูดได้โดยอิสระ โดยได้รับการรับรองคุ้มครองจากกฎหมาย ทั้งนี้โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น (เสรีภาพ)
(๒)สิทธิในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือ ความเป็นอยู่ส่วนตัว ได้แก่สิทธิ ในเกียรติยศ หรือเกียรติโดยฐานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือ ชาติชั้นวรรณะ ความยกย่องนับถือ ความมีหนัามีตา.
(๓) สิทธิในทรัพย์สิน ได้แก่สิทธิในวัตถุ ทั้งที่มีรูปร่าง และ ไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและ ถือเอาได้.
ทรัพย์สิน มี ๒ ประเภท คือ
ก. อสังหาริมทรัพย์
๐ ทรัพย์ที่นำไปไม่ได้ คือทรัพย์ที่ติดอยู่กับที่ เช่น ที่ดิน.
๐ ที่ดิน และทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และให้หมายความรวมถึง ทรัพยสิทธิ อันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย.
ข. สังหาริมทรัพย์๐ ทรัพย์ที่นำไปได้ คือทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ ตรงข้ามกับอสังหาริมทรัพย์.
๐ ทรัพย์สินอื่น นอกจากอสังหาริมทรัพย์ และรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย.
สิทธิในทรัพย์สิน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรียกสิทธิชนิดนี้ ว่า “ทรัพยสิทธิ”
(มาตรา ๑๒๙๘ ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้ หรือ กฎหมายอื่น)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำนิยามความหมายของคำว่า “ทรัพยสิทธิ” ไว้ว่า
“ทรัพยสิทธิ” หมายความถึง สิทธิเหนือทรัพย์ ที่จะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย.
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนด สิทธิเหนือทรัพย์สิน หรือ ทรัพยสิทธิ ไว้ ๗ ชนิด คือ ( ดู ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ เรื่อง ทรัพย์สิน)
(๑) กรรมสิทธิ์ ได้แก่สิทธิทั้งปวง ที่เจ้าของมีอยู่เหนือทรัพย์สิน อันได้แก่ สิทธิใช้สอย จำหน่าย ได้ดอกผล กับทั้งสิทธิติดตาม และเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตน และสิทธิขัดขวางมิให้บุคคลอื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้น โดยมิชอบด้วยกฎหมาย. (มาตรา ๑๓๐๘–๑๓๖๖)
(๒) สิทธิครอบครอง ได้แก่สิทธิของบุคคลที่จะยึดถือทรัพย์สินไว้ โดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน. (มาตรา ๑๓๖๗–๑๓๘๖)
(๓) ภาระจำยอม ได้แก่ ข้อผูกพันอันเป็นเหตุให้เจ้าของ อสังหาริมทรัพย์ จำต้องรับกรรมบางอย่าง ซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่าง อันมีอยู่ในกรรมสิทธิทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่ อสังหาริมทรัพย์ อื่น เช่น ทางภาระจำยอม. (มาตรา ๑๓๘๗–๑๔๐๑)
(๔) สิทธิอาศัย กฎหมายแพ่งและพานิชย์ กำหนดให้มีแต่ สิทธิอาศัยในโรงเรือน. (มาตรา ๑๔๐๒–๑๔๐๙)
(๕) สิทธิเหนือพื้นดิน คือ สิทธิเป็นเจ้าของโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือ สิ่งเพาะปลูก บนดิน หรือใต้ดินนั้น. (มาตรา ๑๔๑๐–๑๔๑๖)
(๖) สิทธิเก็บกิน ได้แก่สิทธิ ซึ่ง ผู้ทรงสิทธิ มีสิทธิครอบครอง ใช้ และ ถือเอาซึ่งประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์. (มาตรา ๑๔๑๗–๑๔๒๘)
(๗) ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ข้อผูกพัน ที่ผู้รับประโยชน์ มีสิทธิ ได้รับชำระหนี้ เป็นคราวๆ จาก อสังหาริมทรัพย์ ที่ตกอยู่ในภาระติดพัน หรือได้ใช้ และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินตามที่ระบุไว้. (๑๔๒๙–๑๔๓๔)
(๓) หน้าที่ หมายความถึง กิจที่ควรทำ, กิจที่ต้องทำ, วงแห่งกิจการ.
หน้าที่มี ๒ประเภท คือ หน้าที่ตามกฎหมาย และหน้าที่ตามนิติกรรม หรือสัญญา.
หน้าที่ตามกฎหมาย ได้แก่หน้าที่ที่กำหนดไว้โดยชัดแจ้ง ตามรัฐธรรมนูญ หมวด ๔ (มาตรา ๖๖–๗๐) เช่น มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมาย หน้าที่ป้องกันประเทศ และ การมีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิของบุคคลอื่น ต้องละเว้นไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น.
หน้าที่ตามสัญญา ได้แก่การมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา เช่นเป็นลูกหนี้ ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัตการชำระหนี้ตามมูลหนี้ .หน้าที่ของสามัญชน แตกต่างจาก หน้าที่ของเจ้าพนักงาน เพราะ หน้าที่ของเจ้าพนักงาน เป็นหน้าที่ ที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อ รักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชน (มาตรา ๗๐)
(๔) ความรับผิด
ความรับผิดมี ๒ ประเภท คือ
(๑) ความรับผิดทางแพ่ง หมายถึง การมีหน้าที่ผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระหนี้ หรือ กระทำการ หรือ งดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง.
(๒) ความรับผิดทางอาญา หมายความถึงการรับ โทษทางอาญาตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาญา.
โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิด มี ๕ ประการ คือ
(๑) ประหารชีวิต (๒) จำคุก (๓) กักขัง (๔) ปรับ (๕) ริบทรัพย์สิน (มาตรา ๑๘)
หมายเหตุบุคคล ที่ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ และอำนาจ ตามกฎหมาย (ข้าราชการ หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ) ไม่มีความรับผิดทางวินัย
สรุป เรื่องประเภทของกฎหมาย
กฎหมาย แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
(๑) กฎหมายที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง เป็น กฎหมายที่กำหนดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่าง บุคคลผู้มีอำนาจปกครอง กับ บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง กับ ผู้ถูกปกครอง และ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง กับผู้ปกครองด้วยกัน กฎหมายประเภทนี้ บัญญัติขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารประเทศโดยเฉพาะ ในทางวิชาการเรียกกันว่า “กฎหมายปกครอง”
กฎหมายปกครอง มีองค์ประกอบ ที่เป็นสาระสำคัญ ๕ ประการ คือ ๑. สถาบัน ๒. ตำแหน่ง ๓. หน้าที่ ๔. อำนาจ ๕. ความรับผิดชอบ.
(๒) กฎหมายที่ใช้บังคับบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นกฎหมายที่กำหนดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลธรรมดา หรือ สามัญชน ด้วยกัน ทางวิชาการเรียกว่า “กฎหมายเอกชน”
กฎหมายเอกชน มีองค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญ ๔ ประการ คือ ๑. สถานภาพ ๒. สิทธิ ๓. หน้าที่ ๔. ความรับผิด
ข้อสังเกต๑. กฎหมายเอกชน ไม่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินแต่อย่างใด แม้ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะมีตำแหน่งหน้าที่ในทางบริหารราชการก็ตาม.
๒. กฎหมายเอกชนจะใช้คำว่า “สิทธิ” ไม่ใช้คำว่า “อำนาจ”.
๓. กฎหมายเอกชน ใช้คำว่า “ความรับผิด” ไม่ใช้คำว่า “ความรับผิดชอบ”.
๔. คำว่า “อำนาจ” และ “ความรับผิดชอบ” ในกฎหมายเอกชน จะใช้ในกรณี ผู้แทนของนิติบุคคล หรือ ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในสถาบันครอบครัว.
๕. ถ้อยคำต่างๆ เหล่านี้ บางครั้งกฎหมาย ก็ใช้โดยตรง บางครั้ง ใช้คำนิยามแทน ซึ่งเมิ่อแปลความหมายกลับแล้ว ก็จะได้ความเป็นอย่างเดียวกัน.

๔. กฎหมาย ต้องมีสภาพบังคับ
คำว่า “บังคับ” เป็นคำกริยา หมายความว่า ใช้อำนาจสั่งให้ทำ หรือสั่งให้ปฏิบัติ, ให้จำต้องทำ.
กฎหมายที่ประกาศใช้บังคับประชาชนให้ต้องปฏิบัติตามนั้น ประกอบด้วย กฎหมาย ๒ ลักษณะ คือ กฎหมายสารบัญญัติ และ กฎหมายวิธีสบัญญัติ ซึ่งต้องใช้ประกอบกัน จะขาดส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ได้ หากขาดส่วนหนึ่งส่วนใด กฎหมายก็จะไม่สมบูรณ์ ไม่มีสภาพบังคับ.
กฎหมายสารบัญญัติ คืออะไร?คำว่า “สาร, สาระ” หมายความว่า ส่วนสำคัญ, ข้อใหญ่ใจความ, แก่นสาร.
กฎหมายสารบัญญัติ จึงหมายความถึง กฎหมายที่บัญญัติ เพื่อกำหนดเนื้อหา หรือข้อความที่เป็นสารสำคัญ เกี่ยวกับ สถาบัน สถานะ อำนาจ สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ความรับผิด ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยกัน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับรัฐ ข้อห้าม ข้อบังคับต่างๆ ได้แก่ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน, กฎหมายแพ่งและพาณิชย์, กฎหมายอาญา, และพระราชบัญญัติต่างๆ.
กฎหมายวิธีสบัญญัติ คืออะไร?คำว่า "วิธี" หมายความว่า ทำนอง หรือหนทางที่จะทำ, แบบ, เยี่ยงอย่าง, กฎเกณฑ์.
ตัวอักษร "ส" เป็นคำประกอบหน้าคำอื่นที่มาจากภาษาบาลี และ สันสกฤต บ่งความว่า กอบด้วย, พร้อมด้วย, เช่น สเทวก หมายความว่า พร้อมด้วยเทวดา.
กฎหมายวิธีสบัญญัติ จึงหมายถึง กฎหมายที่ ประกอบด้วย หรือพร้อมด้วย มาตรการ แบบ วิธีการ หนทาง หรือ แนวทาง และ ขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายสาร
บัญญัติ หรือ กระบวนพิจารณา เพื่อให้กฎหมายสารบัญญัติ มีผลบังคับที่เห็นเป็นรูปธรรม ทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม จึงจะได้รับความรับรอง คุ้มครอง บังคับตามสิทธิ จะฝ่าฝืนไม่ได้ หากฝ่าฝืน ก็จะไม่ได้รับการรับรอง คุ้มครอง และอาจ ได้รับโทษ หรือ อาจถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาคดีพิเศษต่างๆ เช่น คดีภาษี คดีแรงงาน คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น.
มาตรการบังคับของกฎหมาย
กฎหมายได้กำหนดมาตรการ และ วิธีการบังคับไว้ ๒ ประเภทคือ(๑) การลงโทษ
(๒) การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อบังคับ.

(๑) การลงโทษ ผู้ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายอาญา จะต้องรับผิดในทางอาญา โดยจะต้องถูกลงโทษตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้
คำว่า "โทษ" หมายความว่า มาตรการที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับ ดำเนินการแก่ ผู้กระทำความผิดอาญา
โทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาญา มี ๕ ประการคือ
๑. ประหารชีวิต ๒. จำคุก ๓. กักขัง ๔. ปรับ ๕. ริบทรัพย์สินคำว่า " ลงโทษ" หมายความว่า ทำโทษ เช่น จำขัง จำคุก เป็นต้น.
(๒) การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อบังคับ การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมาย เป็นสภาพบังคับทางกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ การบังคับให้ชำระหนี้ หากไม่ชำระจะถูกบังคับยึดทรัพย์สินออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ หรืออาจถูกฟ้องให้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เป็นต้น ไม่มีการลงโทษเหมือนกรณีฝ่าฝืนกฎหมายอาญา.
เว้นแต่ ในชั้นบังคับคดี บางกรณี คดีที่ศาลออกคำบังคับให้ผู้แพ้คดี หรือ ลูกหนี้ตามคำพิพากษา (กระทำการ หรือ งดเว้นกระทำการ) เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับแล้ว ผู้แพ้คดี หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา จงใจไม่ปฏิบัติตามหมายบังคับคดี และผู้ชนะคดี หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีวิธีบังคับอื่นใดที่จะใช้บังคับได้ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้อำนาจศาลที่จะออกหมายจับผู้แพ้คดี หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษามากักขังไว้ เพื่อบังคับ แต่ห้ามมิให้กักขังแต่ละครั้งเกินกว่า หกเดือน นับแต่วันจับหรือกักขัง แล้วแต่กรณี (ป.วิแพ่ง. มาตรา ๒๙๗, ๓๐๐.)
*********************************

บทที่ ๓
เหตุแห่งทุกข์ประการที่ ๓
อ่านกฎหมายไม่รู้เรื่อง เพราะ ไม่รู้วิธีอ่านกฎหมาย
เมื่อเราทราบว่ากฎหมายคืออะไร ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว และทราบถึงความสำคัญของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ แล้ว การอ่านกฎหมายก็เริ่มจะพอเห็นทางว่าจะง่ายขึ้นแล้ว แต่หนังสือกฎหมายเป็นหนังสือที่บันทึกข้อความที่บัญญัติไว้เป็นข้อๆ ซึ่งศัพท์ทางกฎหมายเรียกว่า "มาตรา" และมีหัวข้อย่อยลงไปอีก มีตัวเลขอยู่ในวงเล็บเรียกว่า “อนุมาตรา” ไม่เหมือนกับหนังสือประเภทอื่นๆ วิธีการเขียน และภาษาที่ใช้ก็กระชับ ไม่ยืดยาวเยิ่นเย้อ ไม่เขียนข้อความซ้ำกัน แต่จะใช้วิธีอ้างถึงข้อความที่เขียนไว้แล้ว บางครั้งอ้างให้นำเอากฎหมายฉบับอื่น บางเรื่อง บางมาตรา มาใช้บังคับโดยอนุโลมอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการบัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่เพื่อใช้เฉพาะในกฎหมายแต่ละฉบับ ดังนั้น ถ้าเราไม่รู้วิธีอ่าน ไม่มีเทคนิค หรือ กลวิธีในการอ่าน อ่านแล้วจะจับต้นชนปลายไม่ถูก ยิ่งอ่าน ก็ยิ่งงง ไม่รู้เรื่อง.วิธีอ่านกฎหมาย
จากประสบการณ์ที่ได้อ่านกฎหมายมามาก และพยายามค้นคิดหา วิธีการอ่านกฎหมาย มาตลอด ทำให้ได้พบวิธีการอ่าน กฎหมาย ซึ่งได้ทดลองปฏิบัติแล้วได้ผลตามสมควร จึงขอนำเสนอวิธีการ และขั้นตอนของการอ่านกฎหมาย ดังต่อไปนี้คือ

(เพื่อให้มองเห็นภาพและวิธีการได้ชัดเจน
ผู้เขียนจึง นำเอาประมวลกฎหมายอาญา มาแสดงวิธีการอ่านให้เห็นเป็นตัวอย่าง)






วิธีอ่านประมวลกฎหมายอาญา
ขั้นตอนที่ ๑
จัดการดัดแปลงรูปแบบของสารบัญประมวลกฎหมายอาญา เสียใหม่ โดยทำเป็นแผนภูมิ ขีดเส้นแบ่งเป็นภาค เป็นลักษณะ เป็นหมวด และส่วน ให้สามารถมองเห็นพร้อมกันในหน้ากระดาษเดียวกัน ให้ได้ และเอามาดูประกอบในการอ่านกฎหมาย จะทำให้เรามองเห็นภาพโครงสร้างของกฎหมายที่เรากำลังอ่านทั้งหมด ว่าแบ่งออกเป็นกี่ภาค กี่ลักษณะ กี่หมวด กี่ส่วน และขณะที่เรากำลังอ่านจะได้รู้ว่าเรากำลังอยู่ในเรื่องอะไร ขั้นตอนใด ไม่ปะปนกับเรื่องอื่น.
หมายเหตุ ผู้เขียนได้ดัดแปลงรูปแบบของสารบัญกฎหมายสำคัญๆ ไว้เป็นตัวอย่างแล้ว อยู่ท้ายคำบรรยายนี้.ขั้นตอนที่๒
อ่านสารบัญที่ดัดแปลงไว้แล้ว เริ่มตั้งแต่ ชื่อกฎหมาย แล้วหาคำจำกัดความ หรือความหมายให้ได้เสียก่อน โดยใช้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ .๒๕๒๕ เป็นคู่มือ.
ด้วยเหตุผลดังได้อธิบายแล้วข้างต้น การทำเช่นนี้ ทำให้เราสามารถทราบความหมายของชื่อกฎหมายฉบับนั้นได้ เมื่อทราบชื่อ และความหมายของชื่อกฎหมายแล้ว เราก็พอจะทราบได้ ในเบื้องต้นว่า กฎหมายฉบับนั้นจะมีเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญอย่างไร จะบัญญัติข้อความ ที่เป็นข้อบังคับไปใน แนวทางใด คือพอจะรู้ถึงความมุ่งหมาย หรือ เจตนารมณ์ ของกฎหมายอาญาบ้างแล้ว เช่น
ชื่อกฎหมาย “ประมวลกฎหมายอาญา”“ประมวล” หมายความว่า หนังสือที่รวบรวมสิ่งซึ่งเป็นประเภทเดียวกัน เช่นประมวลกฎหมาย.
“กฎหมายอาญา” หมายความถึง กฎหมายที่กำหนดลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิด และกำหนดโทษทางอาญาสำหรับความผิดนั้น.
ประมวลกฎหมายอาญา จึงหมายความว่า หนังสือที่รวบรวมกฎหมายที่กำหนดลักษณะของการกระทำ ที่ถือว่าเป็นความผิด และกำหนดโทษทางอาญาสำหรับความผิดนั้น.ขั้นตอนที่ ๓หาความหมายของหัวข้อเรี่องตามสารบัญตามลำดับไป

มาถึงขั้นตอนนี้ทำให้เราทราบถึง ความมุ่งหมาย และโครงสร้าง ของประมวลกฎหมายอาญาทั้งหมด แล้ว ว่า ประมวลกฎหมายอาญา แบ่งออกเป็นภาคใหญ่ๆ ๓ ภาค แต่ละภาค จะกล่าวถึงเรื่องอะไร กล่าวคือ
ภาค ๑ บทบัญญัติทั่วไป
บทบัญญัติในภาค ๑ นี้ เป็นบทบัญญัติ ที่เกี่ยวกับ คำจำกัดความ หรือ คำนิยามความหมายของถ้อยคำ หรือ ข้อความต่างๆ ที่จะนำไปใช้ในภาค ๒ และ ภาค ๓. ยังไม่ได้กล่าวถึงลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิด ยังไม่ได้กล่าวถึง อัตราโทษ
บทบัญญัติทั่วไป ยังแบ่งออกเป็นลักษณะใหญ่ๆได้ ๒ ลักษณะ แตกต่างกัน คือลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป เป็นบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่ คำนิยามความหมาย ของถ้อยคำ หรือคำศัพท์ที่จะใช้ต่อไป และกำหนดลักษณะของการกระทำต่างๆ ว่าคืออะไรหมายความว่าอย่างไร บทบัญญัติในลักษณะนี้ บัญัติไว้เพื่อใช้กับบทบัญญัติใน ภาค ๒ และภาค ๓
บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป ประกอบด้วย หมวดย่อยๆ รวม ๙ หมวด คือ ๑. บทนิยาม ๒. การใช้กฎหมายอาญา ๓.โทษ และวิธีการเพื่อความปลอดภัย ๔. ความรับผิดในทางอาญา ๕.การพยายามกระทำความผิด ๖. ตัวการและผู้สนับสนุน ๗. การกระทำความผิดหลายบท หรือหลายกระทง ๘. การกระทำความผิดอีก ๙. อายุความ
ลักษณะ ๒ บทบัญญัติที่ใช้แก่ ความผิดลหุโทษ คือข้อบังคับ หรือกฎเกณฑ์ ที่ใช้เฉพาะ บทบัญญัติ ในภาค ๓ ที่ว่าด้วยเรื่อง ลหุโทษ
คำว่า “ลหุโทษ” หมายความว่า โทษเบา, โทษไม่ร้ายแรง

คำว่า “ความผิดลหุโทษ” หมายความถึง ความผิด ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.
ภาค ๒ ภาคความผิด
คำว่า “ผิด” หมายความว่าไม่ตรงกับที่กำหนดนิยมไว้, ไม่ถูก
คำว่า “ความผิด” เมื่อมาอยู่ในกฎหมาย จึงหมายความถึง ผิดกฎข้อบังคับ หรือกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นกฎหมาย ซึ่งเรียกว่า ผิดกฎหมาย บทบัญญัติใน ภาค ๒จึงเป็น บทบัญญัติที่กำหนดลักษณะของการกระทำ ที่ถือว่าเป็นความผิดกฎหมาย และกำหนดโทษทางอาญา สำหรับความผิดแต่ละประเภท.
ประมวลกฎหมายอาญา ได้แบ่งลักษณะของความผิด ซึ่งแตกต่างกัน ๑๒ ลักษณะ บางลักษณะ ยังแบ่งออกเป็นหมวดย่อยๆอีกหลายหมวด แต่ละหมวด มีข้อบัญญัติอีกหลายข้อ เรียกว่า “มาตรา”
ภาค ๓. ภาคความผิดลหุโทษ คือภาคที่ว่าด้วย ความผิดที่มีลักษณะของการกระทำไม่ร้ายแรง ความเสียหายที่เกิดแก่ผู้เสียหายก็ไม่มาก จึงได้กำหนดโทษไว้น้อย หรือเบากว่าความผิดทั่วไป คือกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน ๑ เดือน และกำหนดโทษปรับไว้ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท
ขั้นตอนที่ ๔.เริ่มต้นอ่านกฎหมายทีละมาตรา ตั้งแต่มาตราแรกจนจบเมื่อรู้ความหมายของชื่อกฎหมาย โครงสร้างของกฎหมาย และหัวข้อเรื่องทั้งใหญ่ ทั้งย่อยแล้ว ลงมืออ่าน บทมาตรา ต่างๆ ของกฎหมายเรียงลำดับไปตั้งแต่มาตราแรก ถ้าคำศัพท์คำใด ไม่มีคำนิยามความหมายไว้ในกฎหมาย หรือเราไม่แน่ใจว่าเราจะทราบความหมายได้ถูกต้องหรือไม่ ก็เปิดดูคำนิยาม จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แล้วพยายามทำความเข้าใจ จนจบ และ คอยดูสารบัญว่า มาตราที่เรากำลังอ่านอยู่นั้น อยู่ตรงส่วนไหน ภาคใด ลักษณะใด หมวดใด ส่วนใด โดยวิธีนี้ อ่านเที่ยวแรก อาจมีความเข้าใจได้ทั้งหมด หากยังเข้าใจไม่หมด ให้อ่านทบทวนอีกหลายๆเที่ยว และต้องไม่ลืมว่า ทุกถ้อยคำที่เอามาเขียนเรียงกันไว้ตามหลักภาษาไทย ในตัวบทกฎหมายล้วนมีความหมายทั้งสิ้น จะเว้นไม่หาความหมายไม่ได้เลย

ขั้นตอนที่ ๕
พยายามตั้งชื่อตัวบทกฎหมายให้ได้มากที่สุด
เมื่อเข้าใจตัวบทแล้วพยายามตั้งชื่อตัวบทให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้จำได้ง่าย เช่น ตั้งชื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตร ๕๙ วรรคสอง ว่า เจตนา วรรคสี่ ว่า ประมาท มาตรา ๖๐ ว่า กระทำโดยพลาด มาตรา ๖๑ ว่า สำคัญผิด มาตรา ๖๘ ว่า ป้องกันโดยชอบ มาตรา ๓๓๔ ว่า ลักทรัพย์ และ มาตรา ๓๙๘ ว่า ทำทารุณ เป็นต้น.

ขั้นตอนที่ ๖.
อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาประกอบ
เพื่อตรวจสอบว่า เรามีความเข้าใจกฎหมายถูกต้องหรือไม่ การที่ให้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากศาลฎีกาเป็นสถาบัน หรือองค์การของรัฐ ที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีอำนาจ หน้าที่ ในการพิจารณาพิพากษาคดี และคำพิพากษาศาลฎีกา ให้ถือว่า เป็นที่สุด ในทางนิติประเพณี จึงถือเอาคำวินิจฉัยของศาลฎีกา เป็นบรรทัดฐาน ในการตีความ ครั้งต่อๆไป จนกว่า คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับหลังจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น.
นอกจากนี้ คำพิพากษาศาลฎีกา เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาด ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากชีวิตจริง ซึ่งเกิดขึ้นในแง่มุมต่างๆกัน ทำให้เราสามารถเข้าใจข้อกฎหมายได้กว้างขวางขึ้น.
สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกา ได้มีผู้รวบรวมคำพิพากษาศาลฎีกาเฉพาะกฎหมายไว้แล้วหามาอ่านได้ไม่ยาก.หมายเหตุ
การอ่านกฎหมายตามวิธีที่ผู้เขียนได้แนะนำไว้นี้ เมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนทุกอย่างแล้ว โดยเฉพาะได้หาคำนิยามความหมายของถ้อยคำทุกคำ และทุกข้อความแล้ว ก็ยังมีข้อสงสัย หรือข้อโต้แย้งกันอยู่ ยังหาข้อยุติไม่ได้ จึงต้องมีวิธีการที่จะ กำหนดความหมายอันแท้จริงของบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อให้ได้ข้อยุติ วิธีการเช่นว่านี้ ในทางกฎหมาย เรียกว่า“การตีความกฎหมาย”
การตีความกฎหมายคืออะไร และมีหลักเกณฑ์อย่างไร ซึ่งจะได้อธิบายต่อไป


 *********************************************** 


บทที่ ๔
เหตุแห่งทุกข์ประการที่ ๔
อ่านกฎหมายไม่รู้เรื่อง เพราะ ไม่มีระบบในการค้นหา
เพื่อนำออกมาใช้
แต่ดั้งเดิมมา เครื่องมือในการค้นหากฎหมาย เพื่อนำออกมาใช้ที่สำคัญที่สุด ก็คือสารบัญกฎหมาย แต่ปัจจุบันนี้ เป็นยุคโลกาภิวัตน์ อันเป็นยุคที่ ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใดสามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง ซึ่งเนื่องมาจากการพัฒนาระบบการแสดงหรือชี้แจงข่าวสารต่างๆ หรือที่เรียกในทางวิชาการว่า “สารสนเทศ” และยังมีเครื่องมือเครื่องใช้สมัยใหม่ เช่นคอมพิวเตอร์มาช่วยในการทำงานของมนุษย์ สามารถสร้าง ชุดคำสั่งสำหรับให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานต่างๆ (SOFTWARE) ได้มากมาย.
วิธีแก้ทุกข์ ในเรื่องไม่มีระบบในการค้นหากฎหมาย ในที่นี้จะกล่าวถึงเครื่องมือที่สามารถจัดทำได้โดยง่ายด้วยตนเอง ได้แก่สารบัญกฎหมาย ที่ผู้เขียนได้ดัดแปลงรูปแบบไว้เป็นตัวอย่างแล้ว (รวบรวมไว้ท้ายเล่ม) เมื่อเราอ่านกฎหมายจนเข้าใจแล้ว เราย่อมรู้ว่า เรื่องที่เราต้องการรู้อยู่ในกฎหมายประเภทไหน ได้แก่ กฎหมายปกครอง, กฎหมายแพ่ง, กฎหมายพาณิชย์, กฎหมายอาญา, หรือ กฎหมายวิธีพิจารณาความฉบับใด ภาคใด ลักษณะ หมวด และส่วนใด เมื่อทราบแล้วก็สามารถค้นหา บทมาตรา ซึ่งเป็นรายละเอียดได้ง่าย เพราะได้พยายามนำมารวบรวมไว้ในหน้ากระดาษเดียวกัน หากจะให้ค้นหาง่ายขึ้นอีก ต้องทำสารบัญรายละเอียดของแต่ละหมวด และแต่ละส่วน ลงไปอีก.
นอกจากนี้ เมื่อเราทราบว่า กฎหมายประเภทใด มีองค์ประกอบที่สำคัญอะไรบ้าง ถ้าเราสามารถแยกออกไว้เป็นส่วนๆก็จะค้นหาได้ง่ายยิ่งขึ้นอีก เช่น เรื่องสิทธิ และ หน้าที่ ของบุคคลที่เปรียบเหมือนตัวละคร ในกฎหมาย ว่าตัวละครแต่ละตัว มีหน้าที่อะไรบ้าง เมื่อ มีสิทธิ และเสรีภาพในการที่จะกระทำการใดๆได้โดยอิสระโดยมีกฎหมายรับรอง และคุ้มครองตาม รัฐธรรมนูญแล้ว การจะใช้สิทธิของตน หรือ การที่จะเรียกร้องสิทธิ ของตนตามกฎหมาย บุคคลนั้น มีหน้าที่ที่จะต้องกระทำการใดๆตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้เสียก่อน เป็นต้น

****************************

บทที่ ๕
การตีความกฎหมาย
ปัญหาเรื่องการตีความกฎหมาย เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการบังคับใช้กฎหมาย หากตีความผิด ไม่ถูกต้องตามความมุ่งหมาย หรือ เจตนารมณ์ ของกฎหมาย ก็จะพาให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดผลในทางตรงกันข้าม คดีความที่ควรชนะ กลับกลายเป็นแพ้ ที่ควรแพ้กลับเป็นชนะ ซึ่งอาจมีผลให้เกิดความเสียหาย แก่ประเทศชาติ หรือ แก่ตัวบุคคล มากมาย
ในส่วนความเสียหายแก่ประเทศชาติ หรือ บ้านเมือง หากผู้มีอำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการตีความไม่ถูกต้อง อาจมีผลทำให้คณะรัฐมนตรี (รัฐบาล) หรือรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง ประเทศชาติอาจต้องผูกพันเป็นหนี้สินสถาบันการเงินต่างชาติ การบริหารราชการแผ่นดินอาจผิดพลาดขัดต่อกฎหมาย หรือ เกิดความขัดข้องติดขัด ไม่สามารถดำเนินกิจการงานต่างๆให้เกิดประโยชน์แก่รัฐ หรือประชาชนโดยรวมได้โดยรวดเร็ว
สำหรับความเสียหายส่วนบุคคล อาจมีผลถึงกับ สิ้นชีวิต, สิ้นอิสรภาพ, สิ้นอำนาจ, สูญเสียตำแหน่งหน้าที่การงาน, เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง, สูญเสียทรัพย์สิน, สิ้นสิทธิอันพึงมีพึงได้, หรือต้องตกเป็นบุคคลล้มละลาย ทั้งๆที่ความจริงไม่ควรจะได้รับผลเช่นนั้น และหากเป็นเช่นนั้น กฎหมายฉบับนั้น หรือ มาตรานั้น จะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมเสียเอง ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจเรื่องการตีความให้ถูกต้องว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร
การจะทำความเข้าใจเรื่องการตีความกฎหมาย นั้น คำนิยามความหมายของถ้อยคำหรือ คำศัพท์ในภาษา ที่ทางราชการกำหนดให้ใช้มีความสำคัญที่สุด โดยจะต้องถือตามคำนิยามที่กฎหมาย หรือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติไว้เป็นหลัก เพื่อให้ทุกคนเข้าใจความหมายตรงกัน มิใช่ต่างคนต่างกำหนดคำนิยามตามความคิด และความเข้าใจของตนเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจตามลำดับคือ๑. ความหมายของคำว่า “ตีความ”
๒. หลักเกณฑ์ในการตีความ๑. ความหมายของคำว่า ตีความพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้คำนิยามความหมายของคำว่า “ตีความ” ไว้ว่า
ตีความ
๐ (ในทางกฎหมาย) เป็นคำกริยา หมายความว่า วิเคราะห์ถ้อยคำ หรือ ข้อความในกฎหมาย นิติกรรม สัญญา หรือ เอกสารอื่นๆ ที่มีปัญหาสงสัย หรือที่มีความหมายไม่ชัดเจนเพื่อกำหนดความหมายอันแท้จริง ของถ้อยคำ หรือ ข้อความนั้นๆ เช่นตีความกฎหมาย.
จากคำนิยามความหมายดังกล่าว มี ถ้อยคำ ที่ควรหาคำนิยามให้ชัดเจนต่อไปอีก จะทำให้เราเข้าใจความหมายของคำว่า “ตีความ” กว้างขวาง และชัดเจนยิ่งขึ้น ได้แก่ถ้อยคำต่อไปนี้วิเคราะห์๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ใคร่ครวญ, แยกออกเป็นส่วนๆใคร่ครวญ๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ตริตรอง, พิจารณา, คิดทบทวนถ้อยคำ๐ เป็นคำนาม หมายความว่า คำที่กล่าวคำ๐ เป็นคำนาม หมายความว่า ลายลักษณ์อักษรที่เขียน หรือ พิมพ์เพื่อแสดง ความคิด, เสียงพูด.กล่าว๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า บอก, แจ้ง, พูดข้อความ๐ เป็นคำนาม หมายความว่า เนื้อความตอนหนึ่งๆ, ใจความสั้นๆของเรื่อง.
คำว่า “ถ้อยคำ” และ คำว่า “ข้อความ” ซึ่งจะต้องมีการตีความกัน จึงหมายถึงเฉพาะที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือ ตัวหนังสือเท่านั้น.
เมื่อพิจารณาความหมายของถ้อยคำต่างๆจากคำนิยามแล้ว อาจอธิบายขยายความเพื่อให้เข้าใจได้ว่า การตีความ หมายถึงการหยิบยกเอาตัวอักษรที่เขียนไว้เป็นถ้อยคำ หรือ ข้อความ มา วิเคราะห์ เพื่อหาคำนิยามความหมายที่แท้จริงตามที่ทางราชการกำหนดไว้ เนื่องจากตัวอักษรที่ได้เขียน หรือ พิมพ์ไว้นั้น เป็นเครื่องสื่อความหมายให้ทราบถึงความประสงค์ หรือ ความมุ่งหมาย หรือ ความต้องการเฉพาะ หรือ เจตนารมณ์ ของผู้เขียน หรือผู้พิมพ์ และต้องถือว่า ผู้เขียน หรือ ผู้พิมพ์ ทราบความหมายของถ้อยคำต่างๆตรงตามที่ทางราชการได้กำหนดคำนิยามไว้
หมายเหตุการตีความจะต้องไม่มี การเติมความ คือไม่เพิ่มเติมตัวอักษร หรือ ข้อความลงไปในเอกสารที่จะตีความ และ ต้องไม่มี การตัดความ คือไม่ตัดตัวอักษร หรือ ข้อความที่มีอยู่ในเอกสารที่จะตีความออกไปเสียบ้างเมื่อทราบความหมายของคำว่า ตีความ แล้วควรได้ทราบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตีความด้วยได้แก่
๑. เหตุใดต้องมีการตีความ
๒. บุคคลผู้มีหน้าที่ตีความ
๓. สถาบันที่มีอำนาจชี้ขาดเรื่องการตีความ
๔. สาเเหตุที่ทำให้เกิดข้อโต้เถียงกันจนต้องมีการตีความ๑. เหตุใดจึงต้องมีการตีความ?
สาเหตุที่ต้องมีการตีความ เนื่องจาก ถ้อยคำ หรือ ข้อความ ใน กฎหมาย, นิติกรรม, สัญญา, หรือ เอกสารอื่นๆ เช่น พินัยกรรม, คำพิพากษาของศาล มีความหมายไม่ชัดเจน หรือที่มีปัญหาสงสัย หรือ มีข้อโต้เถียงกันจนหาข้อยุติไม่ได้ จึงต้องมีการตีความกัน เพื่อกำหนดความหมายที่แท้จริงของ ถ้อยคำ หรือข้อความนั้นๆ.
๒. บุคคลผู้ที่มีหน้าที่ตีความบุคคลผู้ที่มีหน้าที่ตีความ คือผู้ที่จะใช้กฎหมาย เมื่ออ่านกฎหมายแล้วหากไม่ตีความตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ตีความตามความรู้สึก หรือความเข้าใจของตนเอง และไม่ถือคำนิยามความหมาย หรือ คำศัพท์ ตามที่กฎหมาย หรือพจนานุกรมกำหนดไว้ เราอาจใช้กฎหมายไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจเป็นโทษแก่ตนเอง หรือ ผู้อื่นได้. และถ้าผู้ตีความเป็นผู้มีอำนาจตุลาการ หรืออำนาจบริหารราชการแผ่นดิน อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ หรือปวงชนชาวไทยได้.
๓. สถาบันที่มีอำนาจชี้ขาดเรื่องการตีความ
ในกรณีที่มีคดีความขึ้นสู่ศาล คือเมื่อคู่ความมีความเห็นไม่ตรงกัน หรือขัดแย้งกันแล้วนำคดีมาสู่ศาล อำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เป็นของศาล การวินิจฉัยข้อกฎหมาย ก้คือการตีความกฎหมายนั่นเอง
สถาบันศาลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอานาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มี ๔ ประเภท คือ (๑) ศาลรัฐธรรมนูญ (๒) ศาลยุติธรรม (๓) ศาลปกครอง (๔) ศาลทหาร แต่ละศาล มีอำนาจหน้าที่ ตามที่รัฐธรรมนูญ และ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแต่ละศาลบัญญัติไว้๔. สาเหตุที่ทำให้เกิดข้อโต้เถียงกันจนต้องมีการตีความสาเหตุที่ทำให้เกิดข้อโต้เถียงกันจนต้องมีการตีความ มีหลายประการ เช่น
(๑) เนื่องจากตัวอักษร ในภาษา ไม่อาจเขียนอธิบาย เพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจความหมาย หรือทราบความประสงค์ ที่แท้จริงที่อยู่ภายในจิตใจของบุคคล หรือไม่สามารถบรรยายให้ทราบถึงลักษณะอาการที่แสดงออกของบุคคลได้ละเอียดลึกซึ้งตรงกับความจริงได้ทุกกรณี และทุกเรื่องจึงทำให้มีการแปลความหมาย หรือตีความแตกต่างกัน ตามความคิด หรือความเห็นของแต่ละคน.
(๒) ถ้อยคำ หรือ คำศัพท์บางคำ ที่เขียนไว้ อาจมีความหมายได้หลายความหมาย หรือหลายนัย.
(๓) คนที่อยู่ต่างภาค ต่างท้องถิ่นกัน มีภาษาพูดต่างกัน ต่างเข้าใจความหมายของถ้อยคำ คำเดียวกันแตกต่างกัน ต่างโต้เถียงกัน และไม่มีทางหาข้อยุติได้”
(๔) คนที่อยู่ต่างอาชีพกัน กำหนดคำนิยามของถ้อยคำ คำเดียวกัน คนละความหมาย.
(๕) การมีความรู้ ความเข้าใจภาษาไทยตามหลักไวยกรณ์แตกต่างกัน.
(๖) การไม่ทราบคำนิยามความหมายที่ถูกต้อง ของภาษาราชการ.
(๗) ผู้เขียนถ้อยคำ หรือ ข้อความ เขียนผิด หรือ พิมพ์ผิด หรือ เว้นวรรคระหว่างคำ หรือ ระหว่างประโยคไม่ถูกต้อง.
(๘) ไม่เข้าใจกฎหมาย เนื่องจากไม่รู้วิธีอ่านกฎหมาย. ไม่เข้าใจกฎหมายทั้งระบบ ซึ่งมีกระบวนการ และวิธีการในการใช้กฎหมายให้ครบถ้วน เนื่องจากกฎหมายมีส่วนประกอบ ๒ ส่วน คือ กฎหมายสารบัญญัติ และ กฎหมายวิธีสบัญญัติ และกฎหมายยังแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้สำหรับบริหารราชการแผ่นดิน และ กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (ไม่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน)
(๙) เข้าใจกฎหมายดี แต่แสร้งเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือพวกพ้อง.อธิบาย
กรณีของถ้อยคำ คำเดียวกัน เขียนตัวสะกดเหมือนกัน เปล่งเสียงเหมือนกัน แต่มีความหมายต่างกัน เช่น
คำว่า “ส้วม” ภาษาราชการ หมายความว่า ที่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ แต่ ภาษาท้องถิ่น ทางภาคอีสาน หมายความว่า ห้องนอน
หากเป็นคำเบิกความของพยานในศาล ในคดีอาญา เกี่ยวกับเรื่องสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งพยานเป็นคนท้องถิ่นทางภาคอีสานไม่เข้าใจภาษาราชการเพราะขาดการศึกษา เบิกความว่า “จำเลยขังผู้เสียหายไว้ในส้วม แต่พยานที่ใช้ภาษาราชการ เบิกความว่า “จำเลยขังผู้เสียหายไว้ในห้องนอน” ผู้พิพากษา ผู้บันทึกคำเบิกความของพยานไม่เข้าใจจึงบันทึกคำเบิกความของพยานแต่ละปากไปตามที่ได้ฟังพยานเบิกความ เป็นเหตุให้ศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะประจักษ์พยานของโจทก์เบิกความไม่ตรงกัน ในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ คือสถานที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานของโจทก์ ไม่มีน้ำหนักมั่นคงให้ศาลเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง.กรณีข้อความ ที่มีความหมายไม่ชัดเจน หรือมีปัญหาสงสัยการที่ข้อความ มีความหมายไม่ชัดเจน หรือ มีปัญหาสงสัย อาจเนื่องมาจาก ผู้เขียน หรือ ผู้พิมพ์ เขียน หรือ พิมพ์ผิด หรือใช้ถ้อยคำไม่ถูก เพราะเข้าใจความหมายของถ้อยคำผิดจากที่ กฎหมาย หรือ พจนานุกรมบัญญัติไว้ เว้นวรรคระหว่างคำ หรือ ระหว่างประโยคไม่ถูกต้อง
กรณีใช้ถ้อยคำไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ใช้คำว่า ให้จำคุก” หรือ “ให้ลงโทษจำคุก” แทนคำว่า กำหนดโทษจำคุก” ในเรื่องการรอการลงโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ซึ่งถ้อยคำทั้งสองนี้ มีความหมายแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะคำว่า “ให้จำคุก” หมายความว่า บังคับให้เอาไปลงโทษด้วยวิธีขังไว้ในเรือนจำ แต่คำว่า “กำหนดโทษจำคุก” หมายความว่า ตั้งจำนวนโทษจำคุกที่จะลงแก่จำเลยไว้ ยังไม่ได้สั่งบังคับให้ลงโทษจำคุกแก่จำเลย.

กรณีเว้นวรรคไม่ถูกต้อง
ปัจจุบันนี้คนไทยเราเขียนหนังสือติดกันเป็นพืด ไม่มีเว้นวรรคระหว่างคำ ไม่เว้นวรรคระหว่างประโยค ผู้อ่านต้องอ่านแล้วเว้นวรรคเอาเอง ดังนั้นถ้าอ่านแล้วเว้นวรรคต่างที่กัน ความหมายก็จะแตกต่างกันไป เช่น
ข้อความว่า “ขี้หมาข้ากินหมดแล้ว” หากเขียนเว้นวรรคต่างที่กัน ความหมายจะแตกต่างกันอย่างตรงกันข้าม คือ
“ขี้ หมาข้ากินหมดแล้ว” หมายความว่า หมาของข้า กินขี้หมดแล้ว.
“ขี้หมา ข้ากินหมดแล้ว” หมายความว่า ข้า กินขี้หมาหมดแล้ว

๒. หลักเกณฑ์ในการตีความ
การตีความ ต้องตีความตามหลักเกณฑ์ ที่กฎหมายบัญญัติไว้ มิใช่ต่างคนต่างตีความ ตามความเห็น หรือ ตามความคิดของตน. ถ้าตีความตามความคิด ความเห็นของแต่ละคนสังคม และ บ้านเมืองจะเกิดความสับสน ไม่มีใครยอมใคร และหาข้อยุติไม่ได้ จึงต้องมีการบัญญัติกฎหมายขึ้นมาบังคับให้ทุกคนต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้การตีความกฎหมาย ตีความการแสดงเจตนา และ การตีความสัญญา เป็นระเบียบเดียวกัน มีความหมายตรงกัน หากกฎหมายฉบับใด ต้องการจะให้ ถ้อยคำ หรือ ข้อความ ที่มีใช้อยู่เดิมมีความหมายเป็นอย่างอื่น จะต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจน เช่น -
“ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น “ศาล” หมายความว่า ศาลยุติธรรม หรือ ผู้พิพากษาที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง”. เป็นต้น.กฎหมายที่บัญญัติหลักเกณฑ์เรื่องการตีความไว้ ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำหนดเรื่องการตีความไว้ ๓ ประการ คือ
๑. การตีความกฎหมาย ( มาตรา ๔ )
๒. การตีความแสดงเจตนา (มาตรา ๑๗๑)
๓. การตีความสัญญา (มาตรา ๓๖๘)
๑. การตีความกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔ บัญญัติว่า
มาตรา ๔ กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆแห่งกฎหมาย ตามตัวอักษร หรือ ตามความมุ่งหมาย ของบทบัญญัตินั้นๆ
เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตาม จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดี อาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป.
บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง หมายความว่า ในกรณีที่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ การตีความกฎหมาย จะต้องเริ่มต้นด้วยการตีความตามถ้อยคำ ที่เป็น ตัวอักษร ก่อน เนื่องจากตัวอักษร หรือ ตัวหนังสือ คือเครื่องหมายที่ใช้ขีดเขียนแทนเสียง หรือ คำพูด และ ได้มีการกำหนดคำนิยามความหมายกันไว้เพื่อให้เข้าใจความหมายตรงกัน และเป็นหลักฐานที่สามารถตรวจสอบ และอ้างอิงได้ เมื่ออ่านถ้อยคำที่เป็นตัวอักษรและแปลความหมายแล้ว ยังหาความหมายที่ชัดเจนไม่ได้ หรือ ยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันจนเป็นที่ยุติได้ จึงค่อยไปพิจารณาถึง ความมุ่งหมาย ของบทบัญญัตินั้นๆ.การตีความตามตัวอักษรการตีความตามตัวอักษรจะต้องเริ่มต้นที่การหาคำนิยามควมหมายของถ้อยคำ ที่เขียนในกฎหมายก่อน และคำนิยามจะต้องเอามาจากคำนิยามในกฎหมายฉบับนั้น หรือในกฎหมายอื่นที่กฎหมายฉบับนั้นอ้างถึง และในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งเป็นคำนิยามที่ทางราชการกำหนด คำบรรยาย หรือคำสอนของอาจารย์สอนกฎหมาย หรือความเห็นของ สมาชิสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กลุ่มนึ่ง หรือ คนใดคนหนึ่งในการอภิปรายตอบคำถามในที่ประชุมคณะกรรมการชุดต่างๆ แม้แต่ความเห็นของสมาชิกรัฐสภาบางคน บางกลุ่ม ถือไม่ได้ว่าว่าเป็นคำนิยามถ้อยคำ หรือ ข้อความในกฎหมาย ของทางราชการที่ทุกคนต้องถือตาม เว้นแต่รัฐสภาจะเห็นชอบด้วย และทำให้ปรากฎเป็นตัวอักษรในกฎหมาย ด้วยภาษาราชการ เนื่องจากกฎหมายบัญญัญัติไว้ด้วย ภาษาราชการ ไม่ได้บัญญัติด้วย ภาษาถิ่น หรือ ภาษาพูด
คำว่า ตัวอักษร ในที่นี้มิได้มีความหมายเฉพาะแต่ ความหมายของตัวอักษร แต่ละตัวเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงตัวอักษร ทุกตัวที่นำมาเขียนเรียงกันไว้ เป็นคำ เป็นวลี เป็นประโยค ตามหลักไวยากรณ์ ซึ่งเป็นวิชาภาษาว่าด้วย รูปคำ และระเบียบในการประกอบรูปคำให้เป็นประโยคด้วย. (ภาษาราชการคืออะไร ภาษาถิ่นคืออะไร ภาษาพูดคืออะไร ได้อธิบายไว้แล้ว)
ความหมายของถ้อยคำตาม ตัวอักษร จึงมีความสำคัญที่สุด ถ้าเราไม่รู้ความหมายที่ถูกต้อง ของคำศัพท์ภาษาไทย ที่เป็นภาษาราชการ แต่ละคำ ที่เขียนเรียงกันไว้ เป็นข้อความ เป็นประโยค เป็นวรรค เป็นมาตรา และ อนุมาตรา ตามหลักไวยากรณ์ เราก็ไม่สามารถทราบความหมายที่ถูกต้องแท้จริงของ ข้อความ หรือประโยค หรือวรรค หรือ มาตรา และ อนุมาตรา นั้นๆได้ และเป็นการแน่นอนว่า เราย่อมไม่อาจทราบถึง ความมุ่งหมาย ที่แท้จริงของ บทบัญญัตินั้นๆ และ ทำให้เราไม่สามารถตีความกฎหมาย อย่างถูกต้องได้. เพราะการแสดงออกถึงความมุ่งหมายก็ต้องแสดงออกโดยทางตัวหนังสือ เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ผู้อื่นได้รับทราบด้วย และเป็นหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้.
การตีความตามความมุ่งหมายของกฎหมายความมุ่งหมายของกฎหมาย คืออะไร?
มุ่งหมาย
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า เจาะจง
เจาะจง๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ตั้งใจเฉพาะ
เจตนารมณ์๐ เป็นคำนาม หมายความว่า ความมุ่งหมาย
คำว่า “เจตนารมณ์” และ คำว่า “ความมุ่งหมาย” จึงมีความหมายอย่างเดียวกัน
ความมุ่งหมายของกฎหมาย จึงหมายความว่า ความตั้งใจเฉพาะ หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นเอง
เราจะหาเจตนารมณ์ของกฎหมายได้จากที่ใด?เนื่องจากกฎหมาย คือบทบัญญัติ หรือกฎ ที่ผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศเป็นผู้ตราขึ้นใช้บังคับในบ้านเมือง เจตนารมณ์ของกฎหมาย ก็คือ เจตนารมณ์ของผู้มีอำนาจบัญญัติกฎหมาย ซึ่งได้แก่ สถาบันทั้ง ๖ สถาบัน เช่น พระมหากษัตริย์ และ รัฐสภา ดังได้อธิบายไว้แล้วข้างต้น เจตนารมณ์ดังกล่าวก็จะต้องแสดงออกเป็นลายลักษณ์อักษร ที่สามารถหยิบยกมาอ้างอิงได้ มิใช่เก็บเอาไว้ในใจ หรือความรู้ของผู้มีอำนาจบัญญัติกฎหมาย หรือในบันทึกส่วนตัว ของผู้ร่างกฎหมาย เท่านั้น.
ตามบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ รัฐสภา คือสถาบันที่มีอำนาจ บัญญัติกฎหมาย รัฐสภา เท่านั้น จึงมีอำนาจที่จะแสดงเจตนารมณ์ในการบัญญัติกฎหมายได้ สถาบันอื่นๆ หรือ คณะบุคคลใดๆ ก็ตามไม่มีสิทธิที่จะอ้างว่า ความคิดหรือ ความเห็นของตน เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย. เว้นแต่ รัฐสภาจะยอมรับเอาความเห็นนั้นๆ ว่าเป็นความเห็นของรัฐสภา. และได้บันทึกไว้ให้ปรากฎเป็นตัวอักษรในกฎหมายฉบับนั้นๆ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้.
การแสดงออกถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องแสดงออกด้วยตัวอักษร เพราะกฎหมายต้องตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
มีคำถามว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะอ้างว่าบันทึกรายงานการประชุมของสมาชิกจำนวนหนึ่ง เป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ?
คำตอบ สภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็น องค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๕๓๙ มาตรา ๒๑๑ อัฏฐ มีอำนาจหน้าที่ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เสนอ รัฐสภา เพื่อพิจารณาว่าจะรับเป็นร่างรัฐธรรมนูญของรัฐสภา หรือไม่ เท่านั้น
บุคลากรของสภาร่างรัฐธรรมนูญ เรียกว่า “สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ” (ส.ส.ร.)
สภาร่างรัฐธรรมนูญ มิใช่รัฐสภา จึงไม่มีอำนาจ ตรา หรือ บัญญัติ รัฐธรรมนูญ ความเห็นของ ส.ส.ร. ที่มิได้มีการบันทึกไว้ให้ปรากฎ เป็นลายลักษณ์อักษร ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ เรื่องการให้คำนิยามความหมาย ของถ้อยคำ หรือ ข้อความที่มีบัญญัติไว้ก่อนแล้ว ให้มีความหมายผิดแปลกไปจากความหมายเดิม ถือไม่ได้ว่าเป็น เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เว้นแต่ รัฐสภา จะเห็นพ้องด้วย และบันทึกไว้ให้ปรากฎในรัฐธรรมนูญ.
ดังนั้นการหาเจตนารมณ์ หรือ ความมุ่งหมายของกฎหมาย จะต้องหาจากหลักฐานที่เป็นเอกสารทางราชการ และมีกฎหมายรับรอง ได้แก่
(๑) จากชื่อของกฎหมาย
(๒) ข้อความในพระราชบัญญัติให้ใช้กฎหมายแต่ละฉบับ
(๓) บททั่วไป หรือ ข้อความเบื้องต้นในกฎหมายแต่ละฉบับ
(๔) คำปรารภในการบัญญัติกฎหมาย
(๕) ข้อความในตัวบทกฎหมายแต่ละบทมาตรา
(๖)หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติแต่ละฉบับ
(๗) บทบัญญัติในกฎหมายฉบับอื่นที่สัมพันธ์กัน หรือ มีกระบวนการต่อเนื่องกัน หรือ กล่าวถึง หรืออ้างถึง กระบวนการ หรือ ข้อความในกฎหมายฉบับอื่น
ชื่อกฎหมายบ่งบอกถึงเจตนารมณ์ในการบัญญัติกฎหมายได้ส่วนหนึ่ง เช่น
รัฐธรรมนูญ คือกฎหมายสูงสุดที่ว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองประเทศ
กฎหมายแพ่ง คือกฎหมายที่วางระเบียบความเกี่ยวพันระหว่างบุคคล เกี่ยวกับ สถานภาพ สิทธิ หน้าที่ และ ความรับผิดตามกฎหมาย.
กฎหมายพาณิชย์ คือกฎหมายที่วางระเบียบความเกี่ยวพัน ทางการค้า หรือ ธุรกิจ ระหว่างบุคคล.
กฎหมายอาญา คือกฎหมายที่กำหนดลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิด และกำหนดโทษทางอาญาสำหรับความผิดนั้น.
กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญา เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญา มาลงโทษ ตามที่กฎหมายกำหนด
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม คือกฎหมาว่าด้วยกาจัดระเบียบศาลยุติธรรม.
กฎหมายที่สัมพันธ์กัน หรือเกี่ยวพันกัน หรือ ที่มีกระบวนการต่อเนื่องกัน จะต้องใช้ประกอบกันจึงจะมีสภาพบังคับ ได้แก่ กฎหมายสารบัญญัติ กับ กฎหมายวิธีสบัญญัติเช่น ประมวลกฎหมายอาญา หากไม่มี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาใช้บังคับควบคู่กัน ก็ไม่สามารถดำเนินการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้.
กฎหมายที่มีการกล่าวถึงกระบวนการในกฎหมายฉบับอื่น เช่น รัฐธรรมนูญแแห่งราชอาณาจักรไทย กล่าวอ้างถึงการพิจารณา และพิพากษา และการลงโทษในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. การตีความรัฐธรรมนูญ จึงต้องนำบทบัญญัติในกฎหมายอาญา และ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาพิจารณาประกอบด้วย คือจะต้องพิจารณาว่า โทษคืออะไร การลงโทษคืออะไร จำคุกคืออะไร หมายจำคุกคืออะไร คำพิพากษาคืออะไร เขตอำนาจของศาล หน้าที่ของศาล อำนาจของศาล ถ้อยคำ หรือ ข้อความในคำพิพากษา ผลของคำพิพากษา ขั้นตอนในการบังคับคดีตามคำพิพากษาคดีอาญา ฯลฯ
๒. การตีความการแสดงเจตนา
มาตรา ๑๗๑ ในการตีความแสดงการเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริง ยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวน หรือ ตัวอักษร.
เจตนา หมายความว่า ตั้งใจ, จงใจ, มุ่งหมาย
ปัญหาจึงอยู่ที่ เราจะทราบถึงเจตนา หรือ ความตั้งใจ หรือ ความจงใจ หรือ ความมุ่งหมายอันแท้จริงได้อย่างไร ซึ่งจะต้องพิจารณาจากข้อมูล และองค์ประกอบต่างๆหลายองค์ประกอบด้วยกัน เช่น ตัวบทกฎหมาย ตัวอักษรที่เขียน หรือ พิมพ์ไว้ในเอกสาร การกระทำที่แสดงออก ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของเรื่องนั้นๆ จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น สถานภาพของคู่กรณี สถานการณ์ของบ้านเมือง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และ การเมือง เป็นต้น
๓. การตีความสัญญา
มาตรา ๓๖๘ สัญญานั้น ท่านให้ตีความตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย.
ประเพณี หมายความว่า สิ่งที่นิยมถือปฏิบัติสืบๆกันมา จนเป็น แบบแผน ขนบธรรมเนียม หรือ จารีตประเพณี.

ตัวอย่างการตีความกฎหมาย
การตีความรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๑๖ (๔)

มาตรา ๒๑๖ ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวเมื่อ
(๔) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก
ข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งจะต้องมีการตีความ คือ ข้อความว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” มีความหมายอย่างไร
การตีความจะต้องเริ่มตามที่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๔ บัญญัติไว้ คือ ตีความตามตัวอักษร หรือ วิเคระห์ถ้อยคำที่เป็นตัวอักษร ก่อน ว่ามีความหมายอย่างไร ถ้าได้ความหมายที่มีกำหนดไว้เป็นทางราชการชัดเจนแล้ว ก็ถือตามนั้น ถ้ายังไม่ได้ความหมายที่ถูกต้อง ชัดเจน และเป็นที่ยุติ จึงค่อยพิจารณาถึง ความมุ่งหมาย ของกฎหมาย.
ถ้าเราอ่าน รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๑๖ (๔) ทั้งข้อความ จะเห็นว่า ได้บัญญัติถึงเรื่องที่เกี่ยวกับ กฎหมายอาญา และ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การตีความจึงต้องนำกฎหมายทั้ง ๒ ฉบับ มาพิจารณารวมด้วย ว่า คำพิพากษา คืออะไร, คำพิพากษาได้ทำขึ้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่, คำพิพากษาใช้ถ้อยคำถูกต้องตรงตามกฎหมายหรือไม่, คำว่า “ให้จำคุก” มีความหมายอย่างไร.
นอกจากนี้ เราอาจต้องตีความ คำพิพากษาของศาล ทั้งฉบับ หรือ วิเคราะถ้อยคำบางคำ หรือข้อความบางตอน ในคำพิพากษา ว่ามีความหมายอย่างไร ทั้งนี้อาจต้องมีการตีความการแสดงเจตนาของศาล (ผู้พิพากษา) ที่เป็นผู้ทำคำพิพากษาฉบับนั้น ว่ามีเจตนาอย่างไร มีเหตุผลอย่างไรที่ใช้ถ้อยคำนั้นๆ ในคำพิพากษา ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ไม่ตรงตามถ้อยคำที่ใช้ในกฎหมาย ซึ่งอาจต้องใช้ หลักการตีความ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๑ คือต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริง ยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวน หรือ ตัวอักษร.
ถ้อยคำใน มาตรา ๒๑๖ (๔) ที่ควรทราบคำนิยามความหมายตามตัวอักษร ตามพจนานุกรม“ต้อง” เป็นคำกริยา หมายความว่า ถูก
“ถูก” เป็นคำช่วยกริยา แสดงว่า ประธานของประโยคเป็นผู้ถูกทำ
“คำพิพากษา” หมายความว่า คำวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินของศาล
“ให้” เป็นคำช่วยกริยา บอกความบังคับ เช่น ให้ทำ, ให้ไป, ให้จำคุก.
“จำ” เป็นคำกริยา หมายความว่า ลงโทษด้วยวิธีขัง เช่น จำคุก,
“คุก” เป็นคำนาม หมายความว่า เรือนจำ, ที่ขังนักโทษ.
“จำคุก” เป็นคำกริยา หมายความว่า ลงโทษด้วยวิธีขัง
“ขัง” เป็นคำกริยา หมายความว่า ให้อยู่ในที่ล้อม เช่นกรง คอก เล้า หรือ คุก
(เป็นคำในกฎหมาย) เป็นคำกริยา หมายความว่า กักขังผู้ต้องหา หรือจำเลยโดยศาล
“กักขัง” เป็นคำกริยา หมายความว่า บังคับให้อยู่ในสถานที่อันจำกัด, เก็บตัวไว้ในสถานที่อันจำกัด.
“โทษ” (เป็นคำในกฎหมาย) เป็นคำนาม หมายความถึง มาตรการที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับลงโทษ แก่ผู้กระทำความผิดอาญา มี ๕ ประการ คือ ๑. ประหารชีวิต ๒. จำคุก ๓. กักขัง ๔. ปรับ ๕. ริบทรัพย์สิน. (ป. อาญา มาตรา ๑๘)
“ลงโทษ” เป็นคำกริยา หมายความว่า ทำโทษ
ข้อความว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” จึงหมายความว่า ถูกศาลพิพากษาชี้ขาดว่า มีความผิดกฎหมายอาญาฐานใดฐานหนึ่ง และ มีคำสั่งให้ลงโทษจำคุก คือให้ลงโทษโดยวิธีนำตัวไปขังไว้ในเรือนจำ ซึ่งศาลจะต้องกำหนด จำนวนโทษจำคุก ไว้ในคำพิพากษาด้วย ซึ่งจะกำหนดเป็น ปี เดือน หรือ วัน. ซึ่งกระบวนการในการพิจารณาคดีอาญานั้นเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำเลยแล้ว จะต้องมีการดำเนินการต่อไปจนได้มีการนำตัวจำเลยไปลงโทษตามคำพิพากษาด้วยกระบวนการตามกฎหมาย หลังจากศาลพิพากษาให้จำคุกเมื่อศาล มีคำพิพากษาให้จำคุกบุคคลใดแล้ว กฎหมายกำหนดกระบวนการพิจารณา เพื่อดำเนินการหลังคำพิพากษาต่อไปอีก จึงจะถือว่าได้มีการลงโทษจำคุก ซึ่งประมวลฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๔ บัญญัติไว้ว่า.มาตรา ๗๔ ภายใต้บังคับ แห่งมาตรา ๗๓ และ มาตรา ๑๘๕ วรรค ๒ เมื่อผู้ใด ต้องคำพิพากษาให้จำคุก หรือ ประหารชีวิต หรือ จะต้องจำคุกแทนค่าปรับ ให้ศาล ออกหมายจำคุก บุคคลผู้นั้นไว้.บทบัญญัติ มาตรา ๗๔ ดังกล่าว เป็นบทบังคับ ให้ศาลมีหน้าที่ต้องดำเนินการต่อจากการมีคำพิพากษาให้จำคุก บุคคลใดแล้ว คือ จะต้องมีหน้าที่ ออกหมายจำคุก บุคคลผู้นั้น
เมื่อศาลออกหมายจำคุกแล้ว หมายจำคุกนั้นจะถูกส่งไปให้ผู้บัญชาการเรือนจำ ดำเนินการนำตัวบุคคลผู้นั้นไปกักขังไว้ที่เรือนจำ (ดูข้อความในหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด)
“หมายจำคุก” คือ หมายอาญาประเภทหนึ่ง ซึ่งหมายถึง หนังสือบงการของศาล ซึ่งออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารรณาความอาญา สั่งให้เจ้าหน้าที่ ทำการจำคุกจำเลย หรือ นักโทษ. (นำตัวจำเลยไปกักขังไว้ในเรือนจำ)
หมายจำคุกจึงถือได้ว่าเป็นหลักฐานตามกฎหมาย แสดงว่าศาล มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลย. ถ้าไม่มีหมายจำคุกก็ถือไม่ได้ว่าศาล มีคำพิพากษาจำคุกจำเลย.
มีปัญหาที่จะต้องตีความต่อไปว่า คำพิพากษาให้จำคุกจะต้องเป็นคำพิพากษาที่ถึงที่สุดเสียก่อนหรือไม่?
การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว มีกฎหมายที่จะต้องพิจารณาประกอบด้วยคือ๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตร ๓๓ บัญญัติว่ามาตรา ๓๓ ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหา หรือ จำเลย ไม่มีความผิด
ก่อนมีคำพิพากษา อันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดได้กระทำผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้.
บทบัญญัติดังกล่าว ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ก่อนศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด ยังถือไม่ได้ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้กระทำผิด ศาลก็ดี เจ้าพนักงานอื่นใดที่เกี่ยวข้องก็ดี จะปฏิบัติต่อบุคคลผู้นั้นเสมือนเขาเป็นผู้กระทำผิดมิได้ กล่าวคือ ศาลจะดำเนินการบังคับคดี โดยการออกหมาย จำคุก เพื่อสั่งให้ ผู้บัญชาการเรือนจำ จำคุกจำเลยทันทียังมิได้ จะต้องรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อน
๒. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค ๖ เรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษา บัญญัติว่า
มาตรา ๒๔๕ ภายใต้บังคับ มาตรา ๒๔๖, ๒๔๗, และ ๒๔๘ เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า
ศาลชั้นต้น มีหน้าที่ต้องส่งสำนวนคดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต หรือ จำคุกตลอดชีวิต ไปยังศาลอุทธรณ์ ในเมื่อไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษานั้น และคำพิพากษาเช่นว่านี้ จะยังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่ศาลอุทธรณ์ จะได้พิพากษายืน.การบังคับคดีตามคำพิพากษาที่ให้จำคุกจำเลย ก็คือ การที่ศาล ออกหมายบงการสั่งผู้บัญชาการเรือนจำ ให้ดำเนินการลงโทษจำคุกจำเลย ซึ่งเรียกหมายนั้นว่า หมายจำคุก
ตามบทบัญญัติมาตรา ๒๔๕ ดังกล่าวบังคับไว้ว่า จะทำการบังคับคดีได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น.
ในทางปฏิบัติ เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลย ศาลจะออกหมายขังจำเลยไว้ในระหว่างอุทธรณ์ฎีกา (เป็นหมายสีเหลือง) ศาลจะยังไม่ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด (หมายสีแดง)หมายเหตุแม้ว่ากฎหมายจะใช้ข้อความว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” ไม่ได้ใช้ข้อความว่า “ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก” ข้อความทั้ง สองข้อความนี้ ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากถูกบังคับโดยบทบัญญัติแห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๓ และ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๔ และ มาตรา ๒๔๕. ดังได้อธิบายมาแล้วข้างต้น.มีปัญหาที่จะต้องตีความต่อไปอีกว่า ถ้าศาลพิพากษาว่า รัฐมนตรีมีความผิดกฎหมายอาญาฐานใดฐานหนึ่ง แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ รัฐมนตรีจะต้องพ้นจากตำแหน่ง ตาม มาตรา ๒๑๖ (๔) หรือไม่?การตอบคำถามเรื่องนี้ จะต้องทำความเข้าใจ เรื่องการรอการลงโทษจำคุก ว่าการรอการลงโทษจำคุกคืออะไร มีหลักเกณฑ์ตามกฎหมายอย่างไร

การรอการลงโทษ
การรอการลงโทษคืออะไร?
เรื่องการรอการลงโทษ เป็นบทบัญญัติ ในประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๑ หมวด ๓ ส่วนที่ ๓ (มาตรา ๕๖)
มาตรา ๕๖ ผู้ใดกระทำความผิด ซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้น ศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี ถ้าไม่ปรากฎว่า ผู้นั้น ได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือ ปรากฎว่า ได้รัยโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือ ความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึงถึง อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือ สภาพความผิด หรือเหตุอื่นอันควรปราณีแล้ว เห็นเป็นการสมควร ศาลจะพิพากษาว่า ผู้นั้นมีความผิด แต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือ กำหนดโทษแต่ รอการลงโทษไว้ แล้ว ปล่อยตัวไป เพื่อให้โอกาสผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าปี นับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไข เพื่อคุมประพฟติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้.
เงื่อนไข………….ถ้อยคำที่ควรพิจารณา
“รอ” หมายความว่า ยับยั้ง หยุดไว้ พักไว้ ชงักอยู่.
“ลงโทษ” หมายความว่า ทำโทษ.
“โทษ” หมายความว่า มาตรการที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดอาญา ได้แก่ ประหารชีวิต, จำคุก, กักขัง, ปรับ, และ ริบทรัพย์สิน.
“กำหนด” หมายความว่า ตราไว้, หมายไว้, ตั้งไว้.
“กำหนดโทษ” หมายความว่า ตั้งโทษไว้ เช่น กำหนดโทษจำคุก ๖ เดือน และ ปรับ ๕๐,๐๐๐ บาท.อธิบายกรณีตาม มาตรา ๕๖ เฉพาะการรอการลงโทษเป็นบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์ที่จะใช้บังคับแก่บุคคลที่กระทำความผิดกฎหมายอาญาแล้ว แต่มีเหตุอันควรปราณีจำเลย หลายสาเหตุ ที่ทำให้จำเลยยังไม่ควรรับโทษถึงจำคุก กฎหมายจึงกำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้ไว้ เพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร เพื่อจะได้ปล่อยตัวจำเลยไป ในกรณีเช่นนี้เป็นกรณีที่ จำเลยกระทำความผิดกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษถึงจำคุก และในคดีนั้น ศาลวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง และในคดีนั้นถ้าศาลจะลงโทษจำเลยถึงจำคุก ก็จะลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน ๒ ปี และศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีเข้าเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๕๖ ดังกล่าว แล้วเห็นว่า ยังไม่ควรลงโทษจำเลยถึงจำคุก ในการกระทำความผิดครั้งนี้ กฎหมายกำหนดวิธีการไว้ว่า ให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด แล้วกำหนดโทษที่จะลงโทษไว้ แต่ให้ยับยั้งการลงโทษไว้ หรือ พักการลงโทษ หรือ รอการลงโทษจำคุกไว้ก่อน ยังไม่สั่งให้ลงโทษทันที ซึ่งศัพท์ทางกฎหมายใช้คำว่า “รอการลงโทษ” แล้วปล่อยตัวจำเลยไป โดยจะกำหนดเวลาไว้เพื่อให้จำเลยกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะกำหนด นับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติจำเลยไว้ด้วยก็ได้.
คำว่า “รอการลงโทษ” จึงหมายความว่า ได้มีการกำหนดโทษจำคุกเอาไว้แล้ว หยุด หรือ พักการทำโทษไว้ก่อน ยังไม่ลงโทษทันที จะมีการลงโทษก็ต่อเมื่อ มีการกระทำผิดเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้.
ในทางปฏิบัติ ส่วนมาก เมื่อศาลจะรอการลงโทษจำคุกจำเลย ศาลจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แล้วกำหนดโทษ ทั้งโทษจำคุก และ โทษปรับ แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ คงลงโทษปรับสถานเดียว. และจะต้องมีคำสั่งให้ ออกหมายปล่อย ตัวจำเลยไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ จึงไม่ถือว่า ผู้นั้น ต้องคำพิพากษาให้จำคุก
หมายเหตุคำพิพากษาคดีที่ศาลรอการลงโทษจำคุก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ หากจะใช้ข้อความให้ตรงตามตัวบทกฎหมาย จะต้องใช้ข้อความว่า
“พิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา …………..กำหนดโทษจำคุก……..เดือน และ ปรับ………บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดเวลา ……..ปี คงลงโทษปรับสถานเดียว ถ้าไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตาม มาตรา ๒๙, ๓๐ ให้…….” (ถ้าจำเลยต้องขังระหว่างพิจารณา ศาลต้องสั่งให้ออกหมายปล่อยตัวจำเลยไป)
ถ้าศาลทำคำพิพากษาโดย ใช้คำว่า “ให้จำคุก….” หรือ “ให้ลงโทษจำคุก” แทนคำว่า “กำหนดโทษจำคุก…” ในคดีที่ศาลรอการลงโทษจำเลย เป็นการใช้ถ้อยคำที่ไม่ตรงกับ มาตรา ๕๖ ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่าน ตีความคำพิพากษาฉบับนั้นว่า จำเลย ต้องคำพิพากษาของศาล ให้จำคุก ทำให้เกิดปัญหาการตีความขึ้นได้
อย่างไรก็ตามหากศาลใช้คำว่า ให้ลงโทษจำคุก แทนคำว่า กำหนดโทษจำคุก แต่ยังคงอ้างว่าอาศัยอำนาจตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ การตีความก็ต้องใช้หลักการตีความการแสดงเจตนา ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๑ เพราะคำพิพากษาของศาล ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นเอกสารราชการฉบับหนึ่ง ที่เขียนโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเท่านั้น การตีความคำพิพากษาจึงต้องตีความโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของผู้พิพากษาผู้ทำคำพิพากษาฉบับนั้น และ ความมุ่งหมายของกฎหมายอาญา เรื่องรอการลงโทษ ยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวน หรือ ตัวอักษร ในคำพิพากษา
ดังนั้น จึงต้องตีความ คำพิพากษาฉบับนั้น ให้ตรงตามความมุ่งหมาย ของมาตรา ๕๖ คือ ต้องตีความว่า ศาลเพียงแต่กำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเท่านั้น ไม่ได้สั่งให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่อย่างใด
การตีความรัฐธรรมนูญนั้นมิใช่จะต้องพิจารณาเฉพาะแต่ตีความตามตัวบทในรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะการจะวินิจฉัยข้อกฎหมายนั้น ป้ญหาข้อเท็จจริงจะต้องยุติเสียก่อน ถ้าข้อเท็จจริงยังมีปัญหาสงสัยอยู่ ก็ยังวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายไม่ได้ เช่นกรณียังมีปํญหาสงสัยว่า คำพิพากษาของศาล ได้ผ่านกระบวนการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หรือ ศาลเขียนคำพิพากษาใช้ถ้อยคำถูกต้องตรงตามข้อความที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ หากใช้ข้อความ หรือถ้อยคำไม่ถูกต้อง จะตีความคำพิพากษาฉบับนั้นอย่างไร เป็นต้น
****************************

สรุป
(๑) คดีที่จำเลย ต้องคำพิพากษาให้จำคุก หมายความว่า คดีนั้น จำเลยถูกศาลพิพากษาว่า มีความผิด และศาลมีคำสั่งให้ลงโทษจำคุก โดยศาลจะกำหนดระยะเวลาจำคุกไว้ด้วย ว่า ให้จำคุกมีกำหนดเวลาเท่าไร เป็น…..ปี……เดือน….หรือ วัน (จะไม่สั่งให้รอการลงโทษจำคุก และไม่สั่งให้ออกหมายปล่อยตัวจำเลย)
(๒) คำพิพากษาฉบับนั้นจะต้องถึงที่สุด จึงจะทำการบังคับคดีได้ คือปฏิบัติต่อจำเลยเสมือนเป็นผู้กระทำผิดได้ ( รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๓๓, ป.วิอาญา มาตรา ๒๔๕)
(๓) เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ศาลมีหน้าที่ต้องบังคับคดี โดย ออกหมายจำคุก จำเลย เพื่อสั่งให้ผู้บัญชาการเรือนจำ นำตัวจำเลยไปจำคุก คือเอาไปขังไว้ในเรือนจำ (ป.วิอาญา มาตรา ๗๔)
(๔) การที่ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด และเพียงแต่กำหนดโทษจำคุกที่จะลงแก่จำเลยไว้ แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ แม้คำพิพากษาจะถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่ถือว่า จำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุก เพราะ การรอการลงโทษ มีความหมายชัดเจนว่า มิใช่การลงโทษ (ถ้าศาลสั่งให้รอการลงโทษจำคุก ศาลจะต้องสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยด้วย)
ดังนั้น รัฐมนตรี ที่ถูกศาลพิพากษาว่า มีความผิดกฎหมายอาญา และได้กำหนดโทษ ทั้งโทษจำคุก และ โทษปรับ แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด คงลงโทษปรับสถานเดียว ไม่ถือว่า รัฐมนตรีต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก ตามนัย มาตรา ๒๑๖ (๔) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ความเป็นรัฐมนตรีจึงไม่สิ้นสุดลง
ซึ่งปัญหาในเรื่องนี้ได้เกิดเป็นประเด็นข้อโต้เถียงขึ้นมาในบ้านเมืองแล้ว จนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๑๒๕คนได้เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้ว ตามคำวินิจฉัยที่ ๓๖/๒๕๔๒ วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒
ที่เกิดเป็นกรณีให้มีการตีความกันเป็นคดีดังกล่าว เนื่องจากศาลชั้นต้น คือ ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ทำคำพิพากษาใช้ข้อความในกรณีที่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยว่า
“….จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ ให้ลงโทษจำคุก ๖ เดือน และ ปรับ ๕๐,๐๐๐ บาท ไม่ปรากฎว่า จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับ จัดการตามหระมวลกฎหมยอาญามาตรา ๒๙, ๓๐ กับให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์…..”
ข้อสังเกตศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ใช้คำว่า “ให้ลงโทษจำคุก” แทนคำว่า “กำหนดโทษจำคุก” จึงเป็นปัญหาให้ต้องมีการตีความกัน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นไม่ตรงกัน
ฝ่ายเสียงข้างมากมี ๗ เสียง วินิจฉัยว่า “…การรอการลงโทษมิใช่เป็นการต้องคำพิพากษาให้จำคุก ตามความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๖ (๔)…” รัฐมนตรีจึงไม่พ้นจากตำแหน่ง.
ฝ่ายเสียงข้างน้อย มี ๖ เสียง วินิจฉัยว่า “…การรอการลงโทษ ถือว่าเป็นการต้องคำพิพากษาให้จำคุก ตามความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๖ (๔) แล้ว….” รัฐมนตรีจึงต้องพ้นจากตำแหน่ง.
(ผู้เขียนได้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยกลาง และคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง ๑๓ ท่าน มาลงพิมพ์ไว้ท้ายเล่ม หนังสือนี้ ให้ได้อ่านเพื่อประโยชน์ในการศึกษา เรื่องการตีความด้วย)

ขอบคุณที่มา  http://www.thaijustice.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม