วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

เรียนกฎหมายอย่างไรให้สนุก


เรียนกฎหมายอย่างไรให้สนุก

ทำให้มีใจรัก นโปเลียน ฮิลล์ได้กล่าวไว้ในหนังสือกฎแห่งความสำเร็จ( The Law of Success)ว่า “ ท่านจะบรรลุความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ก็ต่อเมื่อท่านได้พบงานที่ท่านชอบที่สุด เนื่องจากมันเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันดีว่า คนเราย่อมจะบรรลุผลสำเร็จได้ดีที่สุด เฉพาะในงานที่เขาทุ่มเทลงไปทั้งหัวใจและวิญญาณ”


ท่านพุทธทาสภิกขุได้ยกตัวอย่างอย่างธรรมดาสามัญที่สุดว่าเป็นชาวนา เลี้ยงควายก็พอใจสนุกอยู่กับควาย เมื่อเห็น แม่ควายกินหญ้า ลูกควายกินนมก็สบายใจเหลือประมาณ เลี้ยงควายก็มีความสุข เป็นศิลปะอยู่ในการเลี้ยงควาย หมายความว่าเมื่อคุณจะทำอะไรคุณต้องมีปัจจัยความรักเป็นพื้นฐาน รักทั้งมวลที่เป็นสิ่งนั้น พอใจและมีความสุขที่จะอยู่กับมัน ผลที่ทำจึงจะได้ความ การเรียนวิชากฎหมาย คงไม่เหมือนกับหญิงชายที่อยู่กินกันไปนาน ๆ แล้วก็จะรักกันไปเองได้ หากไม่รักแต่ทนอยู่คุณนึกภาพดู ก็คงที่จะทู่ซี้อยู่ไปเรื่อย ๆ เพราะงานด้านกฎหมายเป็นวิชาชีพที่คุณจะต้องอยู่กับมันไปตลอด


เรียนกฎหมายอย่างไรให้สนุก 
เรียนกฎหมายให้ได้ผลคุณก็คิดให้มันเป็นเรื่องสนุก อย่าคิดว่าเป็นการทนทุกข์ ค่อย ๆ หัดคิดไป เรื่องทั่วไปก็หัดคิด หัดใคร่ครวญเช่น คำสั่งห้ามจอดรถตลอด ๒๔ ชั่วโมงหมายความว่าจอดครบ ๒๔ ชั่วโมงจอดไม่ได้แต่หากจอดไม่ตลอด ๒๔ ชั่วโมงจอดได้หรืออย่างไร หรือเขตทหารห้ามเข้า หมายถึงห้ามทหารเข้าไปในเขตนั้นคงเข้าได้เฉพาะพลเรือนใช่หรือไม่ ขับรถไปบนถนน เห็นป้ายเครื่องหมายจราจรของเจ้าพนักงานตำรวจวางไว้บนถนนเขียนว่า หยุดตรวจ ถามว่าคุณจะคิดอย่างไร หากมีตำรวจอยู่แสดงว่าให้คนขับหยุดรถให้ตำรวจตรวจ หากไม่มีตำรวจอยู่แสดงว่าให้รถผ่านไปได้ ตำรวจหยุดตรวจแล้ว หรือเห็นป้ายบอกว่า ขับช้า ๆ อันตราย หมายความว่า หากคุณขับรถช้าจะได้ รับอันตราย หรืออย่างไร หรือเห็นตามหน้าร้านสถานบันเทิงเขียนไว้หน้าร้านว่า เขตปลอดอาวุธ หมายความว่า ผู้ที่มีอาวุธให้เข้าไปอยู่ข้างในร้านใช่หรือไม่ เหล่านี้น่าจะเป็นตัวอย่างพื้นฐานของการเรียนวิชาทางกฎหมาย คือคิดจากองค์ความรู้ที่เรียนมาเพื่อปรับใช้ วินิจฉัยให้ต้องตามกฎเกณฑ์ ตัวบทกฎหมายที่วางไว้ โดยอาศัยเจตนารมณ์ของกฎหมายรองรับ เพราะหากไม่เข้าใจเจตนารมณ์ก็จะทำให้การวินิจฉัยผิดเพี้ยนไป ตัวอย่างที่ง่ายและยกกันอยู่เสมอ เช่น คุณเห็นป้ายปักอยู่กลางสนามเขียนว่า“ห้ามเดินลัดสนาม” คุณคงวิ่งหรือเข้าไปเล่นไม่ได้ด้วยเพราะเจตนารมณ์ต้องการที่จะรักษาสนามไว้ แต่ปัญหาของสังคมที่พบ ผู้ที่ฝ่าฝืนมักจะอ้างแต่ตัวบท ถือเพียงถ้อยคำกฎหมาย โดยไม่ได้นำเจตนารมณ์ มาใช้หรือเรียกว่า ”หัวหมอ” หัวหมอไม่ใช่ศีรษะแพทย์ แต่เป็นผู้ชอบที่จะไถไปเรื่อย แม้ว่าจะเอาสีข้างเข้าถูหรืออ้างข้างๆ คู ๆ ก็ตาม เช่นนี้กระมังที่ เช็คสเปียส์ ถึงกับเคยกล่าวด้วยความไม่วางใจว่า “The first thing we do,let’s kill the lawyers” ทั้งนี้เนื่องจากอาจจะต้องการ แก้ตัวให้พ้นผิดหรือมุ่งชนะคดีหรืออาจจะไม่รู้จริงก็ได้ เช่น เมื่อคุณเห็นป้ายหยุดตรวจ คุณก็ไม่หยุด ถูกจับได้ก็จะเถียงว่าก็ผมคิดว่าตำรวจหยุดตรวจแล้ว จึงติดป้ายไว้ หรือบางคดีสู้กันถึงศาลฎีกา ไปด่าเขาว่า “เฮงซวย” ก็พยายามที่จะนำสืบให้เห็นว่า เฮง ตามพจนานุกรมแปลว่า โชคดีเคราะห์ดี ซวย แปลว่าเคราะห์ร้าย,อับโชค ดังนี้ที่จำเลยบอกด้วยเสียงดังว่าโจทก์เป็นคนเฮงซวยนั้น ไม่ใช่คำด่าหรือดูหมิ่นนะ ลองเอาสองคำมารวมกันซิ หมายถึงว่า โจทก์เป็นคนเคราะห์ดีบ้างเคราะห์ร้ายหรืออับโชคบ้างเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ก็เท่านั้นเอง ไม่ได้ดูหมิ่นแต่อย่างใด เหล่านี้ทำให้บุคคลภายนอกซึ่งไม่เข้าใจก็จะกล่าวหาว่า นักกฎหมายเป็นคนเจ้าถ้อยหมอความไป ทั้งที่บางทีก็อาจจะเป็นการตีความบกพร่องโดยสุจริตบ้างไม่สุจริตบ้าง เรียนกฎหมายก็คงคล้าย ๆ กับการคิดข้างต้น


ตั้งเป้าใหญ่ 
ในชีวิตไม่ว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเรื่องใหญ่ในการปกครองประเทศชาติ พูดง่าย ๆ ว่าตั้งแต่เรื่องไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน รัฐบาลมีเป้าหมายที่ต้องการให้ประชาชนบนแผ่นดิน รวมทั้งชาวประมง มีความสุข เรียนกฎหมายการที่จะเรียนให้ดีได้ ก็เหมือนกับเรื่องอื่นในชีวิต ที่ต้องมีเป้าหมายของการกระทำชัดเจนแน่นอน ทำไมจึงพูดว่าหากไม่มีเป้า ยากที่จะทำให้เรียนกฎหมายได้ดี ลองจินตนาการดู หากคนสองคนคนหนึ่งบอกคุณว่าเรียน เพราะอยากเป็น ทนาย ที่ปรึกษากฎหมายใหญ่ ผู้พิพากษา อัยการ หรืออื่นๆกับอีกคนบอกว่าเรียนไปเรื่อย ๆ ได้ยินก็เห็นได้ถึงทิศทาง เนื่องจากความหวังจะเป็นพลังขับให้ผู้นั้นกระทำเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย


ตั้งเป้าเพื่ออะไร 
เมื่อคุณตัดสินใจลงเรียนวิชากฎหมาย ก็เหมือนคุณกำลังลงเรือ คุณไม่มีเป้าหมายก็เหมือนกับลงเรือแล้วไม่รู้ที่จะขับหรือพายไปทางไหน และในความเป็นจริงคุณยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าจะพายไปทำไม คุณก็พายไปเรื่อย ๆ วนวนเวียนเวียน เวียนอยู่ในอ่างหรือท่ามกลางเกลียวคลื่นตามชะตา เจอพายุมาก็พลิกคว่ำ ไม่รู้จะพายไปทำไม พายไปไหน กับอีกคนตั้งเป้าว่าจะเป็นที่หวังให้จงได้ การลงเรือหรือลงเรียนเป็นหนทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่วาดหวัง คุณก็จะนึกภาพได้ว่าคนที่เขามีเป้าหมายมั่นคง เขาก็จะมีความคิดกำลังใจมุ่งมั่นที่จะพายไปให้ถึงจุดหมายเขาโดยเร็วที่สุด เคยตั้งข้อสังเกตไหมว่าทำไมทีมฟุตบอลทีมชาติไทย จึงไม่เคยได้ไปแข่งขันรอบสุดท้ายในฟุตบอลโลกสักทีทั้งที่อยากไปใจจะขาด เพราะเราไม่เคยตั้งเป้าว่าจะไปแข่งขันฟุตบอลโลก เราตั้งเป้าเหมือนกันแต่ตั้งไว้กระจิดริดว่า จะเป็นแชมป์ซีเกมส์ เพื่อเป็นเลิศในศาสตร์แขนงนี้เหนือลาว กัมพูชา (เขมร) เมียนม่าร์ (พม่า) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน เมื่อตั้งเป้าเล็กก็ตั้งใจฝึกซ้อมและดำเนินการเล็ก ๆ เพื่อให้เข้าเป้ากระจิดริด ผิดกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เขาตั้งเป้าใหญ่ เขาจึงไปไกลกว่าเรา กว่าเราจะคิดตั้งเป้าไปฟุตบอลโลกเขาก็คงตั้งเป้าจะเป็นแชมป์โลกกันแล้ว

โธมัส เจ วัตสัน ซีเนียร์ ผู้ก่อตั้งและประธานคนแรกของบริษัทไอบีเอ็ม สอนว่า “เล็งเป้าที่สมบูรณ์แบบแล้วพลาด ดีกว่าเล็งเป้าที่ไม่สมบูรณ์แบบแล้วทำได้”
เรียนกฎหมายก็ไม่แตกต่างกัน ตั้งเป้าใหญ่ เล็งไปที่เป้าใหญ่ๆ เพื่อให้มันเป็นแสงไฟดวงใหญ่ เป็นเครื่องนำร่องย้อนกลับมาให้แสงหรือพลังที่จะนำทางไปให้ถึง อาจจะตั้งเป้าเป็นอะไรก็ได้ที่ใจคุณปรารถนา อย่างมั่นคงชัดเจน เมื่อตั้งเป้าชัดเจนแล้ว วิธีการและรายละเอียดจะเกิดขึ้นตามมา


ตั้งเป้าอย่างไร 
ตอบง่าย ๆ แบบกำปั้นทุบดิน ดั่งที่ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตส่วนใหญ่ทำไว้คือตั้งให้เลิศ ตั้งให้หรู ตั้งให้กว้าง ตั้งให้ไกล เป้าหมายเป็นความใฝ่ฝันของคุณ ดังนั้นต้องฝันให้ไกลและทำทุกวิถีทางเพื่อไปให้ถึง อย่าพยายามตั้งเป้าแค่เพียงกระจิดริด หรือกระเหม็ดกระแหม่แม้แต่ความฝันเลย Paul Ricard ผู้ก่อตั้งและผลิตเหล้าตรา Ricard กล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยกระเหม็ดกระแหม่กับความฝันเลย”เพื่อเติมไฟให้ชีวิต นอกจากคุณจะฟังเพลงเพื่อชีวิตแล้ว คุณควรหาหนังสือประเภท “คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก”ของเดวิด เจ ชวอร์ต David J. Schwartz มาอ่านบ้าง
คุณไม่สงสัยบ้างหรือว่าทำไมหนังสือเขาถึงพิมพ์จำหน่ายได้ทั่วโลก พิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก ขายดีระดับโลก บางทีอาจทำให้คุณเข้าใจขึ้นว่า ทำไมทุกวันนี้การวัดคนเขาวัดกันที่ความฝัน

วูดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีของสหรัฐผู้ยิ่งใหญ่กล่าวไว้ว่า “เรายิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ด้วย ความฝันของเรา ผู้ยิ่งใหญ่มากมายล้วนแต่เป็นนักฝัน พวกเขามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ท่ามกลางหมอกทึบแห่งฤดูใบไม้ร่วง หรือในเปลวไฟโชติช่วงตลอดคืนฤดูหนาวอันยาวนาน บางคนในพวกเราได้ปล่อยให้ความฝันเหล่านี้ตายไป
แต่บางคนได้ถนอมเลี้ยงและปกป้องมันไว้อย่างดี ดูแลความฝันผ่านวันอันชั่วร้าย จนพบอากาศที่สดใส และแสงอาทิตย์ซึ่งสาดส่องมายังคนเหล่านั้น ผู้หวังว่าความฝันของเขาจะกลายเป็นความจริงเสมอ”ซึ่งปราชญ์จีนก็กล่าวไว้คล้าย ๆ กันว่า “หากคิดจะทำการใหญ่ใดๆ จะต้องมีความหวังอันยิ่งใหญ่ก่อนเสมอ”


ตั้งเป้าแล้วทำอย่างไร 
เมื่อตั้งเป้าเสร็จแล้วคุณลองจินตนาการถึงความสำเร็จที่งดงามเมื่อคุณทำได้ตามฝัน เช่นคุณใฝ่ฝันว่าคุณอยากเป็นที่ปรึกษากฎหมาย นายตำรวจ ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ทนายความ หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย หรืออะไรก็แล้วแต่
คุณลองนึกภาพ วาดจินตนาการว่า เมื่อคุณอยู่ในชุดนั้น จุดนั้น ตำแหน่งนั้นแล้ว คุณจะเป็นอย่างไร จะมีความสุขขนาดไหนกับการที่ได้อยู่ในกระบวนการงานยุติธรรม มีชีวิตที่รับใช้ประชาชน คอยประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้กับประชาชน
หลับตานึกถึงพ่อแม่ พี่น้อง ญาติมิตรห้อมล้อมอยู่ข้าง ๆ จะชื่นชมยินดีปรีดา น้ำตาไหลหรือไม่ ใบหน้าเขาเหล่านั้นจะเศร้าหมองหรือยิ้มอย่างเปี่ยมสุข
จินตนาการและคิดคำนึงถึงเรื่องราวความสำเร็จเหล่านี้ทุกครั้งทุกที่เมื่อมีเวลา จากนั้นก็ทำทุกวิถีทางที่จะไปให้ถึง เป้าหมายตามที่ใฝ่ฝัน อย่างที่ว่า ฝันให้ไกลแล้วต้องไปให้ถึง ด้วยความมานะวิริยะ อุตสาหะอย่าง ยิ่งยวด
ไม่ควรตั้งแล้วนำอุเบกขา คือวางไว้เฉย ๆ มาใช้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว สิ่งที่คุณตั้งไว้ก็จะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝัน หรือเป็นฝันที่ลม ๆ แล้ง ๆ
หากเป็นเช่นนั้นพ่อแม่ ญาติมิตรที่คุณจินตนาการไว้ว่า ยืนยิ้มหรือน้ำตาไหลลงมาอย่างยินดีปรีดา อยู่รอบข้างคุณ มิต้องยืนยิ้มอย่างนั้นจนกรามค้าง หรือ น้ำตาไหลเพราะนึกไม่ออกว่าทางชีวิตคุณจะหมุนไปทางไหน ไปหรือ


ประกาศเจตนารมณ์ 
หลังจากที่ดำเนินการตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว ก็จินตนาการประกาศเจตนารมณ์ไว้ แต่ไม่ต้องติดไว้ที่ไหนจำไว้ในสมองนั่นแหละ เพื่อย้ำเตือนเป็นเชื้อไฟไว้ เพราะบางทีการที่คุณประกาศเจตนารมณ์ออกไปต่อหน้าสาธารณชนแม้ทางหนึ่งจะทำให้เกิดความมานะพยายามที่จะทำให้ได้ตามที่พูด แต่อีกทางหนึ่งอาจทำให้เป็นสิ่งกดดัน ทำให้คุณเครียด พะวง
แต่จะเอาอย่างไรก็แล้วแต่ อัตตาแต่ละบุคคลแล้วกัน
อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ ๑๖ ของประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งเกิดในกระท่อมโกโรโกโส ครอบครัวลินคอล์นต่อสู้ชีวิตมาอย่างยากลำบาก เริ่มเรียนในโรงเรียนที่มีสภาพไม่ต่างจากโรงร้าง ครั้งหนึ่งเขายืมหนังสือ “ ชีวิตวอชิงตัน” มาอ่าน เมื่ออ่านจบเขาแสดงความปรารถนาอันแรงกล้าออกมาว่า “ ผมจะต้องเป็นประธานาธิบดีอย่างยอร์ช วอชิงตัน” ผู้ที่ได้ยินได้ฟังต่างพากันหัวเราะขบขัน บ้างเย้ยหยัน ว่าเด็กโง่ๆ ทึ่มๆ และไร้การศึกษาอย่างเขาเหมาะที่จะเป็นภารโรงหรือเด็กรับใช้มากกว่าตะเกียกตะกายเป็นประธานาธิบดี แต่เขาหาโกรธไม่ กลับมุมานะพยายามอย่างแรงกล้าที่จะศึกษาหาความรู้ เพื่อจะให้ได้เป็นประธานาธิบดี เขาศึกษากฎหมายด้วยตัวเองอย่างหามรุ่งหามค่ำ และสามารถสอบเป็นเนติบัณฑิตได้ หลังจากใช้ชีวิตทนายความช่วงหนึ่ง อับราฮัม ลินคอล์น ได้รับการเสนอชื่อเข้าแข่งขันในตำแหน่งประธานาธิบดี ได้รับชัยชนะท่วมท้น เป็นประธานาธิบดีคนที่ ๑๖ ของสหรัฐอเมริกา ด้วยผลแห่งปณิธานที่เขากล่าวนั่นเอง


โยงใยเป้าหมาย 
เมื่อลงวิชากฎหมายและรู้จุดมุ่งหมายที่จะไป ก็ต้องอ่านหนังสืออย่างแข็งขันเพื่อไปให้ถึงจุดหมายตามที่เป้าหมายซึ่งเปรียบได้กับประภาคารนำทางไว้ให้แล้ว ในขั้นนี้คุณก็นำกลยุทธ์ กลวิธีเกี่ยวกับการตั้งเป้ามาใช้อีกครั้ง แต่เป็นเป้าเล็ก ๆ รองลงมาอันเป็นการเชื่อมต่อโยงใยมาจากเป้าหมายใหญ่ ต้องตั้งเป้าหมายการเรียนของคุณไว้ให้เลิศหรู ต้องได้คะแนนสูงสุดทุกวิชา ต้องได้ G ทุกวิชา ต้องได้ A ทุกวิชา หรืออย่างน้อยก็ได้ ๘๐ คะแนนขึ้นไป
ถ้ามีเวลาว่างคุณช่วยค้นหาข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ของบุคคลที่ว่า ผมต้องการแค่ผ่าน เรียนไปเรื่อย ๆ ประเภท เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ นกบินเฉียงมาเป็นหมู่ เคยมีผู้ใดบ้างที่ไปสู่ถึงจุดหมายอย่างยิ่งใหญ่ (ตามมาตรฐานที่วิญญูชนยอมรับ) และในเวลาอันรวดเร็ว ยกมาไม่ต้องมากแค่คนเดียว คุณว่าคนเหล่านี้จะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการเรียนกฎหมายและในเวลาอันรวดเร็วหรือไม่ .“ผมต้องการแค่ผ่าน ผ่านก็บุญตายแล้ว” ..“วิชากฎหมายอาญาผมน่าจะได้ P”.. “วิชานี้ผมมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะผ่าน ๖๐ ให้ได้”.. “ สอบเนฯ แค่ผ่านก็พอ ”บุคคลผู้ที่ตั้งเป้าไว้ว่าเรียน ๆ พอผ่าน ๆ ยากที่จะได้อันดับหรือผลดีเลิศในเวลาอันรวดเร็วหากไม่เปลี่ยนวิธีคิด ก็อาจจะพอผ่านอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ หรือผ่านการสอบแต่สอบไม่ผ่าน
การทำบุญจวักเดียวแต่บนบานจะขึ้นสวรรค์ มันเป็นการค้ากำไรเกินควร ในโลกของความเป็นจริงย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก
เป้าที่สูงสุดจะเป็นแรงขับส่งเสริมให้คุณมุ่งมั่น ให้คุณทำเพื่อให้ได้ตามเป้าที่คุณตั้งไว้
หากคุณตั้งเป้าไว้ว่าจะสอบได้ที่ ๑ หรือเกียรตินิยม เชื่อว่าเมื่อคุณใส่ความพยายามเข้าไปเต็มที่ผลลัพธ์ออกมาแม้จะผกผันอย่างไรก็หมายถึงคุณสอบผ่านตามเจตนาแต่จะได้ “เกียรตินิยมหรือนิยมเกียรติ” เป็นอีกกรณีหนึ่งแต่มันก็ยังดีกว่า สอบตกๆ หรือจบอย่างกะชึ่กกะชั่ก ถึงก็ชั่งไม่ถึงก็ชั่ง


เรียนกฎหมายเริ่มต้นที่ศูนย์เหมือนกันหมด 
พระท่านสอนว่า ร่างกายคนเราเกิดมาก็มีสามสิบสองประการเท่ากันอาจมีขาดบ้าง แต่ก็ไม่เกินกว่านี้ การเริ่มนั้น เหลาซือ
นักปราชญ์ชาวจีนกล่าวว่า การเดินทางพันไมล์ เริ่มจากการก้าวเท้าเพียงก้าวเดียว ขงจื้อผู้เดินไกลกว่านั้นกล่าวว่า หนทางไกลหมื่นลี้ เริ่มต้นที่ก้าวแรก
ดังนี้ เมื่อเริ่มเรียนทุกคนเริ่มใหม่เหมือนกันหมด ไม่มีใครเก่งกว่าใคร ในชีวิตการเรียนกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องเกรงกลัวใคร เพราะไม่มีอิทธิพลหรืออำนาจมืดใด ๆ มาขวางกั้น เหนี่ยวรั้งไม่ให้คุณประสบความสำเร็จ ใครจะจบจากโรงเรียนฝรั่ง โรงเรียนวัด มัสยิดหรือมหาวิทยาลัยใดก็ตามที จบมาจะได้เกรดอะไร ก็ไม่เห็นจะเกี่ยวอะไร ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับใครนอกจากตัวเอง เป็นโอกาสที่จะเริ่มต้นใหม่กับความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ ด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าต้องทำได้

อย่าเพียงคิดแต่ว่า จะทำไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ทำ ไม่ได้เรียนหรือไม่ได้เริ่ม เพราะหากเป็นเช่นนั้นแค่คิดก็ผิดแล้ว แค่เริ่มก็แพ้ไปแล้วครึ่งตัว เมื่อเริ่มเรียนจึงควรเชื่อมั่นและปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้สำเร็จ เพราะการเชื่อมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานผลก็ย่อมจะเป็นเช่นนั้นจริง

วิธีเรียนที่ดีเพื่อเรียนให้ได้ดี และวิธีที่ดีก็ไปอ่านว่าคนที่เขาเรียนดีๆ เขามีวิธีการเช่นไร 
คุณเคยคิดบ้างหรือไม่ว่า ทำไมฝรั่งจึงชอบอ่านชีวประวัติของบุคคลสำคัญ ๆ หรือบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านไหนก็ตาม ซึ่งบุคคลเหล่านี้เมื่อเขียนหนังสือออกมาก็จะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทั้งนี้ก็เพราะเขาต้องการที่จะรู้ว่าบุคคลเหล่านั้นเขาคิดอย่างไร ทำอย่างไร จึงจัดการกับชีวิตจนประสบความสำเร็จ ซึ่งผู้อ่านก็จะนำวิธีการไปทำตามบ้าง หรือใช้เป็นเครื่องช่วยต่อยอดความคิดให้ผู้อ่าน โดยไม่ต้องไปทำการวิจัยเกี่ยวกับวิธีเรียนให้เสียเวลา ที่กว่าจะค้นพบก็ไม่แน่ว่าอาจชราภาพเต็มทีแล้ว หรือมัวแต่เสียเวลาลองผิดลองถูกอยู่หลายปี หลากวิธีที่แตกต่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จ แบบไหนที่ชอบใจก็เลือกมาใช้ให้เหมาะกับตน

ในสาขาวิชากฎหมายคุณก็อาจจะอ่านผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นปรมาจารย์ทางด้านนี้ซึ่งมีมากมายเช่น ท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อาจารย์หยุด แสงอุทัย อาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อาจารย์เสนีย์ ปราโมช อาจารย์ประพนธ์ ศาตะมาน อาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ฯลฯ ว่าแต่ละท่านมีชีวประวัติทางด้านการศึกษาเป็นอย่างไร ท่านอ่านหนังสืออย่างไร ท่านคิดอย่างไร เกี่ยวกับการเรียน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งของท่านอาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ยังหาอ่านได้แพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน มีทั้งคำแนะนำนักศึกษากฎหมาย และอื่นๆอีกมากที่ท่านจะได้ประโยชน์อย่างดี และเพื่อให้เป็นกำลังใจว่าคนที่เคยแวดล้อมท่านก็เคยทำได้
ต้องอ่านคนที่เขาได้ เกียรตินิยม, ได้ที่ ๑ เนฯ , ที่ ๑ ว่าเขามีวิถีทางจัดการกับการอ่านหนังสืออย่างไรเพื่อเป็นแนวทาง ซึ่งส่วนใหญ่หาอ่านได้ตามห้องสมุดของคณะนิติศาสตร์หรือเนติบัณฑิตยสภา ตามหนังสือรพีปีต่างๆยิ่งคุณหยิบมาอ่านมากก็จะได้ความคิดดีขึ้นเท่านั้น จะทำให้ได้แง่มุมที่หลากหลายแล้วนำมาเปรียบเทียบประยุกต์ใช้กับการอ่านหนังสือให้เข้ากับแนวทางชีวิตของคุณ เพราะต้องคำนึงว่า วิธีที่จัดว่าดีที่สุดอาจไม่เหมาะกับเราที่สุด วิธีที่เหมาะกับเราที่สุดคือสิ่งที่ดีที่สุด

สิ่งที่ต้องคำนึงในเรื่องการเรียนประการหนึ่งคือจุดเด่นจุดด้อยแต่ละคนไม่เท่ากัน วิธีการเรียนไม่ใช่สูตรสำเร็จ วิธีเรียนซึ่งเรียนได้ดีสำหรับบุคคลหนึ่ง อาจไม่เหมาะกับอีกคนหนึ่งแต่เราอาจนำวิธีของผู้ที่เคยเรียนแล้วประสบผลสำเร็จมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับตน วิธีใดที่เคยใช้หรือนำมาประยุกต์ใช้แล้วทำได้ดี เราก็นำเอาเป็นแบบฉบับ
ต้องรู้ว่าสู้อยู่กับอะไร

เมื่อการสอบถูกนำมาเป็นเงื่อนไข ใช้วัดว่าคุณจะไปสู่จุดหมายได้หรือไม่ ข้อสอบเก่าจึงเป็นกุญแจสำคัญ ในอันที่จะทำให้คุณสามารถประเมินศักยภาพของตนเองและสิ่งที่คุณกำลังต่อสู้ได้ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้คุณประสบผลในการสอบ ดั่ง ซุนวู กล่าวว่า ” ถ้ารู้จักทั้งศัตรูและรู้จักตัวเอง แม้จะรบร้อยครั้ง ก็ไม่ทำให้ท่านตกอยู่ในห้วงอันตราย
แต่ถ้าไม่รู้จักศัตรู รู้จักแต่ตัวเอง โอกาสที่จะชนะหรือแพ้มีเท่ากัน ยิ่งไม่รู้จักทั้งตนเองและศัตรู ท่านจะประสบความปราชัยในการรบทุกครั้งแน่นอน” หรือกล่าวง่ายๆว่า รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง หากเปรียบการสอบเป็นการรบฉันใด ศัตรูก็คือข้อสอบฉันนั้น


ประตูสู่ความสำเร็จ 
วิชากฎหมายเป็นวิชาที่มีเงื่อนแง่ต่าง ๆ มากมายก็จริงอยู่ แต่ในการทดสอบวัดความรู้สิ่งที่ถูกนำมาทดสอบส่วนใหญ่ก็จะวกวนอยู่ในปัญหาเก่า ข้อสอบเก่าของระดับชั้นต่าง ๆ ไม่ว่าปริญญาตรี
เนติบัณฑิต ผู้ช่วยผู้พิพากษาหรืออัยการผู้ช่วย ก็เหมือนปริศนาเก่า ๆ ที่จะนำพาคุณผ่านไปสู่ประตูแห่งความสำเร็จ นอกจากนี้ข้อสอบเก่าเป็นกรอบที่จะทำให้รู้ขอบเขตของการอ่าน และจะเข้าถึงหัวใจหรือ
แก่นของเรื่องได้ง่าย ซึ่งจะช่วยเป็นเครื่องกำกับทิศทาง
ก่อนเรียนควรจะอ่านเนื้อหาในวิชาทั้งหมดอย่างคร่าว ๆหรือลวกๆ ด้วยความรวดเร็ว จะจบด้วยความเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตามที จากนั้นคุณควรเอาข้อสอบเก่ามาลองทำดู โดยอาจจะอ่านทั้งคำถามและคำตอบไปเลยก็ได้ ในชั้นนี้เป็นการอ่านเพียงเพื่อเป็นโครงร่าง

คล้ายกับเมื่อคุณต้องการที่จะสร้างบ้านสักหนึ่งหลัง คุณก็ต้องมีแบบพิมพ์เขียวก่อน ซึ่งจะทำให้ เห็นโครงความสำเร็จได้ง่าย เช่นเดียวกัน วิธีการนี้หากคุณนำมาใช้ในการเรียนจะช่วยให้คุณเห็นโครงสร้าง รู้ว่าคุณควรจะแบ่งน้ำหนักการอ่านอย่างไร เช่น วิชาตั๋วเงิน คุณมัวแต่อ่านการสอดแก้หน้า หรือตั๋วแลกเงินเป็นสำรับ ๕ วัน ๑๐ วันแล้วยังไม่จบหรือจบก็ยังไม่เข้าใจ ก็จะทำให้กังวล ทั้ง ๆ ที่ร้อยวันพันปีไม่เคยมีผู้สอบคนใดตรวจพบว่าจะมีการนำเรื่องนี้มาออกสอบ ซึ่งเรื่องแปลก ๆ เหล่านี้ถ้าจะออกสอบเชื่อแน่ว่าอาจารย์ที่สอนจะบอกใบ้ให้ ดังนั้นคุณควรจะมีหนังสือรวมข้อสอบเก่าที่รวมเป็นปีๆหรือที่รวมเป็นเรื่อง ๆ มาอ่านก็จะได้ผลดี และผมเชื่อมั่นอย่างเหลือเกินว่า ผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการสอบวิชากฎหมายชั้นต่าง ๆ ไม่มีใครที่ไม่นำข้อสอบเก่าเหล่านั้นมาอ่านหรือหัดทำเลย

ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องการอ่านอย่างคร่าวๆหรืออ่านอย่างลวกๆนี้ ไว้ในหนังสือการสร้างประสิทธิภาพ
ในการเรียนว่า”..การเรียนที่ดีนั้น ต้องทำให้ตรงกับจิตวิทยาแห่งการเรียนรู้ของคน ตามปกติคนเรามักจะมองเห็นหรือเข้าใจภาพรวมของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งเสียก่อนแล้วจึงจะมองเห็นรายละเอียดของสิ่งนั้น หรือเรื่องนั้นในภายหลัง..การเข้าใจส่วนรวมของเรื่องที่จะศึกษาเป็นหัวใจของการเรียน ถ้าท่านไม่เข้าใจในเรื่องส่วนรวมดีแล้ว ท่านจะมองไม่เห็นความสัมพันธ์ของรายละเอียดของเรื่อง
นั้นได้ดี และทำให้ท่านศึกษาเรื่องนั้นด้วยความลำบากทีหลัง
นักเรียนบางคนชอบลงมือศึกษาข้อปลีกย่อยไปทีละข้อ การทำเช่นนี้ อาจจะช่วยทำให้เขาเข้าใจเรื่องของส่วนรวมได้ภายหลังก็จริง แต่กว่าจะเข้าใจได้ก็ต้องเสียเวลาไปนาน เป็นการไม่ประหยัดแรงงานและเวลาตามวิธีการศึกษาที่ดี..”


ใช้ประมวลฯให้เป็นประโยชน์ 
ไม่ได้หมายความว่าต้องท่องอย่างเอาเป็นเอาตายต้องจำกันให้ได้ทุก ตัวอักษร ประมวลมีไซร้ ก็ไซร้ ท่านว่าก็ท่านว่า แต่หมายถึงต้องจำองค์ประกอบต่าง ๆ ได้อย่าง แม่นยำ
ตัวบทจะเป็นเครื่องช่วยยึดโยงสิ่งที่อ่านมาแล้วทั้งหมดและเป็นบทสรุปย่อที่ดีที่สุด

นอกจากนี้หากคุณจดจำถ้อยคำที่เป็นองค์ประกอบในตัวบทได้มาก ก็จะช่วยทำให้การเขียนตอบของคุณได้ภาษาที่สละสลวยเป็นเครื่องยืนยันว่าคุณไม่ใช่มวยวัด อย่าเพิ่งตระหนกว่าตัวบทมาก
หลักเกณฑ์ตามตัวบทมิใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง เพราะเมื่อคุณอ่านหนังสือคำอธิบายหรือคำบรรยายในวิชาต่าง ๆ มาตราต่างๆก็จะฝังอยู่ในนั้นโดยปริยายแล้ว และเมื่อคุณจำองค์ประกอบตัวบทได้ ก็น่าจะเป็นตรรกะว่าคุณจะจดจำเลขมาตราได้เช่นกัน


อ่านกี่เที่ยวก่อนสอบ/อ่านวันละกี่ชั่วโมง 
เมื่อคุณมีเป้าหมายและวิธีการที่ดีแล้ว จะมุมานะกันขนาดไหน อ่านกี่เที่ยว กี่ชั่วโมงต่อวันอันนี้เป็นเรื่องที่ตอบยากแสนยาก แต่ละคนย่อมมีความอดทนไม่เท่ากัน แล้วแต่พลัง ความฮึด หรือความอึด แต่ผู้ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะยึดถือคติว่า เวลานอนยังมีอีกเยอะในหลุมฝังศพ และคุณต้องตระหนักข้อหนึ่งว่า ขณะที่คนอื่นเขาอ่านคุณนอนแล้วจะล้ำหน้าเขาได้อย่างไร นิมิตหรือความฝันในคืนที่ยาวนานไม่เคยนำมาออกข้อสอบ

เรื่องการอ่านนี้ อาจารย์ประพนธ์ ศาตะมาน ได้กล่าวไว้ในบทความของท่านเรื่อง เรียนกฎหมายอย่างไรถึงจะดี ตอนหนึ่งว่า “เมื่อผมเรียนกฎหมายใหม่ๆ เปิดอ่านไปได้ ๑๐ หน้า อ่านจบแล้วก็ยิ้ม เพราะไม่เข้าใจอะไรเลย และจำไม่ได้ว่ามีอะไรบ้างวิธีอ่านกฎหมายโดยเฉพาะคำสอนหรือคำอธิบาย ลองอ่านดูสัก ๑๐หน้าแล้วปิดหนังสือ ถ้าคุณไปเล่าให้เพื่อนฟังตามที่อ่านมา และได้ใจความพอสมควร นับว่าคุณเป็นคนเก่งมากทีเดียว ถ้าคุณอ่านทีแรกแล้วไป
เล่าให้เพื่อนฟังไม่รู้เรื่องลองอ่านใหม่อีกสัก ๒-๓ ครั้ง คุณคงจะพอจำได้บ้างเป็นแน่

ดังนั้นพึงถือหลักว่า กฎหมายนั้นยิ่งอ่านก็ยิ่งจำได้ และจะยิ่งเข้าใจขึ้น

การอ่านตำรา ก.ม. ให้อ่านหนังสือคำสอนให้จบเล่มไปเลยสักครั้งหนึ่งก่อน จบแล้วแม้ไม่รู้เรื่องเลยก็ไม่เป็นไร เพราะผมเองก็ไม่รู้เรื่องเมื่ออ่านจบแรกเหมือนกัน พอคุณอ่านจบที่ ๒ที่ ๓หรือ ๔-๕ แล้วคุณจะเริ่มเข้าใจเริ่มจำได้ ยิ่งอ่านมากจบก็กำไรมากขึ้น

นักศึกษาปัจจุบันผมเคยถามว่าอ่านหนังสือกี่จบ โดยมากบอกว่าจบเดียวไปสอบเลย ถ้าจบเดียวไปสอบละก็เป็น “จบเห่” แน่ สมัยผมเรียน ก.ม.นั้นเขาอ่านกันคนละ ๕-๖จบ ไปบอกใครว่าอ่าน ๓ จบ ยังงี้อายเขาแย่ไปเลย อ่าน ก.ม.ซ้ำไป ซ้ำมา จะทำให้จำได้
แต่แค่นี้ไม่พอ คนขยันส่วนมากมักจะย่อเรื่อง ย่อหลักเกณฑ์ที่สำคัญๆ ลงไปในสมุด

เมื่อผมเรียน ก.ม.ที่อังกฤษนั้น นักเรียนอังกฤษขยันยิ่งกว่าผมไปอีก แกทำ “ย่อใหญ่” แล้วแกมี “ย่อเล็ก”อีกเวลาไปเที่ยวไหนๆแกมีย่อเล็กในกระเป๋าก็งัดออกมาดูสงสัยเปิดดูย่อใหญ่ ถ้าสงสัยย่อใหญ่ก็เปิดดูหนังสือเลย ครั้นสงสัยหนังสือเล่มนั้น ก็เปิดดูหนังสือเล่มอื่นๆ…”

ถ้าจำไม่หมดควรจดดีกว่าจำ การจดนี้อาจารย์ประพนธ์ ศาตะมาน ซึ่งท่านสอบผู้พิพากษาได้ที่ ๑ เมื่อปี ๒๔๘๗ สอบทุน ก.พ.ไปเรียนต่อต่างประเทศได้ที่ ๑ ท่านกล่าวย้ำเกือบทุกบทความที่เขียนถึงเรื่องการเรียน ในหนังสือรพี ปี ๒๕๓๑ หน้า ๖๗ เรื่องวิธีเรียนกฎหมาย ท่านกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า”…ข้าพเจ้า พบว่าการย่อคำบรรยายเป็นประโยชน์ เพราะท่านต้องอ่านเข้าใจจึงจะย่อเรื่องได้ การอ่านได้ทางตา การย่อได้ทางมือ ทั้งตาและมือเมื่อช่วยกัน จะทำให้ท่านแม่นยำขึ้นไม่มากก็น้อย ในสมัยนี้ข้าพเจ้า ไม่ค่อยจะเห็นนักศึกษาย่อคำบรรยายของอาจารย์กันเลย อาจเป็นเพราะไม่มีเวลาก็เป็นได้ ข้าพเจ้าขอแนะนำว่าถ้าสามารถทำได้ ควรย่อคำบรรยายที่ท่านประสงค์จะถือเป็นหลักไว้เถิดจะเป็นผลดีอย่างยิ่ง” ดังนี้ผู้เรียนที่ต้องการเรียนให้ได้ดีและประสบผลสำเร็จ การจดเป็นสิ่งที่จำเป็นทีเดียว

ขอบคุณที่มา  http://www.chusaklaw.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม